ยกระดับ "สปาไทย" สู่สากล ผลักดันผู้ประกอบการจับเอกลักษณ์พื้นถิ่นเป็นจุดขาย - Forbes Thailand

ยกระดับ "สปาไทย" สู่สากล ผลักดันผู้ประกอบการจับเอกลักษณ์พื้นถิ่นเป็นจุดขาย

บริการและผลิตภัณฑ์ สปาไทย เป็นที่ยอมรับในระดับโลก แต่จะทำอย่างไรให้เมืองในประเทศไทยเป็น “Wellness Destination” อย่างแท้จริง พร้อมต่อยอดไปสู่การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องอื่นๆ กลายเป็นโจทย์ที่ สสว. ร่วมกับ ซีอีเอ ร่วมกันหาคำตอบเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสปาไทยโดยเฉพาะรายเล็กและรายกลางสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ข้อมูลจากงานเสวนา “ผ่ากลยุทธ์...สู่อนาคต ธุรกิจส่งเสริมบริการสุขภาพ” อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ซีอีเอ) เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจสปาและเวลเนสก่อนว่า มูลค่าธุรกิจนี้ทั่วโลกเมื่อปี 2561 อยู่ที่กว่า 27 ล้านล้านบาท เฉพาะในไทยมีมูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเติบโตขึ้น 7-8% เป็น 3.7 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีแรงงานอยู่ราว 6 หมื่นคน หรือถ้านับรวมแรงงานในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ที่เกี่ยวเนื่องจะมีกว่า 4 แสนคน ดังนั้นซีอีเอจึงเล็งเห็นว่าธุรกิจสปานั้นมีมูลค่าสูง และผู้ประกอบการไทยมีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่ง เพียงแต่ยังสามารถยกระดับทั้งคุณภาพและบริการขึ้นไปได้อีก ด้วยการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของคนไทยมาผสมผสานในสปา เช่น สมุนไพรท้องถิ่น การบริการที่เป็นเอกลักษณ์
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (ซีอีเอ)
“ผมคิดว่า เราสามารถยกระดับให้คำว่า สปาไทย เป็นคำที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับคำว่า อาหารไทย ได้ คือคนรับรู้ได้ทันทีว่านี่คือสิ่งที่ดีเยี่ยม” อภิสิทธิ์กล่าว และจากแนวคิดนี้ทำให้ซีอีเอร่วมงานกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อจัดโปรแกรมส่งเสริมผู้ประกอบการสปา  

ล้างภาพธุรกิจสีเทา-สร้างแบรนด์ให้ชัด

สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ธุรกิจสปาไทยมีการเติบโตต่อเนื่องแต่ภาพลักษณ์ธุรกิจสีเทาในบางสถานประกอบการยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้างจุดขาย จึงต้องการยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจนี้ โดย สสว. เป็นผู้เชื่อมโยงความรู้ให้กับ SMEs อยู่แล้ว และปีที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการจัดอบรมและปลุกปั้นผลิตภัณฑ์ในลักษณะ area based คือเจาะลึกผลิตภัณฑ์และโมเดลธุรกิจเฉพาะพื้นถิ่นนั้นๆ มากขึ้น ซึ่งจะนำมาปรับใช้กับสปาด้วย และเชื่อว่าสปาไทยมีแนวโน้มเป็น ‘product champion’ ของไทยสู่ตลาดโลกได้
สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว.
ด้าน ดร.ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวว่า อย่างไรก็ดี สปาไทยยังมีจุดอ่อนในฐานะตัวเลือกที่คนนึกถึงเป็นอันดับแรกๆ และการพัฒนาให้ทั้งเมืองเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกัน พร้อมต่อยอดไปสู่สินค้าเกี่ยวเนื่องอื่น โดยยกตัวอย่าง Bali อินโดนีเซีย ที่เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวนึกถึงเมื่อกล่าวถึงเวลเนส และ Bali ยังพัฒนาต่อจนสามารถขายสินค้าอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เฟอร์นิเจอร์ เหล่านี้ทำให้สปาไทยไม่เพียงแต่ต้องยกระดับคุณภาพและการบริการ แต่ต้องพัฒนา แบรนดิ้ง ให้ชัดเจน “ธุรกิจเวลเนสไทยโตปีละ 7% ทั้งที่จริงมันน่าจะโตได้มากกว่านี้ เราจึงไปดูแบบเจาะลึกจึงพบว่า กลุ่มระดับบนหรือไฮเอนด์เขาเติบโตดีมาก แต่กลุ่มกลางถึงล่างยังมีปัญหา” ดร.ธนันธน์กล่าว ดังนั้นภาครัฐจึงเลือกผลักดันเมืองแฟล็กชิปเหล่านี้ให้เป็นเมืองสปาภายใต้คอนเซปท์ Magic Wellness ได้แก่ เกาะสมุย ภูเก็ต เมืองพัทยา ขอนแก่น และพื้นที่ล้านนาโดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง  

หยิบวัตถุดิบพื้นถิ่นเป็นเอกลักษณ์

สำหรับการสร้างอัตลักษณ์นั้น สปาไทยเลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างคุณค่า ทำให้กลายเป็นซัพพลายเชนหมุนเวียนกันในพื้นที่ โดยมีตัวแทนจากท้องถิ่นร่วมให้ข้อมูล ได้แก่ วัลวลี ตันติกาญจน์ ประธานสมาพันธ์สปาไทยและนายกสมาคมสปาสมุย รัตนดา ชูบาล นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต และ วัชรพงศ์ กลิ่นประณีต นายกสมาคมไทยล้านนาสปา ในภูเก็ตนั้น สมาคมฯ มีการผลิตผลิตภัณฑ์สปาจากสับปะรด ไข่มุก และหอยเป๋าฮื้อ ซึ่งล้วนแต่ผลิตได้ในภูเก็ต และทำให้เป็นแบรนด์เดียวกัน ให้ร้านสปา SMEs ในภูเก็ตที่เป็นสมาชิกสมาคมสามารถสั่งซื้อได้โดยไม่ต้องสต็อกสินค้าหรือผลิตสินค้าเองซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนเพิ่ม “เราต้องการให้เกิดการขายต่อเนื่อง ให้ร้านสปาเหล่านี้ขายสินค้าให้ลูกค้านำกลับไปใช้ได้ และเมื่อลูกค้าเห็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็รู้จักและต้องการซื้อสินค้าเด่นของภูเก็ตทั้งสับปะรด ไข่มุก และหอยเป๋าฮื้อ” รัตนดากล่าว ส่วนในเกาะสมุยนั้นมีการผลิตทรีทเมนท์ขัดผิวจากขมิ้นชันและมะพร้าวซึ่งเป็นของดีเกาะสมุย และ จ.สุราษฎร์ธานี รวมถึงในพื้นที่ล้านนาจะมีวัตถุดิบเด่นคือ ลำไย ที่สกัดสารจากเม็ดลำไยมาใช้เป็นทรีทเมนท์ ไปจนถึงสมุนไพรอย่างว่านนางคำก็มีการใช้ทำผลิตภัณฑ์ หรืออย่างใน จ.แม่ฮ่องสอน จะมีแหล่งโคลนที่ภูโคลนเป็นเอกลักษณ์  

แนะผู้ประกอบการปรับตัวตามเทรนด์โลก

นอกจากการสร้างอัตลักษณ์ของตนเองแล้ว กรด โรจนสเถียร นายกสมาคมสปาไทย ยังแนะนำว่าผู้ประกอบการสปา เวลเนส และธุรกิจในซัพพลายเชน ควรติดตามกระแสความนิยมของโลกอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมา กรดกล่าวว่าเทรนด์ที่มาแรง 4 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ Real Estate Wellness หรือที่พักอาศัยที่มีบริการเวลเนสผสมผสาน, ที่พักอาศัยผู้สูงอายุ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, การแพทย์ทางเลือก ตั้งแต่การตรวจเช็กสภาพร่างกาย วัดค่าอย่างละเอียด เพื่อควบคุมสุขภาพแบบรายบุคคล จนถึงการรักษาแบบทางเลือก เช่น ฝังเข็ม และสุดท้ายคือ อาหารที่เกี่ยวกับสุขภาพ มีกลุ่มอาหารที่มาแรงมากคือกลุ่มปราศจากกลูเตนและอาหารวีแกน “สิ่งเหล่านี้ท่านนำมาปรับใช้กับธุรกิจของท่านได้ หรือลองมองดูได้ว่าท่านจะไปเป็นซัพพลายเชนในธุรกิจเหล่านี้ได้อย่างไร” กรดกล่าวปิดท้าย