"โลกทุนนิยม" ที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกา - Forbes Thailand

"โลกทุนนิยม" ที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกา

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Oct 2020 | 11:42 AM
READ 5145

การระบาดของไวรัสโคโรนากำลังเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจอยู่ทุกชั่วโมงในทุกๆ วัน ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ที่ดีกว่า ยุติธรรมกว่า ชาญฉลาดยิ่งกว่า และมันกำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้บน โลกทุนนิยม แห่งสหรัฐอเมริกา

2020 เป็นปีที่ช่างน่าเหลือเชื่อจนเหมือนกับทุกคนติดอยู่ในวนลูปแห่งเวลา นาฬิกาเดินช้าลง กิจกรรมสันทนาการฆ่าเวลาและสิ่งจำเป็นของศตวรรษก่อนถูกหยิบมาปัดฝุ่นจากชั้นวางของ ตั้งแต่ตัวต่อจิ๊กซอว์ไปจนถึงยีสต์ แต่ในเวลาเดียวกัน โลกกลับกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบทุนนิยมเป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีพลังมากที่สุด เท่าที่เคยมีมา แต่ระบบทุนนิยมอยู่ภายใต้แรงกดดัน ก่อนการระบาดของไวรัสโคโรนาแม้จะมีการจ้างงาน และการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างน่าประทับใจตลอด ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ชาวอเมริกันจำนวนมากบอกว่า พวกเขารู้สึกเหมือนกับว่าทั้งระบบมีแต่คำโกหก พวกเขาพบว่า การทำงานหนักและการเล่นตามกติกา ไม่ได้แปลว่า จะประสบความสำเร็จอีกต่อไป “มันน่ากลัว เวลาที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ชาวละติน หรือผู้หญิง” Michael Milken กล่าว เขาเองตกอยู่ในวัฏจักรนี้มาหลายครั้งหลายครา “หลายคนรู้สึกอย่างนั้น” ในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ความรู้สึกนั้นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว เมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของ “ยุคก่อนโควิด” Forbes สำรวจชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี จำนวน 1,000 คน เกี่ยวกับระบบทุนนิยมและสังคมนิยมพบว่า ครึ่งหนึ่งยอมรับระบบทุนนิยม และร้อยละ 43 เทใจ ให้สังคมนิยม แต่ในเวลา 10 สัปดาห์มียอดผู้เสียชีวิตสูงแตะ 80,000 คน มีการลงทะเบียนขอรับสวัสดิการว่างงาน 20 ล้านรายชื่อ Forbes ทำการสำรวจเดิมอีกครั้ง และพบว่า ผลลัพธ์ที่น่าหดหู่อยู่แล้วนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ในเวลานี้มีผู้ที่ยอมรับระบบทุนนิยมลดลงเหลือร้อยละ 46 สวนทางกับระบบสังคมนิยมที่ได้คะแนนไปถึงร้อยละ 47 สะท้อนให้เห็นว่า ความรู้สึกของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว ความคิดเรื่องรายได้พื้นฐานอันเป็นสากล การยกเว้นค่าเช่า และการรับประกันการจ้างงาน จากที่เคยเป็นเรื่องไกลตัวกลับกลายเป็นประเด็นสำคัญในเวลาอันรวดเร็ว  

-บทที่ 1 โอกาสที่เท่าเทียมมาก่อนผลลัพธ์ที่เท่าเทียม-

โรคระบาดได้เผยให้เห็นรอยแยกที่ขยายใหญ่และกำลังสร้างปัญหาให้กับสหรัฐฯ เมื่อชุมชนชาวผิวสีต้องทนทุกข์กับการเจ็บป่วย เสียชีวิต และว่างงานอย่างไร้ความเท่าเทียม Robert Smith เศรษฐีชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้สร้างตัวจนรวยที่สุดด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มโอกาสแก่กลุ่มคนผิวสีรุ่นเยาว์ที่โด่งดังที่สุดคือ การประกาศชำระเงินกู้ยืมให้กับนักศึกษารุ่น 2019 แห่ง Morehouse College ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์กลางงานรับปริญญา ซึ่งได้ยินกันไปทั่วทั้งโลก ทั้งนี้เมื่อเดือนเมษายนตอนสหรัฐฯ เปิดตัวโครงการ PPP (สินเชื่อคุ้มครองธุรกิจ) กันไปแบบเงอะๆ งะๆ บรรดาบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า มีเส้นสายดีกว่า และเล่นเกมเก่งกว่า รุมตะครุบเงินก้อนแรกจำนวน 3.5 แสนล้านเหรียญไปในเวลาไม่กี่วัน ทำให้ Smith ไม่พอใจอย่างมาก ในช่วงเวลา 3 สัปดาห์ก่อนถึงรอบปล่อยสินเชื่อ ครั้งที่ 2 Smith จึงได้มองหาวิธีแก้ปัญหา ประเด็นสำคัญคือ สินเชื่อ PPP จะจ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานบริหารธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นระบบที่มีเพียงธนาคารขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ “70% ของชุมชนชาวแอฟริกัน-อเมริกันไม่มีธนาคาร” Smith กล่าว หรือต่อให้มีก็คาดว่า ธุรกิจของชาวแอฟริกัน-อเมริกันราว 90% เป็นธุรกิจส่วนตัวที่ไม่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับธนาคารแบบที่ช่วยผลักดันลูกค้ารายใหญ่กว่าให้ขึ้นไปอยู่แถวหน้า Smith ให้บริษัทเทคโนโลยี การเงินแห่งหนึ่งของเขาคือ FinAstra สร้างโปรแกรมแพตช์ จากนั้นส่งคำขอไปยังสภา National Council of Black Churches ถึง 30,000 สาขาด้วยตนเองเพื่อแจ้งให้ผู้ที่เคยโดนตัดโอกาสก่อนหน้านี้ทราบว่า พวกเขาสามารถเข้าถึงเงินต่อชีวิตก้อนนี้ได้แล้ว ในการปล่อยสินเชื่อ PPP รอบที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคมมีการดำเนินการสินเชื่อ 90,000 รายการผ่านช่องทางนี้ Smith มีวิสัยทัศน์คือ อยากเห็นระบบที่มีธนาคารขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมสู่สถาบันการเงินที่ให้บริการแก่ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตัวเมืองหรือชนบท โดยกำหนดให้เป็นเงื่อนไขของธนาคารเหล่านั้นที่จะได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของ SBA นอกจากนี้ระบบซอฟต์แวร์เดียวกันยังทำาให้การดำเนินงานราบรื่น สำหรับสินเชื่อรายย่อยเหล่านี้โดยทั่วไปแล้วมักจะมีอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต่ำกว่า และเมื่อนำมารวมกันป้อนเข้าสู่ตลาดรองแล้วจะทำให้ธนาคารมีสายธุรกิจใหม่ ผู้กู้ยืมรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่แหล่งใหม่ “ผลตอบแทนจากการลงทุนตรงนี้มันสูงมาก” Smith กล่าว “เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งระบบนิเวศสำหรับธุรกิจขนาดกลางและย่อมได้ทันที”  

-บทที่ 2 ผู้มีส่วนได้เสียมาก่อนผู้ถือหุ้น-

นับตั้งแต่โรคระบาดเป็นเหตุให้แรงงานใน New York ต้องกลับไปอยู่บ้านเมื่อเดือนมีนาคม Hans Vestberg ซีอีโอของ Verizon ก็เริ่มเรียกประชุมสภาที่ปรึกษาทุกวัน 8 โมงเช้าเสมือนอยู่ในสงคราม “การตัดสินใจเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อนเอาเสียเลย” Vestberg กล่าว เขาประเมินคร่าวๆ ว่า เขาต้องตัดสินใจในสิ่งที่อาจทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อีก 5 ปีข้างหน้าอย่างน้อยวันละ 2 หน ตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตการณ์ ทีม 30 คนของเขาต้องตัดสินใจแก้ปัญหาทุกอย่างโดยมองผ่านแท่งแก้ว 4 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านมีระดับความสำคัญต่างกันไปคือ พนักงาน จากนั้นเป็นลูกค้า ต่อมาคือสังคม ส่วนด้านสุดท้ายและท้ายสุดคือ ผู้ถือหุ้น  “ครั้งนี้เราต้องตั้งเข็มทิศให้ชัดเจน” เขากล่าว แล้วระบอบทุนนิยมเพื่อผู้มีส่วนได้เสียในแบบของ Verizon หน้าตาเป็นอย่างไรกัน บริษัทนี้มีพนักงาน 145,000 คน ซึ่ง Vestberg ไม่เลิกจ้างแม้แต่คนเดียว คนที่อยู่หน้างานจะได้เงินค่าเสี่ยงเพิ่ม และพนักงานที่ติดโควิด-19 จะได้ลาป่วย 26 สัปดาห์โดยได้รับค่าจ้างพนักงาน 120,000 คนทำงานอยู่ที่บ้าน และพนักงานอีกมากที่ปัจจุบันไม่มีงานให้ทำจะถูกส่งไปช่วยในโครงการต่างๆ ทั่วบริษัท หรือโครงการอาสาสมัครของ Verizon ซึ่งเป้าหมายไม่ใช่แค่ค่าจ้าง แต่วิธีการนี้ออกแบบมาเพื่อให้พนักงานยังมีจุดมุ่งหมายในช่วงเวลาอันท้าทายนี้ Vestberg ปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนที่ผู้บริหารบ้านเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้งพึงปฏิบัติต่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เขาถามความคิดเห็นของพนักงานทุก 2 สัปดาห์ เพื่อให้ช่วยประเมินผลงานของเขา และกำหนดว่าเขาควรมุ่งสนใจประเด็นใด เขาทำงานอย่างโปร่งใสโดยจัดการแถลงข่าวภายในบริษัทตอนเที่ยงของทุกวันแบบเดียวกับที่ Andrew Cuomo แถลงต่อสื่อมวลชน “เราไม่มีลับลมคมใน ไม่ว่าสิ่งที่เรากำลังทำหรือกระบวนการของเรา” เขากล่าว และเขายังขยายกลุ่มผู้ชมออกไปนอกเหนือจากพนักงานด้วยการถ่ายทอดสด “การสรุปข้อมูล” ผ่าน Twitter เพื่อให้ใครก็ตาม ไม่ว่าลูกค้า ผู้ค้า หรือนักวิเคราะห์จาก Wall Street ได้เข้ามาดู ซึ่งปกติก็มีคนดูกว่า 50,000 คน ในส่วนของลูกค้า Verizon สัญญาว่า จะยังไม่ตัดบริการของลูกค้าที่ไม่มีเงินจ่ายในตอนนี้ นี่คือการกระทำที่ถูกต้องในช่วงเวลาซึ่งการเชื่อมโยงระหว่างบุคคลสำคัญไม่แพ้ไฟฟ้า และเป็นแนวทางที่ฉลาดสำหรับกิจการ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมูลค่าจะถูกประเมินจากการเพิ่มจำนวนของลูกค้า “ถ้าคุณตัดสัญญาณเขา เขาไม่กลับมาแน่” Vestberg กล่าว ในส่วนของสังคม Verizon ให้นักเรียน ม. ปลาย ทุกคนในอเมริกาเป็นสมาชิก New York Times ได้ฟรี รวมทั้งดูแลเรื่องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียน 350 แห่ง และจัดคอนเสิร์ต “Pay It Forward” ให้ดูฟรีผ่านระบบสตรีมมิ่งทุกสัปดาห์ โดยมีศิลปินอย่าง Billie Eilish และ Chance the Rapper มาแสดง แล้วผู้ถือหุ้นว่าอย่างไรบ้าง ดูเหมือนชาว Wall Street จะยอมรับได้ที่ตัวเองมีสถานะเป็นรองตามลำดับชั้นของ Verizon “จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครต่อต้าน” Vestberg กล่าว และถ้าเหล่านักวิเคราะห์ได้รู้เรื่องต่อไปนี้ก็น่าจะช่วยให้หายน้อยใจได้ Forbes จัดทำรายชื่อ 25 บริษัทที่ตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ได้ดีที่สุดเป็นครั้งแรก (อ่านประกอบในเรื่อง) โดยใช้ข้อมูลที่ Just Capital ประมวลขึ้นตามหลักเกณฑ์ 22 ข้อสำหรับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งมีตั้งแต่การปกป้องลูกค้า ไปจนถึงการช่วยดูแลบุคคลที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในภาวะฉุกเฉิน ซึ่ง Verizon ได้อันดับ 1  

-บทที่ 3 ทางแก้ในวันนี้มาก่อนทางแก้ในวันหน้า-

เมื่อเกิดการระบาด Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates ซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ขนาดใหญ่ที่สุด และใช้เหตุผลคาดการณ์สิ่งต่างๆ มากที่สุดในประเทศสังเกตเห็นบางสิ่ง นั่นคือ เมื่อเด็กๆ ในรัฐ Connecticut บ้านเกิดของเขาถูกสั่งให้เรียนหนังสืออยู่ที่บ้านก็เท่ากับตัดสินชะตาให้เด็กฐานะไม่ดีต้องถูกเพื่อนทิ้งห่างไปไกล หลายคนขาดแคลนอาหารและต้องอยู่อย่างแออัด ซึ่งทำให้พวกเขาทั้งไม่มีพื้นที่ส่วนตัวและมีโอกาสป่วยมากขึ้นและเด็ก 22% ไม่มีคอมพิวเตอร์ที่บ้านยังไม่ต้องพูดถึงคอมพิวเตอร์ส่วนตัว หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตดีๆ ด้วยซ้ำ “ผมได้เห็นโศกนาฏกรรมของจริง” Dalio กล่าว “และได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันแล้วพูดว่า เรื่องแบบนี้ต้องไม่เกิดขึ้น” Dalio บริจาคเงิน 100 ล้านเหรียญเพื่อช่วยขับเคลื่อนโครงการนี้ตั้งแต่แรก และรัฐ Connecticut ก็มอบเงินจำนวนเท่ากันเพิ่มให้อีก “คนกลุ่มนั้น” ซึ่งมีทั้ง Bill Gates กับ Microsoft และ Michael Dell กับ Dell Computer รวมทั้งสมาชิกสภาและผู้นำด้านการศึกษาของ Nutmeg State ช่วยกันนำเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมใช้งาน 60,000 เครื่อง ไปมอบให้นักเรียนในครอบครัวรายได้น้อย สำหรับ Dalio ผู้ซึ่ง Forbes ประเมินว่ามีทรัพย์สิน 1.8 หมื่นล้านเหรียญ การตัดสินใจเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะนี่คือผลลัพธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนตามหัวใจของระบอบทุนนิยมที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการกุศลในปัจจุบันกำลังมุ่งไปในทิศทางไหน ปัญญาชนกลุ่มหนึ่งแสดงความไม่พอใจการกุศลในระยะหลังและแย้งว่า พวกเศรษฐีควรถูกเก็บภาษีให้หนักเหมือนโดนยึดทรัพย์ เพื่อไม่ให้เหล่าคนรวยที่สุดมีอิทธิพลต่อสังคมมากขนาดนี้ ซึ่งมันเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่ห่วยแตก เพราะแม้เศรษฐีพันล้านส่วนใหญ่จะเตรียมใจถูกเก็บภาษีเพิ่มในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเอาไว้แล้ว ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งปี 2020 แต่การตั้งอัตราภาษีสูงลิบแบบที่วง The Beatles เคยโดนกลับจะกดให้เศรษฐกิจไม่โตมากกว่าจะสร้างรายได้ แต่การกุศลอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็ชวนให้ถูกเพ่งเล็งจริงๆ เพราะแม้รัฐบาลจะช่วยสนับสนุนอย่างมากด้วยการลดหย่อนภาษีให้ล่วงหน้า แต่ก็ยังมีเงินประมาณ 4 ล้านล้านเหรียญที่วางกองไว้อย่างไร้จุดหมายเพื่อรอชีวิตอยู่” ตัวอย่างแรกคือ Jack Dorsey วัย 43 ปี ผู้ก่อตั้ง Twitter และ Square ซึ่งเพิ่งเป็นข่าวใหญ่ด้วยการสัญญาจะบริจาคเงิน 1 พันล้านเหรียญ เพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตไวรัสโคโรนาและปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดยเขาบันทึกยอดเงินที่บริจาคแต่ละครั้งลงในไฟล์ Google Doc ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณชน เมื่อเดือนพฤษภาคมกลุ่มผู้ใจบุญและกลุ่มวิชาชีพต่างๆ กว่า 275 คน ซึ่งนำโดยกองทุน Wallace Global Fund มูลค่า 100 ล้านเหรียญ เรียกร้องต่อรัฐสภาของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการให้เพิ่มเกณฑ์การใช้เงินขั้นต่ำของมูลนิธิและกองทุนแบบ DAF เป็น 10% สำหรับช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้มีการนำเงินอีก 2 แสนล้านเหรียญออกมาทำประโยชน์ “ประเด็นสำคัญไม่ใช่การทุ่มเงินซื้อป้ายหินมาตั้งบอกว่า โลงศพคุณฝังอยู่ตรงนี้” Abigail Disney กล่าว เธอเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงนาม “คุณควรสนใจว่าโลกต้องการอะไร ไม่ใช่สนใจว่าผู้คนจะจดจำคุณแบบไหน” เดิมพันครั้งนี้สูงที่สุด เพราะความสับสนอลหม่านด้านเศรษฐกิจจะทำาให้สิ่งอื่นๆ ยิ่งปรากฏชัด ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ระบอบคอมมิวนิสต์ ลัทธิโดดเดี่ยว (isolationism) และแนวคิดชาติภูมินิยม (nativism) ต่างพุ่งขึ้นมา ทั้งที่สมัยนั้นยังไม่มีสื่อโซเชียลด้วยซ้ำ แต่ 1 ทศวรรษหลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจอเมริกันกลายเป็นที่อิจฉาของคนทั่วโลก และแรงงานชาวอเมริกันก็มีคุณภาพชีวิตดีเกินกว่าที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายของพวกเขาจะเคยฝันถึง ตอนนี้พวกเรายืนอยู่ตรงทางแยกเดิม เราจะก้าวไปสู่ระบอบทุนนิยมที่ยิ่งใหญ่ขึ้น หรือจะปล่อยให้สังคมหลุดลุ่ยต่อไป แล้วเลือกทางเลือกที่น่าเบื่อซึ่งมองว่า วิกฤตครั้งนี้ไม่ได้ให้อะไรแก่เราเลย “เราจะต้องปฏิวัติในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” Dalio กล่าว “เราจะปล่อยให้มันแย่ หรือเราจะลงมือทำกันอย่างรอบคอบร่วมกัน” อ่านเพิ่มเติม: 10 สุดยอด “บริษัทนายจ้าง” กู้วิกฤตจากโควิด-19
คลิกอ่านฉบับเต็ม “ทุนนิยมที่เหนือกว่า” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine