อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ปั้น JMART “สร้างฝุ่น” นำเกมธุรกิจ - Forbes Thailand

อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ปั้น JMART “สร้างฝุ่น” นำเกมธุรกิจ

โลกทุกวันนี้ปลาเร็วกินปลาช้า เป็นปลาใหญ่อาจไม่เพียงพอต้องเป็นปลาเร็วด้วย ดังเช่นยักษ์เล็ก JMART ที่สร้างอาณาจักร 2 แสนล้านจากทุนเริ่มต้นเพียง 2 ล้านบาท 33 ปีให้หลังกลายเป็นกลุ่มธุรกิจอนาคตไกลที่พร้อมทะยานสู่เป้าหมาย เพราะเขามองว่าความสำเร็จที่ทำมาเพิ่งได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปี 2565 ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดต่อเนื่องมาตลอด 2 ปี และล่าสุด สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยิ่งฉุดให้ดัชนีตลาดทรุดหนัก แต่ทว่าบริษัทจดทะเบียนหลายรายยังมีมาร์เก็ตแคปสูง เช่นเดียวกับ 4 บริษัทในกลุ่มเจ มาร์ท ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) JMART, บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) JMT, บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) JAS, และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) SINGER ทั้ง 4 บริษัทนี้รวมอยู่ใน 11 บริษัทของกลุ่มเจ มาร์ท มีมาร์เก็ตแคปรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ถือเป็นก้าวย่างการเติบโตที่มั่นคงบนเส้นทางการทำธุรกิจกว่า 33 ปี ซึ่งมาจากจุดเริ่มต้นด้วยทุนเพียง 2 ล้านบาท

ปรัชญาการทำธุรกิจของผม เราต้องสร้างฝุ่นอย่ากินฝุ่น หรือ Make the Dust, Don’t Eat the Dust” อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) JMART กล่าวไว้ตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ Forbes Thailand ด้วยธีมของ The Disruptor เพื่อขึ้นปกฉบับเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับก้าวย่างการเติบโตของกลุ่มเจ มาร์ท ที่อธิบายด้วยปรัชญาการทำธุรกิจภายใต้แนวคิดสร้างฝุ่นอย่ากินฝุ่นเขาหมายถึงต้องเป็นผู้ก้าวนำในทุกเกมธุรกิจ

เปิดเกม “Disruption”

หากเทียบกับขบวนรถบนถนนสายวิบาก อดิศักดิ์ขอเป็นรถคันแรกที่นำหน้า จะไม่ยอมตามหลังใครเพราะไม่ต้องการกินฝุ่นสะท้อนการทำธุรกิจในฐานะผู้บุกเบิกซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของการเป็นดิสรัปเตอร์ที่พร้อมจะดิสรัปต์คนอื่นและธุรกิจอื่นเพื่อทำให้ธุรกิจของตนเองอยู่ในฐานะผู้นำเกม

โจทย์ของเราคือ ต้องไป disrupt เขา และอย่าให้ตัวเองโดน disrupt ไม่ว่าจะอยู่วงการไหนเราต้องเป็นผู้ไป disrupt ไม่งั้นเราอาจจะโดน disrupt เองเป็นหลักคิดที่นำมาใช้ไม่เฉพาะตัวเอง แต่เขาได้ฝังรากแนวคิดนี้ให้กับพนักงานทุกคนโดยเฉพาะทีมงานในระดับบริหาร

อดิศักดิ์เล่าถึงแนวคิดเรื่องสร้างฝุ่นอย่ากินฝุ่นด้วยแววตาที่มุ่งมั่น แม้เขาจะใช้น้ำเสียงที่ราบเรียบสม่ำเสมอแต่ก็ดูหนักแน่นจริงจัง และภาพยิ่งชัดเมื่อย้อนมาดูธุรกิจที่เขาทำในฐานะผู้นำกลุ่มเจ มาร์ท ซึ่ง เริ่มต้นด้วยธุรกิจค้าขายอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมและเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นเจ้าแรกๆ เมื่อ 33 ปีก่อน

และไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ อดิศักดิ์ยังได้นำเจ มาร์ทเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทซิงเกอร์ฯ ราชาสินค้าเงินผ่อนสำหรับกลุ่มฐานรากที่เข้าถึงทุกพื้นที่ของประเทศ นำกลุ่มเจ มาร์ทเข้าไปยืนหนึ่งในฐานะผู้นำเกมสินค้าเงินผ่อนระดับภูธร

นอกจากนี้ เจ มาร์ท กรุ๊ป ยังมีบริษัทในเครือเป็นผู้นำธุรกิจติดตามหนี้เบอร์ต้นๆ ของประเทศอย่างเจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ซึ่งปัจจุบันมีพอร์ตลูกหนี้ในมือมูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านบาท มีจำนวนลูกหนี้ในพอร์ตกว่า 4 ล้านราย เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กลุ่มเจ มาร์ท แซงหน้าธุรกิจหลักด้วยมูลค่าธุรกิจติดตามหนี้ที่เข้าใกล้หลักแสนล้านบาทในปัจจุบัน ขณะที่เจ มาร์ทบริษัทแม่มีมูลค่าธุรกิจอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท

หลายปีที่ผ่านมาก้าวย่างของนักธุรกิจวัย 66 ปีผู้นี้ยังคงสร้างฝุ่นเป็นผู้นำธุรกิจตลอดเส้นทางเดินในการขยายอาณาจักรเจ มาร์ท กรุ๊ป จากกิจการค้าขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สื่อสารต่อยอดความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

กระทั่งกลายมาเป็นยักษ์เล็กที่มีมูลค่าธุรกิจทั้งกลุ่มกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากมูลค่าธุรกิจของ 4 บริษัทในกลุ่มซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นส่วนหนึ่งของ 11 บริษัททั้งเครือ ซึ่งมีการจ้างงานรวมกว่า 8,000 ชีวิตครอบคลุมธุรกิจทั้งการค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอที โทรศัพท์เคลื่อนที่ เทคโนโลยี การเงิน สินเชื่อ สินค้าเงินผ่อน การติดตามทวงหนี้ ธุรกิจประกัน ธุรกิจการเงิน รวมถึงธุรกิจเรียลเอสเตท และอีกหลายธุรกิจที่อดิศักดิ์พยายามเชื่อมต่อให้เป็น ecosystem แบบครบวงจร

ถ้าไปถามทีมผู้บริหารทุกคนปีนี้ผมบอกว่า คุณอยากจะโดน disrupt หรือจะไป disrupt เขา โจทย์ของผมคือ ปีนี้เราต้องไป disrupt เขา เพราะฉะนั้นการทำงานถ้าเราจะไป disrupt เขามันต้องมีรูปแบบที่ชัดเจนไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมาอดิศักดิ์เผยนโยบายที่ให้ไว้กับทีมบริหารทั้ง 11 บริษัทในกลุ่ม พร้อมอธิบายด้วยว่า การดิสรัปต์ที่เขาพูดถึงเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางตรง ทางอ้อม หรือเทคโนโลยี ซึ่งก็เหมือนกับสตาร์ทอัพทั่วไปที่ทุกคนมีเทคโนโลยี

แต่สิ่งที่พวกเขาไม่มีคือ นัมเบอร์หรือจำนวนของลูกค้าการที่จะได้ลูกค้า ภาษาสตาร์ทอัพคือ ต้องไปเบิร์น ทีนี้ก็มาดูว่าเขาเบิร์นกันอย่างไร ส่วนใหญ่ก็ลดราคาเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้นหลายสตาร์ทอัพโด่งดังมากแต่ขาดทุนเขายกตัวอย่างพร้อมออกตัวว่าของเราไปอยู่ในเกมนั้นไม่ได้ เพราะเราขาดทุนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้าง number สร้างจำนวนลูกค้าก่อน เสร็จแล้วเอาเทคโนโลยีมาใส่ นี่คือสิ่งที่เราจะสามารถไป disrupt คนอื่นได้

ตอกย้ำสิ่งที่อดิศักดิ์เล่าคือ การเข้าซื้อหุ้นซิงเกอร์ซึ่งทำให้กลุ่มเจ มาร์ทได้จำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น บวกกับการนำเทคโนโลยีไปกำกับดูแลทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นเสริมจุดแข็งเจ มาร์ทให้มีแต้มต่อในฐานะดิสรัปเตอร์การจะไป disrupt ใครจำเป็นอย่างยิ่งเราต้องมีจำนวน มีฐานลูกค้าที่มากพอ บวกกับต้องมีเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดและประหยัดเพื่อให้ได้กำไรอดิศักดิ์ย้ำว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการตอบโจทย์ทั้งเรื่องทรานสฟอร์เมชันและดิสรัปชัน

“2 ปีโควิด-19 ผมก็บอกกับทีมผู้บริหารว่ามันเกิดวิกฤตแล้วนะ แต่วิกฤตนี้สำหรับผมคือโอกาสนะ เราต้องหาให้เจอ เมื่อทุกคนไม่ไปกังวลว่าเป็นวิกฤต แต่มองว่ามันคือโอกาสโจทย์ก็เลยเปลี่ยน ทุกคนไปวิ่งหาโอกาสเป็นอีกแนวคิดที่สวนทางคนอื่นของแม่ทัพเจ มาร์ท ผู้ไม่เคยมองวิกฤตว่าเป็นปัญหา รอบโควิด-19 ก็เช่นเดียวกัน เขาและทีมงานมองเห็นโอกาสในการเข้าไปพยุงกิจการร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าตามต่างจังหวัด ซึ่งหลายแห่งกำลังย่ำแย่เพราะไม่สามารถสู้กับไฮเปอร์มาร์เก็ต ศูนย์ค้าปลีกแนวโมเดิร์นเทรดได้ แถมยังมีโควิด-19 มาซ้ำเติม

โดยเจ มาร์ทลุกขึ้นมาทำโครงการ JD ด้วยการไปเป็นพันธมิตรร่วมกับร้านค้าต่างจังหวัดเหล่านี้ นำสิ่งที่ตัวเองมีไปเสริม เช่น การจัดสินค้าเงินผ่อน และนำสินค้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบของบริษัทในกลุ่ม เช่น ซิงเกอร์เข้าไปเสริมสร้างโอกาสให้ร้านค้าต่างๆ มีเครื่องมือที่จะต่อกรกับศูนย์โมเดิร์นเทรดได้

เราเข้าไปสนับสนุนเงินผ่อน เอามือถือไปขาย เราก็มีธุรกิจกลับมา มีมือถือขาย มีประกันขาย มาร่วมกันทำธุรกิจก็คือโอกาส สิ่งเหล่านี้ถ้าเรามองเป็นวิกฤตเราก็จะไม่หาโอกาส แต่นี่เป็นโอกาสที่เราหาได้ อยู่ที่ใครจะหาเจอหรือไม่ เราทำแบบนี้และขยายไปเรื่อยๆ เขาบอกว่า โอกาสยังมีอีกมากขอเพียงตั้งใจและมองให้เห็น อย่ามัวพะวงอยู่แต่คำว่าวิกฤต

“Synergies” เร่งสปีดโต

ดีกรีเศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือพื้นฐานสำคัญที่ทำให้อดิศักดิ์มองเกมธุรกิจด้วยสายตาของคนที่มีพื้นฐานเรื่องเศรษฐศาสตร์ แม้จุดเริ่มต้นธุรกิจของเขาจะมาจากการเอาแบบอย่างความสำเร็จของบริษัทซิงเกอร์ฯ มาเป็นต้นแบบผมเริ่มต้นด้วยธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อน ทำแบบ SINGER เลยเพราะมองว่าเป็นแนวทางที่น่าจะไปได้ดี คนต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ไม่มีกำลังจ่ายเงินสด เราก็ขายและจัดระบบเงินผ่อนเองอดิศักดิ์เล่าอย่างภาคภูมิเพราะนับจากวันแรกที่เขาเรียนรู้และนำแบบอย่าง

การทำธุรกิจของซิงเกอร์มาใช้ หลังจากนั้น 25 ปีเขาสามารถเข้าไปซื้อหุ้นซิงเกอร์และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในที่สุด ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จชัดเจนขึ้น

วันนั้นที่ซื้อ SINGER เข้ามาเราใช้เงิน 3,780 ล้านบาท ณ วันนี้ SINGER มีมูลค่าธุรกิจกว่า 4 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลา 6 ปี เราเชื่อครับว่าจากนี้ไปสิ่งที่เราสร้างมันจะเติบโตตามทิศทางของมันเขาบอกเล่าเรื่องการซื้อกิจการซิงเกอร์ด้วยรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิ ทั้งในแง่การคว้าธุรกิจเบอร์ต้นในบริการสินค้าเงินผ่อนมาไว้ในอาณาจักรและในแง่ของกิจการที่มีอนาคตอีกยาวไกล หากย้อนรอยการเติบโตเพียง 6 ปีที่เขาบอกเล่าสามารถสร้างการเติบโตได้ถึง 10 เท่าตัว แถมเป็นความเติบโตที่ยั่งยืนด้วยฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น และสามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นอกจากอ่านเกมธุรกิจได้ขาดแล้ว อดิศักดิ์ยังพิสูจน์ความสำเร็จด้วยการนำพากิจการในกลุ่มทั้ง 11 บริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เขาเผยเคล็ดลับว่า สิ่งที่ทำให้หลายๆ ธุรกิจในกลุ่มเจ มาร์ทเติบโตไปด้วยกันและปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วก็คือ การผสานความร่วมมือในการทำงานแบบที่เรียกว่า synergies หรือการร่วมมือกันทำงานอย่างไร้รอยต่อ “Synergies คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของบริษัทในกลุ่ม เช่น JMT ไปช่วยเก็บเงินให้ KB J ซึ่งปล่อย personal loan, JMT ไปช่วยเก็บเงินให้ SINGER, Jaymart Mobile ปล่อยขายมือถือผ่าน KB J และ SINGER” เขาบอกว่า สิ่งเหล่านี้เป็น ecosystem ที่แต่ละบริษัทช่วยกัน เป็นแนวทางที่กลุ่มเจ มาร์ททำมาตลอด 7 ปีหลัง และมองเห็นพลังของการ synergies มากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดเราได้พันธมิตรเป็นกลุ่ม BTS ทีนี้ก็จะทำ synergies กว้างขึ้น เราได้กันกุล เอ็นจิเนียริ่งเข้ามาเรื่อง solar roof และยังมีเรื่องกัญชา-กัญชง ปีนี้เราจะได้เห็นบทบาทของทั้ง BTS และกันกุลฯ มากขึ้น อดิศักดิ์บอกเล่าด้วยสายตาที่เป็นประกาย เพราะทุกธุรกิจที่เขาขยายเข้าไปล้วนมองเห็นโอกาสและอนาคต ทำให้เจ มาร์ท กรุ๊ป มั่นใจว่าการเติบโตจะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากการขยายแล้วการร่วมแรงร่วมใจของบริษัทในกลุ่มก็มีส่วนทำให้ความสำเร็จไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะมีบริษัทพี่บริษัทน้องช่วยเหลือกันทำธุรกิจ

อย่างไรก็ดีตัวอย่างความสำเร็จที่อดิศักดิ์ถ่ายทอดด้วยความประทับใจยังคงเป็นการซื้อหุ้นซิงเกอร์เข้ามาเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเมื่อปี 2558 วันนั้นซื้อหุ้น SINGER จากฝรั่งที่ต้องการออก ผมเองอยากได้จึงตัดสินใจซื้อต้องเท้าความกลับไปเมื่อปี 2532 ที่เราเริ่มต้นธุรกิจก็ใช้วิธีการแบบ SINGER หลังจากนั้น 25 ปี เราซื้อหุ้น SINGER เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่ SINGER มีกำไรสุทธิเกิน 700 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 133 ปีเขาภูมิใจกับความสำเร็จนี้และบอกว่า มันเกิดจากการ synergies และพลังของการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ

คำว่าทรานส์ฟอร์มในความหมายของอดิศักดิ์มีทั้งเรื่องเทคโนโลยีและการปฏิบัติ มองย้อนไปก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นยุคแอนะล็อกยังใช้การทำด้วยมือ (manual) แต่ปัจจุบันเป็นดิจิทัลเกือบทั้งหมด ปัจจัยนี้มีส่วนทำให้การเติบโตเร็วขึ้นตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนขายแอร์ไป 1 ตัว เซลส์รายงานว่า ขายแล้ว ไปติดตั้งแล้ว แต่ระบบตรวจสอบไม่ได้ว่ามีการขายจริง ผ่านไป 2-3 เดือนเซลส์บอกลูกค้าคืนของ ทั้งที่ของจริงยังอยู่ที่เดิม ไม่มีการขาย ไม่มีการติดตั้ง แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเช็กได้หมด ทันทีที่เราขาย ทำ KYC (Know Your Customer) ถ่ายรูปส่งเข้า database พอไปส่งก็ถ่ายรูปเข้า database เหมือนกันทุกวันนี้ง่ายยิ่งขึ้นอีกเพราะทำผ่านแอปพลิเคชัน พบปัญหาน้อยมาก

เมื่อก่อนเงินหาย 100 ล้าน อาจไม่รู้หายอย่างไร ตรงไหน แต่เดี๋ยวนี้เงินหายบาทเดียวเราก็รู้ว่าหายไปไหน จากจุดไหนด้วยระบบที่ตรวจสอบได้อดิศักดิ์อธิบายและว่า การทรานส์ฟอร์มทำให้ธุรกิจขยาย การดูแลลูกค้าจำนวนมากสามารถทำได้อย่างทั่วถึง ด้วยการใช้เทคโนโลยีทำให้สามารถดูแลลูกค้าได้ และยังสามารถนำเสนอเรื่องต่างๆ ให้ลูกค้า และสามารถทำซีอาร์เอ็มดูแลลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง อดิศักดิ์ย้ำว่า เขา synergies ทุกอย่างใช้ร่วมกันแทบทุกบริษัทในกลุ่ม ปรับทั้งระบบบริการและความร่วมมือในทางปฏิบัติ

แตกไลน์แบบปลูกป่า

จากจุดเริ่มต้นธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์เคลื่อนที่ มาวันนี้เจ มาร์ท กรุ๊ปมีธุรกิจหลากหลายครอบคลุมทั้งการค้า การเงิน และบริการ อดิศักดิ์ยอมรับว่า เขามาไกลกว่าที่คาดไว้ แต่ยังไม่ใช้ปลายทางของฝัน เพราะความสำเร็จที่มีในวันนี้เขาบอกว่า เพิ่งได้เพียงร้อยละ 30 ของเป้าหมายเท่านั้น แม้จะมีพอร์ตธุรกิจมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทแล้วก็ตามมีคำถามเสมอว่าเรามาไกลขนาดไหน ผมบอกทุกครั้งกับทุกคนที่ถามว่า ณ วันนี้ มาถึงแค่ร้อยละ 30 ของที่ผมคาดคิด ผมตอบคำถามนี้มา 10 ปีแล้ว มันส่งสัญญาณว่าเรายังมาไม่ถึงครึ่งทางเลย เพราะฉะนั้นทีมงานผู้บริหารต้องทำอะไรอีกเยอะ และเรายังมีโอกาสเติบโต

คำว่าเติบโตของอดิศักดิ์อาจไม่เหมือนกับการเติบโตของอีกหลายธุรกิจ เพราะสำหรับผู้ก่อตั้งเจ มาร์ทแล้ว เขาบอกว่า ตัวเองมาจากครอบครัวสามัญชน ไม่ใช่เศรษฐีตกทอด 2-3 เจเนอเรชั่น แต่เขาคือคนที่ทำให้ สุขุมวิทยามีธุรกิจที่ชัดเจน ดังนั้น การเติบโตของเขาจึงต้องขยายไปแบบแนวกว้าง เพื่อกระจายธุรกิจทั้งกระจายความเสี่ยงและขยายกิ่งก้านสาขาให้ครอบคลุมมากขึ้น

ผมไม่ได้ปลูกต้นไม้ต้นเดียว ผมปลูกหลายๆ ต้น ปลูกเป็นป่าก็ว่าได้ เพราะคำว่าป่าย่อมเกิดความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งน้ำเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ หลายอย่างเกิด power ป่ายิ่งใหญ่ยิ่งสมบูรณ์ยิ่งมีพลังนี่คือฝันที่ยิ่งใหญ่ของอดิศักดิ์ที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ ขยายและคิดมาโดยตลอด เห็นได้จากธุรกิจที่เขาต่อยอด เช่น ขายมือถือเงินผ่อนก็ขยายไปทำธุรกิจตามหนี้ และทำพื้นที่เช่าในเวลาเดียวกัน ทำมา 20 ปีจึงได้นำเจ มาร์ท โมบาย เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2552 หลังจากนั้นอีก 3 ปี เอาเจ เอ็ม ทีเข้าตลาดฯ ตามมาจนกระทั่งปัจจุบันเจ เอ็ม ทีเติบโตมีมาร์เก็ตแคปมากกว่าเจ มาร์ท โดยเจ เอ็ม ทีมีมูลค่าตลาดกว่า 9 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันกลุ่มเจ มาร์ทมีฐานลูกค้าในมือกว่า 7 ล้านราย มาจากธุรกิจในกลุ่ม 11 บริษัทที่สะสมมาตลอด 3 ทศวรรษในการทำธุรกิจ

“30 ปีเรามาไกลกว่าที่คิด และต้องบอกว่า journey ของมันผ่านมาหลายรูปแบบ เรื่องราวมีเยอะมาก อดิศักดิ์บอกเล่าถึงความหลากหลายในถนนสายธุรกิจของเจ มาร์ท ซึ่งแม้จะมีกิจการในกลุ่ม 11 บริษัทแต่เขาบอกว่า แบ่งธุรกิจไว้เพียง 3 กลุ่ม

เริ่มจากกลุ่มแรกคือ กลุ่มคอมเมิร์ซ การค้าขาย คือขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขายอุปกรณ์สินค้าด้านไอที นอกจากเจ มาร์ทแล้วยังรวมไปถึงซิงเกอร์ ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนด้วยเช่นเดียวกัน

กลุ่ม 2 เป็นกลุ่มธุรกิจไฟแนนซ์หรือธุรกิจการเงิน กลุ่มนี้มี บริษัท เคบี เจ, ซิงเกอร์ ซึ่งให้บริการสินค้าเงินผ่อนถือเป็นกลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มนี้ชัดเจนว่ามาทางการเงิน โดย บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด เป็นการร่วมกับธนาคารจากเกาหลี ให้บริการด้านสินเชื่อและในเร็วๆ นี้จะมีบริษัทลูกของซิงเกอร์ที่แยกตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกบริษัท คือเอสจี แคปปิตอลมีแผนจะยื่นไฟลิ่งในไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทนี้จะทำธุรกิจในการปล่อยสินเชื่อกลุ่มไฮเพอร์เชส สินเชื่อรถทำเงิน

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มเทคโนโลยีและอื่นๆ เช่น ร้านกาแฟคาซ่า ลาแปง และธุรกิจอสังหาฯ บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท ทำพื้นที่ค้าปลีกคอมมูนิตี้มอลล์เราทำ community mall มาแล้ว 5 แห่ง ปีนี้จะมีแห่งที่ 6 ที่ลาดปลาดุก ทางไปบางบัวทองเป็นอีกธุรกิจที่ดำเนินงานในนาม เจเอเอส แอสเซ็ท บริษัทที่ตั้งมา 25 ปีที่แล้ว และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2558 ก่อนหน้านี้เคยพัฒนาคอนโดมิเนียมโครงการ Newera ย่านเอกมัย-รามอินทรา แต่ช่วงนี้เขามองว่าไม่เหมาะที่จะทำตลาดคอนโดฯ

อดิศักดิ์ยังคงมองเห็นโอกาสอยู่เสมอแม้วันนี้เขาจะมีพอร์ตธุรกิจใหญ่เกินคาดแล้วก็ตามวันที่นำ JMART เข้าตลาดฯ ตอนนั้นมูลค่า 540 ล้านบาท มาปิดสิ้นปี 2564 มูลค่าไปเกือบ 8 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกันปี 2555 นำ JMT เข้าตลาดมูลค่าตอนนั้น 1.2 พันล้านบาท ทุกวันนี้มูลค่าไปเกือบ 1 แสนล้านบาท นี่คือทิศทางที่เราเติบโตอดิศักดิ์กล่าวสรุปภาพรวมการเติบโตของกลุ่มเจ มาร์ท

จากจุดเริ่มต้นที่เดินมาไกลแต่ยังไกลไม่พอสำหรับอดิศักดิ์ เพราะเขาบอกทุกคนเสมอว่า ความเติบโตในวันนี้เป็นเพียง 30% ของเป้าหมาย ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งทางของนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ผู้สร้างกลุ่มเจ มาร์ท ยักษ์เล็กให้ผงาดในวงการสินค้าเงินผ่อนและธุรกิจการเงินครบวงจร เพราะฉะนั้นเส้นทางการเติบโตของเจ มาร์ท กรุ๊ป คงยังต่อเนื่องอีกยาวไกล

เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และเจ มาร์ท

อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine