‘Virtual Bank’ ธนาคารไร้สาขา โอกาสของทุนใหญ่หรือคนไทยจะเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น - Forbes Thailand

‘Virtual Bank’ ธนาคารไร้สาขา โอกาสของทุนใหญ่หรือคนไทยจะเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

หลายปีมานี้ธุรกรรมการเงินสามารถทำผ่านช่องทางดิจิทัลได้มากขึ้น ไม่ว่าจะฝาก โอน ถอน ไปจนถึงการขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ จนเกิดบริการมากมายทั้ง Digital Banking, E-wallet ฯลฯ ล่าสุดคนไทยใกล้จะมี ‘Virtual Bank’ หรือธนาคารไร้สาขามาเป็นอีกทางเลือกแล้ว เพราะล่าสุดแบงก์ชาติประกาศว่ามีคนสมัครขอใบอนุญาตฯ ถึง 5 ราย และปีหน้าจะประกาศชื่อ ‘ตัวจริง’ ที่ผ่านเงื่อนไขต่างๆ


แต่ Virtual Bank จะต่างจากบริการการเงินดิจิทัลอื่นๆ มากแค่ไหน และนำสู่คำถามที่ว่า ทุนใหญ่ที่ไม่ใช่ธนาคารแบบดั้งเดิมจะเข้ามามีบทบาทในวงการการเงินไทยอย่างไร


ทำไมประเทศไทยต้องมี ‘Virtual Bank’

    Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้คำนิยามไว้ว่า เป็นธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลักโดยไม่มีสาขา ไม่มีเครื่องถอน-ฝากเงินสด แต่สามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างครบวงจร (เช่น โอนเงิน ออมทรัพย์ ให้สินเชื่อ ฯลฯ)
แน่นอนว่าเมื่อไม่มีสาขา ต้นทุนต่างๆ จะลดลง เช่น ไม่มีค่าจ้างพนักงานสาขา ค่าสถานที่ และอื่นๆ ที่สำคัญ Virtual Bank จะต้องนำข้อมูลทางเลือกที่หลากหลายมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อออกแบบบริการการเงินที่เหมาะสม และบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

    ทั้งนี้ Virtual Bank ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในต่างประเทศอาจเรียกในชื่ออื่น เช่น Diigital Bank (สิงคโปร์และมาเลเซีย) Internet-only Bank (เกาหลีใต้และไต้หวัน) Neobank (สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย) และ Virtual Bank (ฮ่องกง) ซึ่งให้บริการในหลายแบบ เช่น เงินฝากที่มีฟีเจอร์ใหม่ๆ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นต้น

    ในส่วนของไทยมีข่าวคราวมาหลายปีแล้ว แต่ธปท. มาเปิดรับสมัครให้ขอใบอนุญาตฯ ช่วงปลาย มี.ค. ถึง 19 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา และวางเป้าหมายไว้ว่า Virtual Bank จะเข้ามายกระดับบริการในลูกค้ารายย่อยและธุรกิจ SMEs เป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน (unserved) และกลุ่มที่เข้าถึงแล้ว แต่ยังได้รับบริการไม่เพียงพอหรือไม่ครบวงจร (underserved) ได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญคือสร้างการแข่งขันให้เกิดบริการที่ดีขึ้น ทั้งด้านราคา และการเข้าถึง

    หากดูเงื่อนไขหลักของคนที่จะเปิด Virtual Bank คือ ต้องเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีธรรมภิบาล เก่งเรื่องเทคโนโลยีเพราะต้องดูแลข้อมูลของลูกค้า ฯลฯ ที่สำคัญต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว (ในช่วงแรก) 5,000 ล้านบาทขึ้นไป ช่วงหลังต้องปรับเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท จากเงื่อนไขนี้เลยทำให้หลายฝ่ายคาดว่าต้องเป็น ‘ทุนใหญ่’ ที่เข้ามาสมัคร


คาด ‘ทุนใหญ่’ จับมือกลุ่มการเงินชิงใบอนุญาตฯ ธปท. เผยมีผู้สมัคร 5 ราย

    หลังจากแบงก์ชาติปิดรับสมัครยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เมื่อ 19 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ยื่นคำขอรวม 5 ราย ซึ่งหลังจากนี้ ธปท. จะพิจารณาคุณสมบัติ ศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ก่อนเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อ และคาดว่าจะประกาศรายชื่อให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้ภายในช่วงกลางปี 2568

    โดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ซึ่งธปท. วางแผนว่า จะให้ใบอนุญาต 3 รายในช่วงเริ่มแรก

    แม้ว่าในประกาศล่าสุด แบงก์ชาติจะไม่ได้เปิดเผยรายชื่อผู้สมัคร Virtual Bank ทั้ง 5 ราย แต่มีแหล่งข่าวจากธุรกิจ Fintech (ข้อมูลจาก Bangkok Post) ที่คาดว่าจะมี 5 กลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สนใจและเข้ามาสมัคร ได้แก่

    1. SeaMoney Thailand ที่ให้บริการการเงินดิจิทัลทั้งการชำระเงิน และสินเชื่อผ่าน ShopeePay และ SPayLater

    2. บมจ. วีจีไอ (VGI) ในเครือ BTS คาดว่าจะร่วมมือกับ ธนาคารกรุงเทพ

    3. SCB X บริษัทแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะร่วมกับ KakaoBank (ธนาคารดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้) และ WeBank (ธนาคารดิจิทัลจากจีน)

    4. TrueMoney ในเครือ CP โดยจะร่วมมือกับ Ant Group Fintech บริษัทลูกของ Alibaba Group จากจีน

    5. บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf) มีความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย (KTB) บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR)


Virtual Bank จะมาแข่งหนี้นอกระบบ แต่ในระยะยาวอาจแข่งกับแบงก์ดั้งเดิม

    หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว Virtual Bank จะต่างจาก บริการการเงินแบบดิจิทัลที่มีอยู่ในตลาดมากมายตอนนี้ ‘มากแค่ไหน’ ทาง ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เล่าไว้ว่า เมื่อเทียบธุรกิจการเงินที่เป็นดิจิทัลอื่นๆ อาจไม่ต่างจาก Virtual Bank มากนัก แต่เป็นการยกระดับและเข้าสู่ธุรกิจการให้กู้ได้มากขึ้น

    “Virtual Bank เขาเห็นความเสี่ยงที่เยอะกว่า (แบงก์) แต่เขาเห็นผลตอบแทนที่เยอะกว่าด้วย” ดร.สมประวิณ กล่าวต่อว่า การมี Virtual Bank อาจทำให้การแข่งขันในระบบแบงก์เปลี่ยนไป แต่ไม่ใช่ในระยะสั้นที่จะไปแข่งกับหนี้นอกระบบ แต่ระยะยาวถ้า Virtual Bank เขามี Dynamic Pricing คือลดดอกเบี้ยมาเรื่อยๆ ได้ จากการที่เห็นคน (พฤติกรรม) ดีขึ้นได้เรื่อยๆ ณ วันที่ดอกเบี้ยเขาเท่ากับธนาคารจึงเริ่มจะแข่งขันกัน

    อย่างไรก็ตาม Virtual Bank จะทำให้ Spectrum ของการทำธุรกิจมันครบขึ้น คนไทยมีความเสี่ยงที่หลากหลาย ไม่เหมือนญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่ำ คนไทยมีความเสี่ยงตั้งแต่ต่ำจนถึงสูง และคนไทยส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงเพราะอยู่นอกระบบ

    “ระบบ Banking ที่ปัจจุบันเราทำ เราไปยกระบบ Banking ของระบบที่มีความเสี่ยงต่ำมา แปลว่าคนส่วนใหญ่ก็เข้าถึงไม่ได้ การมี Virtual Bank เป็น Business Model ที่ Exposed (รับ) ความเสี่ยงที่สูงกว่า และตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ” ดร.สมประวิณ กล่าว
แต่เชื่อว่า Virtual Bank จะช่วยเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน และอาจจะช่วยเรื่องแก้หนี้ ได้หากสามารถช่วยให้คนรีไฟแนนซ์จากหนี้นอกระบบเข้ามาในระบบได้ และถ้าให้ดียิ่งขึ้น Virtual Bank ต้องต่อยอดจากแบงก์ปกติด้วย เช่น หากมีลูกค้าที่ดีอยู่ใน Virtual Bank จะสามารถปรับเข้ามาอยู่ในระบบธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า

    สุดท้ายนี้ Virtual Bank จะสร้างความแตกต่าง หรือมีความแปลกใหม่ได้แค่ไหน ยังคงต้องติดตามกันว่า กลุ่มทุนใหญ่ค่ายไหนจะได้รับใบอนุญาตฯ Virtual Bank และจะใช้ข้อมูลทางเลือกต่างๆ มาออกแบบให้เหมาะสมกับคนไทย รวมถึงสามารถสร้างรายได้ให้อยู่รอดท่ามกลางอุตสาหกรรมการเงินที่มีคู่แข่งหลากหลายรูปแบบนี้อย่างไร



Image by freepik



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อ่านกรณีศึกษา Virtual Bank ในเกาหลีใต้-สิงคโปร์-จีน พร้อมวิเคราะห์โอกาสของธุรกิจนี้ในไทย

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine

TAGGED ON

AIS