THANN (ธัญ) กำเนิดขึ้นด้วยฝีมือ โอ๋-ฐิติพัฒน์ นักการตลาดผู้จับจุดสมุนไพรในครัวเรือนไทย ปั้นเป็นแบรนด์สปาจากธรรมชาติ จนปัจจุบันสามารถส่งออกสินค้าไปใน 56 ประเทศ พร้อมแผนต่อยอดสร้างสรรค์ THANN Wellness Destination ยกระดับสู่ธุรกิจเวลเนสบนพื้นที่ 30 ไร่ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา
หนึ่งในแบรนด์ผลิตภัณฑ์สปาจากวัตถุดิบธรรมชาติของไทยที่ออกวางจำหน่ายมานานและยังคงยืนหยัดเป็นแบรนด์แถวหน้าได้แก่ THANN (ธัญ) ซึ่งก่อตั้งโดย ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธัญ-ออริซ่า จำกัด วัย 48 ปี ผู้เริ่มต้นผลิตและจำหน่ายสินค้าเมื่อปี 2545 จนล่าสุดทำรายได้ปี 2560 ที่ 506 ล้านบาท และรายได้คาดการณ์ปี 2561 ที่ 650 ล้านบาท สามารถเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าปีละ 25% มาตลอด 4 ปี แม้จะมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้นในระยะหลัง แต่ THANN ยังคงเป็น 1 ใน 3 แบรนด์ไทยที่ทำยอดขายหลักร้อยล้านได้ “อยากทำงานที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะๆ ชอบทำอะไรนอกกรอบ” เป็นสิ่งที่ฐิติพัฒน์อธิบายถึงการตัดสินใจฉีกแนวทางอาชีพ จากที่ร่ำเรียนปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเป็นนักการตลาดในวงการธุรกิจอาหาร ซึ่งทำให้เขาได้เรียนรู้สายอาชีพที่ชื่นชอบมากกว่าอย่างการตลาดอยู่นานร่วมสิบปี ในระหว่างนั้น ฐิติพัฒน์ยังตัดสินใจศึกษาต่อปริญญาโท MBA ที่ The Australian National University ซึ่งทำให้เขาได้พบแรงบันดาลใจจากการเดินเล่นตลาดนัดที่ Sydney ที่มีการขายสบู่-เทียนหอมแฮนด์เมด สู่การตัดสินใจพัฒนาผลิตภัณฑ์สปาจากสมุนไพรไทยภายใต้แบรนด์ของตนเองสร้างแบรนด์จากตลาดส่งออก
เวลานั้นฐิติพัฒน์ทำงานสั่งสมประสบการณ์จนถึงระดับผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ จึงอาศัยองค์ความรู้ที่รู้จักพฤติกรรมผู้บริโภคและช่องทางกระจายสินค้าในต่างประเทศ มาวางเป็นเป้าหมายที่จะให้ THANN ก้าวไปสู่ตลาดโลก ขวบปีแรกของ THANN สามารถแจ้งเกิดได้จากการออกบูธในงาน BIG (Bangkok International Gift Fair) โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งเป็นยุคที่มีผู้ซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเลือกสินค้าในไทยจำนวนมาก ด้วยชื่อเสียงคุณภาพสินค้าไทยที่ดีและออกแบบสวยงาม “ทุนจดทะเบียนบริษัทแค่ 1 ล้านบาทในตอนนั้น เราก็เซอร์ไพรส์นะที่ปีแรกเราได้ยอดขาย 10 ล้านบาทเลย โชคดีที่มีลูกค้าใหญ่จากไต้หวัน มาเลเซีย มาสั่งซื้อ และมีตัวแทนจำหน่ายมาขอสินค้าไปเปิดร้านที่ Paris ทำให้ปีแรกเราก็ได้ส่งออกเลย” สำหรับตลาดประเทศไทย ฐิติพัฒน์เลือกเปิดร้านรีเทลแห่งแรกที่ห้างสรรพสินค้า รอยัล การ์เด้น พลาซ่า พัทยา เนื่องจากต้องการวิเคราะห์ตลาดผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนจากหลายชาติแวะเวียนมา หลังจากนั้นจึงติดต่อขอเปิดบูธขายสินค้าในเซ็นทรัล ชิดลม และ ดิ เอ็มโพเรียม ซึ่ง THANN เป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยแบรนด์แรกๆ ที่เปิดตลาดเครื่องสปาในไทย “ยุคนั้นคนไทยทั่วไปยังไม่รู้จักน้ำมันหอมระเหยคืออะไร และทำไมถึงแพงอย่างนี้ โบรชัวร์แรกของเราต้องเขียนเลยว่าสิ่งนี้คืออะไร และใช้ทำอะไร ทำไมสบู่เราถึงแพง ก้อนละ 80 บาท ขณะที่สบู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตก้อนละ 10 กว่าบาท” หลังจากนั้นในปี 2547 บริษัทจึงเลือกขยับไปอีกขั้นโดยเปิดร้านสปาบนศูนย์การค้า สยามดิสคัฟเวอรี่ โดยเอ็มดีธัญ-ออริซ่านับว่าร้านนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะ THANN Spa แห่งแรกถูกออกแบบให้สื่อสารแบรนด์ว่าเป็นสปาระดับลักชัวรี ส่งเสริมเป็นยอดขายสินค้า และเกิดแบรนดิ้งที่ชัดเจนรีเทลคือหัวใจ
ปัจจุบัน THANN มีผลิตภัณฑ์รวม 6 คอลเล็คชั่น จำนวนสินค้า 70-80 SKUs (เฉพาะที่วางจำหน่ายในร้านค้าปลีก) ซึ่งฐิติพัฒน์ให้ความสำคัญกับการพัฒนา มุ่งสร้างสรรค์คอลเล็คชั่นจากวัตถุดิบใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยีใหม่ “เราทำร้านสวยๆ แต่พอคนเข้ามาสัมผัสแล้วเขาจะอยู่กับเรานานได้ ของก็ต้องมีคุณภาพ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องฉาบฉวย กลายเป็นสิ่งที่ซื้อเป็นของขวัญเท่านั้น” ฐิติพัฒน์ยืนยัน อย่างไรก็ดี สินค้าที่ผ่านการวิจัยพัฒนาจะต้องวางจำหน่ายผ่านร้านค้าที่ช่วยเสริมสร้างแบรนด์ด้วย โดยแบรนด์ THANN ถูกออกแบบให้เป็น แบรนด์แฟชั่น ทุกร้านค้าปลีกจะต้องสื่อสารในทิศทางเดียวกัน ตั้งอยู่ในทำเลไฮเอนด์ พร้อมด้วยการบริการที่สุภาพให้ลูกค้าพึงพอใจ ร้านค้ารีเทลของ THANN นับเป็นธุรกิจหลักและเป็นกระดูกสันหลังให้บริษัท ทั้งในแง่แหล่งรายได้และเป็นจุดเชื่อมต่อให้บริษัทผู้สนใจเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยขณะนี้ THANN มีวางจำหน่ายในร้านรีเทล 109 สาขา (แบ่งเป็นร้านค้าปลีก 93 แห่ง และสปา 16 แห่ง) ใน 56 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม ฟินแลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ รวมถึงกลุ่มลูกค้า B2B ที่ได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับเชนโรงแรม Marriott ใน ทวีปเอเชียแปซิฟิก อเมริกาเหนือ และลาตินอเมริกา รวมโรงแรมกว่า 500 แห่งที่ใช้สินค้า THANN ในห้องพัก ไปจนถึงสายการบิน ได้แก่ Eva Air, Sriliankan Airlines และ Saudia Airlines ที่บรรจุผลิตภัณฑ์ใน Amenity Kitsขาขึ้นตลาดเอเชีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าตลาดเครื่องสำอางไทยปี 2561 มีมูลค่าตลาดที่ 2.76 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดเครื่องสำอางในประเทศ 1.81 แสนล้านบาทเติบโต 7.7% และตลาดส่งออกเครื่องสำอาง 9.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.4% อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกเฉพาะตลาดเครื่องสำอางจากธรรมชาติ Ecovia Intelligence สำนักวิจัยตลาดผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ประเมินว่า ปี 2560 ในภูมิภาคเอเชียนั้นมีมูลค่าตลาดเครื่องสำอางจากธรรมชาติรวมราว 652 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตขึ้น 21% จากปีก่อนหน้า ทั้งคาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยกระแสความนิยมของผู้บริโภค นอกจากนี้ in-cosmetics Asia ออร์แกไนเซอร์อีเวนต์ทางธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องสำอางยังให้ความเห็นว่า ตลาดเครื่องสำอางจากธรรมชาติกำลังมาแรงในเอเชีย โดยคาดว่าจะมีการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปีจนถึงปี 2564 ในยุคที่ตลาดตื่นตัว ฐิติพัฒน์วางกลยุทธ์การบริหารในอนาคตแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือแผนการเติบโตอย่างสม่ำเสมอด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่และร้านรีเทลสาขาใหม่ เอ็มดีธัญ-ออริซ่ากล่าวว่า ร้านค้าปลีกนั้นบริษัทมีการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 8 สาขาทั่วโลก คาดว่าจะยังคงขยายตัวสม่ำเสมอในระดับนี้ต่อไป ส่วนที่สองคือการให้น้ำหนักปลุกปั้นตลาดที่แบรนด์คาดหวังยอดขายเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ “ตลาดใหม่ที่เรายังเดินเตาะแตะเหล่านี้ เราต้องการที่จะลุกขึ้นมาเดินได้อย่างสง่าผ่าเผย” ฐิติพัฒน์กล่าวและสรุปเป้าหมายรายได้จากธุรกิจที่มีอยู่เดิมว่าต้องการเติบโตปีละ 20% ในช่วงปี 2562-64 ส่วนสุดท้ายคือการสร้างธุรกิจใหม่ในชื่อ “THANN Wellness Destination” เป็นการแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจกลุ่มฮอสพิทาลิตี้ โดยพัฒนาโครงการบนที่ดิน 30 ไร่ ใน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ริมแม่น้ำน้อย คอนเซปท์โครงการเน้นความเป็นธรรมชาติ เพื่อรักษาสุขภาพกาย-ใจของผู้เข้าพักด้วยสปาบำบัดและกิจกรรมสันทนาการที่สร้างเสริมสมาธิ เบื้องต้นจะก่อสร้างเป็นวิลล่า บ้านต้นไม้ และอาคารที่พักรวม 46 คีย์ ซึ่งจะเปิดบริการ 36 คีย์แรกในเดือนมีนาคม 2562 และเปิดครบทั้งโครงการภายในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน “เวลเนสก็เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับทุกคนในองค์กรของเรา ต้องไปช้าๆ ก่อน จนกว่าจะมั่นใจ ถ้าขยายไปเมื่อไหร่ก็จะบริหารแบบ management chain ซึ่งเราต้องเป๊ะเวอร์ในแง่ของคู่มือการปฏิบัติงาน (SOP) ถึงจะสามารถส่งต่อขยายไปที่ประเทศอื่นได้” ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็ม "ฐิติพัฒน์ ศุภภัทรานนท์ กรุ่นกลิ่น THANN แบรนด์สปาจากธรรมชาติ" ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ในรูปแบบ e-Magazine