RentSpree สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่สามารถแจ้งเกิดแพลตฟอร์มการเช่าบ้านครบวงจรในสหรัฐอเมริกา ด้วยโมเดล B2B2C และความมุ่งมั่นสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือและความเชื่อมั่น คว้าเงินลงทุนรอบซีรีส์ A ดันมูลค่าธุรกิจ 1.6 พันล้านบาท พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นในปี 2567
พลังแห่งความเชื่อมั่นในเสียงของผู้ใช้งานจริง และความตั้งใจแก้ปัญหาระบบการเช่าบ้านจากประสบการณ์ตรงระหว่างศึกษาปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้นักศึกษาไทยและอเมริกันจับมือกันปั้นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยในอเมริกา ด้วยความพยายามพัฒนาแพลตฟอร์มให้ธุรกิจสามารถเติบโตสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองมากกว่าการใช้เวลาแข่งขันระดมทุน พร้อมเล็งเห็นโอกาสจากการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเป็น B2B2C จนกระทั่งสามารถทำกำไรให้บริษัทได้ก่อนจะได้รับเงินลงทุนรอบซีรีส์ A และมีผู้ใช้บริการครอบคลุม 50 รัฐในสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 750,000 ราย เอกบุตร สิริศุภางค์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรนท์สพรี จำกัด ในวัย 34 ปี เริ่มต้นธุรกิจในปี 2559 ร่วมกับ Michael Lucarelli และทีมงานคนไทยที่สามารถร่วมกันขับเคลื่อนสตาร์ทอัพสัญชาติไทยให้ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ด้วยความมุ่งมั่นในการก่อตั้งธุรกิจและความสนใจด้านการใช้ความคิดพัฒนาเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ พร้อมด้วยทักษะและประสบการณ์ทำงานที่สั่งสมตลอดเส้นทางนำมาปรับใช้ในการสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง “ช่วงเริ่มต้นเรามีทีมงาน 7 คน ประกอบด้วยผมและผู้ร่วมก่อตั้งอยู่ที่อเมริกา และทีมงานคนไทยอีก 5 คนในประเทศไทย ซึ่งเงินระดมทุนก้อนแรกของเราจำกัดมากที่ 150,000 เหรียญสหรัฐฯ ด้วยความสามารถของคนไทยที่เก่งไม่แพ้ software engineer อเมริกา ถ้าเราต้องการขยายธุรกิจในจำนวนเงินเท่ากันเราสามารถจ้างพนักงานคนไทยได้มากกว่า ทำให้ทีมงานส่วนใหญ่ของเราเป็นคนไทย รวมทั้งข้อดีของคนไทยที่มีความเข้าใจลูกค้าสูง แม้จะไม่ได้อยู่หน้างานหรืออยู่ข้างๆ ลูกค้าที่มีปัญหา แต่ก็มีความใส่ใจและพยายามแก้ปัญหาให้ตลอด ส่งผลให้แพลตฟอร์มของเราพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งการเช่าบ้านผ่าน RentSpree มีโอกาสประสบความสำเร็จถึง 80%” ส่วนความสนใจด้านคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ของเอกบุตรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบิดาให้เรียนรู้การประกอบคอมพิวเตอร์ที่พันธุ์ทิพย์ขณะศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และสามารถใช้ทักษะดังกล่าวผสมผสานกับมุมมองด้านการค้าหารายได้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าเล่าเรียนได้เองตั้งแต่ยังศึกษาชั้นมัธยมปลาย โดยยังเป็นแรงบันดาลใจให้เอกบุตรเลือกศึกษาต่อปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “แม้เราสนใจเรื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ แต่หลังจากเรียน 2-3 ปีเราจึงค้นพบว่า เราชอบช่วงคิดหาไอเดียเพื่อแก้ปัญหามากกว่าการเขียนโปรแกรม โดยเราต้องการเป็น product manager มากกว่า software engineer รวมถึงส่วนตัวเรารู้ว่า การทำสตาร์ทอัพต้องทำอะไรอีกมาก เราจึงเรียนต่อด้านภาษาและ MBA ทั้งยังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้พร้อมสำหรับวันที่สามารถลงมือทำจริง ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็สามารถใช้ทักษะและประสบการณ์ที่ผ่านมาได้” เอกบุตรกล่าวถึงประสบการณ์ที่สั่งสมหลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในปี 2553 ซึ่งเริ่มทำงานเป็น Account Executive ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประมาณ 1 ปี และเริ่มงานในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของ บริษัท ไทยประเสริฐ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ราว 1 ปี ก่อนจะศึกษาต่อปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (MBA) ที่ Pepperdine Graziadio Business School สหรัฐอเมริกา ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจออนไลน์ส่วนตัวในการนำเข้านาฬิกาจากสหรัฐฯ มาจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ บริษัท วอทช์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นระยะเวลา 4 ปี “ปัญหาที่พบเรื่องการเช่าบ้านขณะนั้นเกี่ยวกับโอกาสการได้บ้านเช่าไม่ใช่ 100% เมื่อจะสมัครเช่าบ้านต้องเข้าไปดูบ้านและเซ็นเอกสารจากเจ้าของบ้านหรือนายหน้าหลายชุดกว่าจะส่งกลับไปให้นายหน้าตรวจสอบ credit, background, eviction ใช้เวลา 5 วัน ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาบ้านใหม่และเริ่มกระบวนการเดิมกับการกรอกเอกสารกว่าจะได้บ้าน 1 หลัง ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจจากปัญหาใกล้ตัวที่ยังไม่มีแพลตฟอร์มใดสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งที่การเช่าบ้านเป็นเรื่องสำคัญ เราจึงต้องการสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นและมีเวลามากขึ้นในชีวิต” จากความเชื่อมั่นในโอกาสที่เล็งเห็นทำให้เอกบุตรเริ่มต้นบุกเบิกพรอพเทคสตาร์ทอัพในสหรัฐอเมริกา โดยดูแลรับผิดชอบด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และวางแผนด้านธุรกิจทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดแนวทางและเป้าหมายของทีม รวมถึงการวางระบบการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร ทั้งสาขาที่สหรัฐฯ และประเทศไทย ด้วยความทุ่มเทและพยายามใช้เวลาพัฒนาธุรกิจให้สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเองมากกว่าการแข่งขันระดมทุนหรือหาเงินลงทุน ซึ่งกำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 3 เดือนต่อปี จนกระทั่งบริษัทสามารถทำกำไรได้ในปีที่ 3 และใช้ผลงานการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสร้างความเชื่อมั่นรับเงินทุนก้อนแรกจาก VC “ปีแรกเราเข้าร่วมการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 10 รายการ นอกจากไม่เคยชนะยังไม่ผ่านรอบแรกด้วยซ้ำ กว่าจะชนะก็เข้าปีที่ 3 ซึ่งในปีแรกเรายังคุยกับ angel หรือ VCs เกือบ 50 ราย แต่ก็ไม่สำเร็จและไม่ได้รับเงินลงทุนเลย เพราะ profile ของเราไม่เคยทำงานบริษัทเทคขนาดใหญ่ ไม่มีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพมาก่อน และเขาบอกว่า ไอเดียของเราธรรมดาไป หรือแก้ปัญหาที่ง่ายเกินไป แต่เราไม่เห็นด้วย เพราะเราให้ความสำคัญกับ feedback จริงจากลูกค้าที่ให้ผลตอบรับดีมากหลังใช้บริการของเรา ดังนั้น เราจึงตั้งใจใช้เวลาพัฒนาบริษัท หารายได้ด้วยตัวเองแทนความพยายามหาทุน ซึ่งสุดท้ายนักลงทุนก็เห็นการเติบโตของบริษัทว่าทำได้จริง โดย VC รายหนึ่งพูดกับเราว่า You guys are really no one but you have exceeded most of startup in my portfolio and that proves your startup better than anything else”- ปั้นฝันสตาร์ทอัพยูนิคอร์น -
ในปัจจุบันบริษัทสามารถพัฒนาการให้บริการครบวงจรครอบคลุมด้านกระบวนการคัดกรองผู้เช่าที่ใช้งานง่าย (tenant screening process) การจัดการผู้เช่า (renter management) โปรแกรมสำหรับพาร์ตเนอร์ (partnership program) รวมถึง API ในการคัดกรองการเช่า (rental screening API) โดยมีผู้ใช้บริการจำนวนมากกว่า 750,000 ราย และสามารถช่วยเหลือเจ้าของบ้านหรือนายหน้ากว่า 130,000 คน ในการทำธุรกรรมการเช่าบ้านกว่า 620,000 รายการ พร้อมขยายผู้ใช้งานผ่านการพาร์ตเนอร์กับองค์กรชั้นนำในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์กว่า 200 องค์กร รวมถึงได้รับผลตอบรับจากผู้ใช้งานมากกว่า 2,000 รีวิวให้คะแนน 4.7 จาก 5 คะแนน ซึ่งเป็นจำนวนรีวิวสูงที่สุด และดีที่สุดในอเมริกาสำหรับบริษัทคัดกรองผู้เช่า (tenant screening) พร้อมทั้งได้รับรางวัล Best LA2017 หรือสตาร์ทอัพที่พลิกโฉมวงการอสังหาริมทรัพย์ใน Los Angeles ขณะที่พัฒนาการสำคัญของบริษัทเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากผู้เช่าบ้านเป็นนายหน้าและเจ้าของบ้าน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าและช่วยในการแก้ไขปัญหาได้เช่นกัน โดยบริษัทได้ขยายฐานข้อมูลและผู้ใช้งานด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับองค์กรที่น่าเชื่อถือที่สุดในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และให้บริการนายหน้า เจ้าของบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ และผู้เช่าครอบคลุม 50 รัฐในสหรัฐฯ นอกจากนั้น ในช่วงกลางปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้รับเงินทุนมูลค่ากว่า 250 ล้านบาท จนกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับซีรีส์ A ซึ่งมี 645 Ventures เป็นกลุ่มนักลงทุนหลักที่ร่วมลงทุนกับเรนท์สพรีตั้งแต่รอบ Seed Round พร้อมด้วย Green Visor Capital และ Vesta Ventures โดยเงินทุนดังกล่าวได้ผลักดันให้มูลค่าธุรกิจของบริษัทสูงถึง 1.6 พันล้านบาท และทำให้บริษัทสามารถพัฒนาธุรกิจให้ไปสู่ระดับโลก รวมถึงขยายทีมบุคลากรในประเทศไทยจาก 85 คนเป็น 200 คนในปีนี้เพื่อสร้างการเติบโตตามเป้าหมาย 600 ล้านบาทจาก 300 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นของคนไทยในปี 2567 สำหรับกลยุทธ์หลักของบริษัทได้มุ่งเน้นด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มทีมงาน (people) ซึ่งถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่เป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงกลยุทธ์สร้างการเติบโต (growth) ให้บริษัทเป็นแพลตฟอร์มการเช่าบ้านครบวงจรมากขึ้น และเป็นความจำเป็นสำหรับนายหน้า เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และผู้เช่าทั่วประเทศ นอกจากนั้น เอกบุตรยังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การเพิ่มจำนวนพันธมิตรธุรกิจ (partner) และสร้างเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้ลูกค้าผู้ใช้งาน และช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นตลอดจนกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ (brand) ด้วยการเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของการเช่าบ้านจากธุรกรรมเป็นความสัมพันธ์ระยะยาว ซึ่งบริษัทจะเป็นพรอพเทคสตาร์ทอัพรายแรกที่ทำให้การเช่าบ้านเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว และปลอดภัย ภายใต้เป้าหมายการดำเนินงาน 2 ด้าน ได้แก่ การพัฒนามาตรฐานระบบบ้านเช่าของทั้งโลกให้มีความสะดวกสบาย ง่ายดาย และปลอดภัย โดยสามารถทำธุรกรรมทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบกับบริษัทได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว รวมถึงเป้าหมายการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้เช่าเจ้าของบ้าน และนายหน้า เพราะส่วนใหญ่นายหน้ามักจะขาดการติดต่อกับผู้เช่าหรือเจ้าของบ้านหลังจากใช้เวลานานกว่าจะปิดดีลได้สำเร็จ ซึ่งบริษัทสามารถเป็นตัวกลางช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีผ่านระบบการแจ้งเตือนให้นายหน้าติดต่อผู้เช่าหรือเจ้าของบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เช่าและเจ้าของบ้านนึกถึงนายหน้าคนเดิมหากต้องการซื้อขายบ้าน “หลังจาก RentSpree ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเราอยากช่วยให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพจากประสบการณ์การแข่งขันที่แพ้มาตลอด ซึ่งก็คล้ายกับการเริ่มต้นของหลายสตาร์ทอัพ รวมถึงความพยายามสร้างบริษัทให้เติบโตขึ้นได้ ทำให้เรามีไอเดียและข้อมูลที่น่าจะสามารถช่วยวงการ สตาร์ทอัพของไทยได้” เอกบุตรปิดท้ายถึงภาพเป้าหมายส่วนตัวที่วางไว้ในอนาคต ภาพ: RentSpree อ่านเพิ่มเติม:- กิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ BBGI เดินเกมรุกไบโอเทค
- ARNAUD BIALECKI โซเด็กซ์โซ่ (ประเทศไทย) ปรับโมเดลสู้โควิด
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine