“เจมาร์ท” คิดการใหญ่ ปั้นธุรกิจ 5 หมื่นล้านใน 5 ปี - Forbes Thailand

“เจมาร์ท” คิดการใหญ่ ปั้นธุรกิจ 5 หมื่นล้านใน 5 ปี

จากธุรกิจห้องแถวขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจขายโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ของประเทศ เจมาร์ทขยายอาณาจักรครอบคลุมตั้งแต่ขายมือถือ ติดตามหนี้ บริหารพื้นที่เช่า พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเช่าซื้อส่วนบุคคล พร้อมเดินหน้าเปิดเกมรุกธุรกิจสู่ 50,000 ล้านใน 5 ปี ก่อนส่งต่อให้บุตรชาย "เจ" เป็นผู้กุมบังเหียน "เจมาร์ท"

กว่าจะก้าวสู่ผู้นำในวงการค้าขายโทรศัพท์มือถือเมืองไทย และสร้างการยอมรับในชื่อ "เจมาร์ท" ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา และ ยุวดี พงษ์อัชฌา สองสามีภรรยามนุษย์เงินเดือนผู้คิดการใหญ่จับมือกันลาออกจากบริษัทในปี 2531 ลงทุนร่วมกันคนละ 1 ล้านบาทเปิดธุรกิจห้องแถวจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบเงินผ่อน ภายใต้ บริษัท เจมาร์ท จำกัด หลังจากสองสามีภรรยาลองผิดลองถูกบริหารธุรกิจแบบล้มลุกคลุกคลานตลอดเส้นทาง จากการหาเงินทุนหมุนเวียนด้วยการกู้เงิน หรือจำนองบ้าน ซึ่งเป็นทางออกเพียงไม่กี่ทางของธุรกิจเงินผ่อนที่ต้องการขยายกิจการ หากแต่ในที่สุดเจมาร์ท สามารถเดินทางถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในวันที่อิออนนำบริการขายสินค้าเงินผ่อนบุกตลาดไทย โดย เจมาร์ท จับมือกับอิออน พร้อมเริ่มต้นธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านระบบเงินสด ระบบผ่อนชำระ และระบบขายส่ง ในปี 2535 จนกระทั่งธุรกิจฟื้นคืนกำไร และสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสร้างการเติบโตแบบติดปีกได้ในปี 2552 ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ความต้องการผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่รุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ผู้ก่อตั้งวัย 59 ปีรู้ดีว่า เจมาร์ท ยุคต่อไปจำเป็นต้องอาศัยมุมมองและแนวคิดของผู้บริหารรุ่นใหม่ฉบับ Gen-Y ดังเช่น ความเปลี่ยนแปลงภายในสาขาของเจมาร์ทที่ทยอยปรับโฉมให้เข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะสาขาในสยามพารากอนที่เกิดขึ้นจากฝีไม้ลายมือของคลื่นลูกใหม่ เอกชัย สุขุมวิทยา หรือเจ ทายาทลูกไม้ใกล้ต้น สองผู้บริหารต่างวัยสลับกันเล่าถึงการต่อยอดอาณาจักรธุรกิจรายได้นับหมื่นล้านบาท เจ้าพ่อแห่งวงการซื้อขายโทรศัพท์มือถือเปิดโอกาสให้บุตรชายได้เริ่มต้นเล่าบ้าง “พ่อไม่ต้องบอกว่า ผมต้องทำอะไร ผมรู้เองโดยอัตโนมัติว่า ผมต้องช่วยธุรกิจแบ่งเบางานบริษัท ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากการซึมซับตั้งแต่เด็กสมัยที่พ่อและแม่ยังต้องเก็บเงินเอง” เจ เล่าถึงเส้นทางทายาทที่เติบโตพร้อมธุรกิจของครอบครัว ไม่เพียงด้านการจัดจำหน่ายมือถือและอุปกรณ์สื่อสาร เจมาร์ทยังมีบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เจเอ็มทีเน็ทเวอร์คเซอร์วิสเซ็ส จํากัด (มหาชน) บริหารติดตามหนี้ด้อยคุณภาพ บริษัท เจเอเอสแอสเซ็ท จํากัด (มหาชน) บริหารพื้นที่เช่าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง บริษัท เจมาร์ทโฮลดิ้งคอมพานี จํากัด ดำเนินธุรกิจเน้นหากิจการเพื่อลงทุน เช่น การลงทุนล่าสุดในบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) “ผมเริ่มทำงานที่เจมาร์ททันทีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะเป็นช่วงที่บริษัทเติบโตเร็วมาก เจเอ็มทีเพิ่งเข้าตลาดหุ้น และพ่อกำลังจะนำเจเอเอส แอสเซ็ท เข้าตลาด ผมจึงเข้ามาช่วยดูเจมาร์ทตอนแรก ทั้งการตลาด การเงิน และทำหน้าที่ IR หรือนักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท ที่ผ่านมาพ่อเป็นคนคุยกับนักลงทุนทุกคน ตอนนี้ผมเข้ามาช่วยส่วนหนึ่ง จึงทำให้ผมสามารถเรียนรู้ทั้ง 3 บริษัท” เอกชัยเล่าถึงช่วงเวลาที่คลุกคลีกับการทำงานลงทุนสัมพันธ์ต้องทำหน้าที่โร้ดโชว์ พบปะผู้ลงทุน และตอบคำถามเกี่ยวกับการลงทุนแทนบิดา สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ท อดิศักดิ์จัดตั้ง บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 โดยแบ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การบริหารพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าในส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสินค้าเทคโนโลยี เพื่อนำมาจัดสรร และให้เช่าต่อกับผู้ประกอบธุรกิจ ภายใต้ชื่อ IT Junction จำนวน 45 สาขา ตลอดจนการพัฒนาและบริหารพื้นที่ในรูปแบบศูนย์การค้าชุมชน (community mall) ภายใต้ชื่อ The Jas ย่านลาดพร้าววังหินพื้นที่ 5 ไร่ และลาดปลาเค้าเป็นสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปีจำนวนเกือบ 10 ไร่ “จาก IT Junction เราทำ community mall เพราะต้องการกระจายการลงทุนให้มีรายได้ที่เสถียรยิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงลง อนาคตน่าจะได้เห็นโครงการอื่นๆ ต่อตามเป้าหมายขยาย community mall 1-3 สาขาต่อปี และ IT Junction 8 สาขาต่อปี โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลักมาจาก IT Junction ประมาณ 85% อนาคตน่าจะลดลงแต่ยังคงเกิน 60% เพราะ margin สูง และสาขาขยายทั่วประเทศ” เอกชัยกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเป้าหมายการขยายจำนวนพื้นที่เช่าให้มีจำนวนมากกว่า 100 สาขาภายในปี 2562 ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 เอกชัยนำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเจมาร์ทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ชื่อย่อ J ตามรอยรุ่นพี่ในกลุ่มบริษัท ไม่ว่าจะเป็น เจมาร์ท เจเอ็มที และซิงเกอร์ โดยน้องใหม่ของกลุ่มได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ก้าวต่อไปของเจมาร์ท ไม่ได้มีเพียงธุรกิจซื้อขายมือถือและอสังหาริมทรัพย์ หากแต่อดิศักดิ์ แสวงหาโอกาสการขยายอาณาจักรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรายย่อย (retail) และธุรกิจที่มีโอกาสก้าวสู่อันดับ 1 ดังเช่นธุรกิจบริหารติดตามหนี้ และบริการสินเชื่อเช่าซื้อ อดิศักดิ์ ยังได้เปิดเผยแผนในใจที่มีต่อทายาทเป็นครั้งแรก "ผมไม่เคยบอกแผนที่วางไว้ว่า ผมอยากส่งต่อเจมาร์ทที่มีขนาด 50,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ซึ่งเป็นไปได้อยู่แล้ว ผมตั้งใจให้เจรับธุรกิจต่อในช่วงเวลาที่พร้อม เจมาร์ทปีกว่า เจเอเอสอีกปีกว่า เจเอ็มทีสักปี และ SINGER อีกเล็กน้อย ดูพม่าหน่อย รวมทั้งทำหน้าที่เป็น IR ของบริษัท และสุดท้ายต้องมาแทนผม ส่วนจะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเขา เพียงแต่เรามีทิศทางชัดเจนว่า เขาต้องกุมบังเหียนในอนาคต" เจ้าของอาณาจักรย้ำถึงความมั่นใจในเป้าหมายที่วางไว้ จากความเชื่อมั่นในทีมงาน คุณภาพ และศักยภาพของตลาดทุนที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด แม้ผู้ก่อตั้งธุรกิจจะสะท้อนมุมมองการบริหารธุรกิจเชิงรุกที่มุ่งเน้นความรวดเร็วในการทำงาน แต่เขาก็ไม่เคยสร้างความกดดันให้ทายาทต้องเปลี่ยนแปลงสไตล์การบริหารที่มุ่งเน้นความละเอียดรอบคอบในการตัดสินใจ เนื่องจากในความแตกต่างของสองผู้บริหารสามารถผสมผสานแนวทางการทำงานที่มุ่งตรงไปยังวิสัยทัศน์ความเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจ เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: ทวีศักดิ์ ภักดีหุ่น
อ่านฉบับเต็ม "“เจมาร์ท” คิดการใหญ่ ปั้นธุรกิจ 5 หมื่นล้านใน 5 ปี" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ FEBRUARY 2016 ในรูปแบบ E-Magazine