"คาซ่า ลาแปง" ผนึกกลุ่มเจมาร์ท งัดบริการ Rabbit Walk เดินส่งกาแฟในตึก สู้พิษ COVID-19 - Forbes Thailand

"คาซ่า ลาแปง" ผนึกกลุ่มเจมาร์ท งัดบริการ Rabbit Walk เดินส่งกาแฟในตึก สู้พิษ COVID-19

โรค COVID-19 กระทบหนัก ทำลูกค้า “คาซ่า ลาแปง” สาขาในห้างหายเพียบ รุกเปิดตัวบริการเดินส่งกาแฟให้ถึงที่ “Rabbit Walk” หวังกระตุ้นยอดขาย

เอกชัย สุขุมวิทยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มเจมาร์ท ที่กลุ่มเจมาร์ทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 70% โดยประกอบธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟแบรนด์ “คาซ่า ลาแปง” (Casa Lapin) และ แร็ป คอฟฟี่ (Rabb Coffee)

ล่าสุดในปี 2563 ได้ปรับเกมธุรกิจ เปิดตัว “Rabbit Walk” ซึ่งเป็นบริการส่งกาแฟแบบเดลิเวอรี่ด้วยการเดิน

“ผลจากโรค COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวจีนในไทยมีจำนวนลดลงไปมาก ซึ่งสาขาของเราที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเหมือนกัน โดยจำนวนลูกค้าลดลงไปราว 20-30% ขณะที่สาขาสแตนด์อะโลนลูกค้าลดลงราว 10% ทำให้เราต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงนี้”

เอกชัย สุขุมวิทยา

เอกชัย ระบุว่า นอกจากนี้ ประกอบกับข้อมูลวิจัยที่ระบุว่า ผู้คนขี้เกียจในการเดินทางไปซื้ออาหารมากขึ้น ทำให้เราเห็นช่องว่างทางการตลาด จึงเปิดตัวบริการ Rabbit Walk ของร้านคาซ่า ลาแปง ซึ่งเป็นบริการเดินเสิร์ฟกาแฟเดลิเวอรี่ให้ลูกค้าภายในอาคาร ผ่านการสั่งออเดอร์ของลูกค้าบนแพลตฟอร์มที่เป็นเว็บเบสแอปพลิเคชันของร้าน โดยเริ่มต้นให้บริการสาขาแรกแล้วที่สาขาเซ็นทรัล เวิลด์

สำหรับค่าส่งอยู่ที่ครั้งละ 20 บาท ไม่จำกัดจำนวนแก้ว รัศมีการส่งคือภายในอาคารเซ็นทรัล เวิลด์ ซึ่งมีสำนักงานออฟฟิศให้เช่า ทั้งนี้ เว็บเบสแอปพลิเคชันสำหรับการสั่งกาแฟของคาซ่า ลาแปง ร่วมพัฒนาขึ้นโดยบริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท

“Rabbit Walk เป็นโปรเจกต์พิเศษที่เราใช้เวลาเพียง 1-2 เดือน ในการคิดและทำขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์นี้ และเหตุผลที่เราเลือกทำกลยุทธ์นี้ด้วยตัวเอง แทนที่จะทำโปรโมชั่นในแพลตฟอร์มของบริการส่งอาหาร ก็เพราะแพลตฟอร์มเหล่านั้นจำกัดในเรื่องรัศมีการส่ง รวมถึงมีคู่แข่งที่จัดโปรโมชั่นเหมือนกัน ทำให้การแข่งขันสูง” เอกชัย ระบุ

เอกชัย กล่าวอีกว่า จากการสำรวจของคาซ่า ลาแปง พบว่า มีออร์เดอร์สั่งเครื่องดื่มส่งในอาคารผ่านบริการส่งอาหาร เช่น Grab ประมาณ 50-100 แก้ว/วัน และสำหรับ Rabbit Walk นั้นเริ่มให้บริการวันนี้วันแรก ซึ่งยังเป็นโปรเจกต์ pilot อยู่ ทำให้การเดินส่งกาแฟจะใช้พนักงานในร้านไปก่อน หากทุกอย่างลงตัวมากขึ้นจึงจะสร้างทีมเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ รวมถึงขยายไปยังสาขาอื่นด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน คาซ่า ลาแปง เปิดให้บริการอยู่ทั้งสิ้น 16 สาขา เป็นสาขาที่สามารถรองรับบริการนี้ได้ 8 สาขา โดยสาขาถัดไปที่บริษัทวางเป้าให้บริการ Rabbit Walk คือ สาขาเซ็นทรัล บางนา, สาขาลาดพร้าว ฮิลส์, สาขาราชเทวี เป็นต้น

การจัดส่งโดยบริการ Rabbit Walk พนักงานจะมีกระเป๋าสำหรับใส่เครื่องดื่ม คงความสดของเครื่องดื่มไม่ว่าจะร้อนหรือเย็น

โดยในช่วงแรกของการให้บริการ Rabbit Walk คาซ่า ลาแปงได้จัดโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส่วนลดซื้อกาแฟในราคา 80 บาท, ซื้อเครื่องดื่ม 1 แก้ว แถมคูปองสำหรับซื้อแก้วถัดไปฟรี, ซื้อครบ 10 แก้ว แถม 1 แก้ว

รวมถึงโปรเจกต์เพื่อสิ่งแวดล้อม คือเมื่อลูกค้าเก็บแก้วพลาสติกครบ 20 แก้ว แล้วล้างให้สะอาด สามารถนำมาแลกกาแฟได้ฟรี 1 แก้ว โดยแก้วพลาสติกดังกล่าวจะนำไปส่งโครงการที่นำแก้วไปผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี

ด้าน เติมพงศ์ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด กล่าวว่า จุดเด่นของ Rabbit Walk คือลูกค้าสามารถสั่งกาแฟล่วงหน้าได้, กาแฟที่นำไปส่งยังคงความสดไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มร้อนหรือเย็น เพราะการเดินสามารถกะเวลาได้ดีกว่า ไม่มีอุปสรรคเรื่องรถติด รวมถึงทีมงานยังสามารถการันตีได้ถึงความสะอาดสะอ้านอีกด้วย

เติมพงศ์ อยู่วิทยา

“เราหวังว่า Rabbit Walk จะเป็นอีกหนึ่งบริการที่ช่วยขับเคลื่อนให้ยอดขายผ่านการส่งแบบเดลิเวอรี่ของเรามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในราว 3 เดือนข้างหน้านี้ และเพิ่มเป็น 40% ภายใน 1-2 ปี จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ไม่ถึง 5%” เติมพงศ์ ระบุ

ขณะที่เอกชัยกล่าวว่า สำหรับการนำเทคโนโลยีมาใช้กับคาซ่า ลาแปง นอกจาก Rabbit Walk แล้ว ในปีนี้ยังวางแผนเปิดตัวแอปพลิเคชันสะสมแต้มของร้านคาซา ลาแปง ซึ่งจะช่วยทำให้แบรนด์สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดีขึ้น รวมถึงนำเสนอโปรโมชั่นได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ ตั้งเป้าสมาชิกภายในปี 2563 อยู่ที่ 5,000-8,000 คน

 

เดินหน้าขยาย 6 สาขา

เอกชัย เผยว่า ในปี 2563 บริษัทมีแผนขยายสาขาร้านคาซ่า ลาแปง เพิ่มอีก 6 สาขา แบ่งเป็น รูปแบบเอ็กซ์เพรส พื้นที่ราว 15-30 ตารางเมตร 3 สาขา และเป็นร้านไซซ์ L อีก 3 สาขา ซึ่งเป็นร้านขนาด 100-200 ตารางเมตร

“ตอนนี้เรียกได้ว่าเรามีโมเดลร้าน 4 แบบด้วยกัน คือ แบบเอ็กซ์เพรส, ไซซ์ M ขนาดน้อยกว่า 100 ตารางเมตร มีอาหารเล็กน้อยเป็นกลุ่มแซนด์วิชและเบเกอรี่, ไซซ์ L ขนาด 100-200 ตารางเมตร มีอาหารมากขึ้น และไซซ์ XL คือขนาด 200 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งมีเมนูอาหารเพิ่มขึ้นมาก”

“โดยไซซ์ XL เรามีสาขาอยู่ที่พัทยา และกำลังจะขยับสาขาเซ็นทรัล เวิลด์ จากไซซ์ L เป็น XL ด้วย เนื่องจากการร้านกาแฟในเซ็นทรัล เวิลด์ การแข่งขันสูงมาก เราจึงจะเพิ่มเมนูอาหารเข้าไป ให้ร้านดูเป็นร้านอาหารมากขึ้น ซึ่งเมนูอาหารจะช่วยเพิ่มยอดขายในช่วงเที่ยงและเย็น รวมถึงช่วยเพิ่มยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อบิลจาก 280 บาท เป็น 400 บาทได้”

ขณะที่แบรนด์ Rabb Coffee อีกหนึ่งแบรนด์ร้านกาแฟของบริษัทบีนส์แอนด์บราวน์นั้น ปัจจุบันเปิดให้บริการ 2 สาขา คือ สาขารถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง และสุรวงศ์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างดูพื้นที่และโอกาสในการขยายสาขาเพิ่มเติม

เอกชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการรับมือกับสถานการณ์ไวรัสระบาดนี้ บริษัทได้ปรับลดค่าใช้จ่ายและการดำเนินงานบางส่วน โดยลดจำนวนพนักงานลงตามช่วงเวลา แล้วให้พนักงานไปช่วยสาขาอื่นแทน รวมถึงปิดให้บริการเร็วขึ้นในสาขาพัทยา เป็นต้น

เอกชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ภาพรวมธุรกิจร้านกาแฟปีนี้อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่อาจทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่จากการเปิดสาขาใหม่และเทรนด์บริโภคกาแฟที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถสร้างรายได้แตะ 140 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาทำรายได้ 80 ล้านบาท

  อ่านเพิ่มเติม  
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine