ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง - Forbes Thailand

ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง

หลังจากสวีเดนทำให้ IKEA และ Spotify กลายมาเป็นร้านค้าและบริการยอดฮิตติดตลาดโลกไปแล้ว ธุรกิจถัดไปอาจจะเป็นบริการทางการเงินสำหรับนักช็อปออนไลน์ ซึ่งอาจกลายเป็นทางเลือกใหม่แทนการชำระดัวยบัตรเครดิตก็เป็นได้

Sebastian Siemiatkowski ยิ้มเล็กน้อยเมื่อนึกไปถึงการที่ธุรกิจสตาร์ทอัพเล็กๆ ด้านการชำระเงินออนไลน์ของเขา สามารถดึงให้นักลงทุน venture capital (VC) ระดับแถวหน้าของโลกมานั่งเป็นกรรมการได้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 เมื่อ Klarna ซึ่งเป็นบริษัทของเขาในกรุง Stockholm ยังมีขนาดเล็กมากและทำธุรกิจอยู่ในตลาดที่มี PayPal บริษัทบัตรเครดิตยักษ์ใหญ่ครองตลาดอยู่แต่ถึงอย่างนั้น Klarna ก็สามารถทำกำไรตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่เพิ่งตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ๆ และกิจการของเขาก็เริ่มสะดุดความสนใจของบริษัท VC ชั้นแนวหน้าใน Silicon Valley อย่าง Sequoia Capital เมื่อเห็นว่าบริษัทเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดบริการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ต่อมา Sequoia ได้ส่ง Chris Olsen ผู้บริหารหนุ่มซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงหุ้นส่วนของบริษัทมาพบกับ Siemiatkowski เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้งกิจการกับเขาอีกสองคนที่สวีเดน เพื่อเสนอที่จะขอเข้าร่วมลงทุนในบริษัท โดยในระหว่างการนำเสนอ Chris ถึงกับเปรียบเทียบพวกเขาทั้งสามคนว่าเป็นเหมือนกับผู้ก่อตั้งกิจการระดับเดียวกับ Google และ Apple เลยทีเดียว “ตอนนั้นพวกเราก็ยิ้มและคิดกันว่า ‘ดีจัง’” Siemiatkowski บอก แต่เมื่อ Olsen เตรียมตัวจะกลับ Siemiatkowski กลับพูดว่า “ช่วยบอกกับผมอีกเรื่องหนึ่งได้ไหม...ถ้าหากว่าพวกเราเป็นเหมือน Google ของวงการธนาคารอย่างที่คุณว่าจริงๆ แล้วล่ะก็ คุณคิดว่าคุณจะส่งตัวเองมาเพียงคนเดียวเพื่อคุยกับพวกเราหรือ? ผู้บริหารทั้งทีมของ Sequoia จะไม่มาที่นี่ด้วยตัวเองหรือ?” ถึงตอนนี้ พรรคพวกของ Siemiatkowski ต่างหันมามองเขาอย่างตะลึงงัน ในขณะที่ Olsen ออกไปจากห้องและต่อโทรศัพท์ไปหา Mike Moritz ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ระดับเซียนของ Sequoia ด้วยผลงานที่ทำให้บริษัทของเขาทำกำไรได้อย่างงดงามจากการเข้าลงทุนในกิจการอย่าง Google, LinkedIn, Yahoo และ Zappo และทำให้เขาได้รับการยอมรับในความเป็นนักลงทุนแถวหน้าของวงการ venture capital ต่อจากนั้น Moritz ก็ได้โทรกลับมา และขอโทษที่ไม่ได้บินมาที่สวีเดนเพื่อพบกับ Siemiatkowski และทีมงานที่ Stockholm ด้วยตัวเอง และจะขอไถ่โทษด้วยการเข้ามานั่งเป็นกรรมการให้แทน (ทุกวันนี้ Moritz ก็ยังคงเป็นกรรมการของบริษัท และบินมาร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัทที่สวีเดนด้วยตัวเองอยู่เป็นประจำ) “บางที การเบ่งบ้างนิดๆ มันก็มีผลดีเหมือนกันนะ” Siemiatkowski บอก ถึงวันนี้ Klarna ไม่ได้มองแค่ตลาดในสแกนดิเนเวีย แต่มองไกลไปถึงตลาดบัตรเครดิตของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 9.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง American Express และ Capital One ครองตลาดอยู่ โดยมี PayPal และสตาร์ทอัพอีกหลายรายตามมาติดๆ ทั้งนี้ Klarna ก็คือแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์เหมือกับ PayPal ซึ่งเน้นไปที่การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมออนไลน์แบบ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” Siemiatkowski บอกว่า “เราก็คือธนาคารแห่งหนึ่งนั่นแหละ” คู่แข่งหลักของ Klarna คือ PayPal Credit ในเครือ PayPal ซึ่งทำธุรกิจปล่อยกู้ (ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในชื่อ Bill Me Later) แต่ธุรกิจที่มีความคล้ายกับ Klarna ยิ่งกว่าก็คือ Affirm กิจการสตาร์ทอัพที่มีฐานอยู่ที่ San Francisco และก่อตั้งโดย Max Levchin หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal โดย Affirm ก็กำลังวิ่งขาขวิดเพื่อที่จะจับมือกับผู้ค้าออนไลน์ (ตอนนี้มีในมือแล้ว 800 ราย) เพื่อนำเสนอทางเลือกในการชำระเงิน ซึ่งรวมถึงการปล่อยสินเชื่อด้วยเพื่อเป็นทางเลือกที่นอกเหนือจากบัตรเครดิต ทั้งนี้ บริษัทระดมเงินทุนมาได้ 425 ล้านเหรียญจากนักลงทุน VC ยักษ์ใหญ่ใน Silicon Valley กลุ่มหนึ่ง และมีผู้ค้ารายใหญ่อย่าง Expedia และ Shopify เป็นพันธมิตรด้วย Siemiatkowski ชายหนุ่มอายุ 35 ปี แต่งตัวแนวฮิปสเตอร์ และทำผมทรงวัยรุ่น ไม่ได้รู้สึกเป็นกังวลกับเรื่องของการแข่งขันจากคู่แข่งเหล่านี้สักเท่าไหร่เพราะ Affirm เพิ่งเริ่มกิจการในปี 2013 ในขณะที่ Siemiatkowski ใช้เวลาถึง 11 ปีค่อยๆ ปั้นให้ Klarna กลายมาเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสวีเดน โดยจุดขายที่แข็งแกร่งที่สุดของ Klarna ก็คือความง่ายในการใช้บริการ เพราะมันทำให้คุณไม่ต้องจ่ายเงินทันทีที่ซื้อของและในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องวุ่นวายกับการกรอกข้อมูลบัตรเครดิต หรือการต้องมานั่งจำรหัสผ่าน สิ่งที่คุณต้องทำมีเพียงแค่กรอกอีเมล์ และที่อยู่ในการจัดส่งสินค้าเท่านั้น ซึ่งข้อมูลเท่านี้ บวกกับข้อมูลของธุรกรรมที่คุณทำบนร้านค้าออนไลน์ ซึ่งได้แก่เวลาที่คุณทำธุรกรรมสินค้าที่คุณสั่งซื้อ และ web cookies เมื่อคุณตกลงซื้อสินค้าออนไลน์ Klarna จะชำระเงินให้คุณและส่งอีเมล์ตามไปเรียกเก็บเงินจากคุณทีหลัง แต่สิ่งที่ทำให้นักลงทุนอย่าง Sequoia ตื่นเต้นกับกิจการสตาร์ทอัพอย่าง Klarna ก็คือ การขยายบริการไปสู่การให้สินเชื่อ ซึ่งเกินกว่าการให้บริการด้านการชำระเงินแบบปกติ ในการระดมทุนรอบล่าสุดเมื่อปี 2015 นักลงทุนประเมินมูลค่ากิจการ Klarna ไว้ที่ 2.3 พันล้านเหรียญ โดยในปี 2015 บริษัทมีกำไรสุทธิ 20 ล้านเหรียญจากยอดรายได้ 325 ล้านเหรียญ และ Pitchbook คาดว่ารายได้จะโตถึง 42% คิดเป็น 463 ล้านเหรียญในปี 2016 ทั้งนี้ประมาณ 10% ของธุรกรรมที่ทำผ่าน Klarna ในประเทศสวีเดนจะใช้บริการสินเชื่อของบริษัท ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นการซื้อสินค้าที่มีราคาเกินกว่า 400 เหรียญขึ้นไป ส่วนอีก 90% ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะชำระภายในระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 30 วัน หรือชำระเมื่อได้รับสินค้า หรือใช้บริการ Klarna Direkt เพื่อชำระเงินโดยการตัดบัญชีทันทีก็ได้ (Siemiatkowski ไม่ยอมเปิดเผยว่าลูกค้าในอเมริกาใช้บริการของ Klarna แบบไหน) บางทีนวัตกรรมที่อาจจะถือกว่ากล้าหาญชาญชัยที่สุดของ Klarna ก็คือการใช้แค่อีเมล์ และที่อยู่ในการพิจารณาความน่าเชื่อถือของลูกค้าในการให้วงเงินสินเชื่อ ซึ่ง Klarna บอกว่าไม่มีบริษัทที่ให้บริการด้านการชำระเงินออนไลน์เจ้าไหนอีกแล้วที่จะกล้าแบกรับความเสี่ยงขนาดนี้ ทั้งจากฝั่งของลูกค้า และจากฝั่งผู้ค้า ทั้งนี้ Siemiatkowski ไม่ได้กังวลอะไรมากนักกับเรื่องการทุจริต หรือความเสี่ยงด้านนี้ โดยเรียกมันว่า “ปัญหาที่เป็นพลวัต” ในขณะที่มองว่าการแก้ปัญหาแบบเฉพาะจุดอย่างเช่นการใช้รหัสผ่านไม่ได้ผลเพราะใช้สมมติฐานว่าทุกคนมีระดับความเสี่ยงเท่ากัน “แต่ 99% ของลูกค้าของเราไม่ใช่พวกขี้โกง” Siemiatkowski บอก Klarna ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันในอีกหลายแง่มุมกับ PayPal และ Affirm และยังไม่ต้องพูดถึงยักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Apple ซึ่งต่างก็กำลังเดินหน้าขยายธุรกิจไปสู่การสร้างแพลตฟอร์มการชำระเงินของตัวเอง แต่นักลงทุนอย่าง Hans Otterling แห่ง Northzone บอกว่า การที่ Klarna มุ่งเน้นให้ความสำคัญไปที่ตัวผู้บริโภค น่าจะทำให้บริษัทสามารถยืนหยัดแข่งขันกับคู่แข่งที่สายป่านยาวกว่าได้ “มันเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ซึ่งจะไม่มีทางที่จะมีเจ้าใดเจ้าหนึ่งกวาดเรียบทั้งตลาดได้หรอก” Hans บอกและเสริมว่า “ตลาดนี้จะต้องมีผู้เล่นหลายคน และ Klarna ก็จะเป็นหนึ่งในนั้น” ด้วยธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใสแบบนี้ ถ้าหาก Siemiatkowski จะเบ่งบ้างก็ถือว่าสมควรอยู่
คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "ซื้อก่อนจ่ายที่หลังได้ที่" Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560