ดนตรีดีและฟรีมีในโลก - Forbes Thailand

ดนตรีดีและฟรีมีในโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Sep 2017 | 03:39 PM
READ 6511

จำนวนการดาวน์โหลดเพลงผ่านสื่อดิจิทัล ตลอดจนยอดขายอัลบั้มซีดีกำลังลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่จริงแล้วทุกวันนี้เราฟังเพลงกันมากขึ้น นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับศิลปินที่มีช่องทางสื่อสารกับแฟนๆ อย่ำงเช่น THE WEEKND

หาก Steve Jobs ยังมีชีวิตอยู่ตอนที่ Apple เปิดตัวบริการสตรีมมิ่ง Apple Music เมื่อ 2 ปีก่อน เขาก็คงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะได้เป็นผู้นำในการเปิดตัวครั้งนั้น แต่ในเวลานั้น Jobs คงง่วนอยู่กับการสร้างผลงานฝากไว้ในโลกอื่นๆ เสียแล้ว ส่วนที่ปรากฏในงานตัวจริงคือ Drake และ The Weeknd 2 ศิลปินหนุ่มเจ้าของแนวดนตรีผสมผสานระหว่างฮิปฮอป ป็อป และอาร์แอนด์บี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Weeknd ซึ่งเปิดการแสดงสดเป็นครั้งแรกกับเพลงใหม่ “Can’t Feel My Face” สร้างความประทับใจให้กับแฟนๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับ “Can’t Feel My Face” เปิดตัวเป็นครั้งแรกผ่านช่องทาง Apple Music ก่อนจะเรียกจำนวนการเข้าชมได้กว่า 1.5 พันล้านครั้งในทุกช่องทางสตรีมมิ่งหลายๆ คน รวมทั้ง The Weeknd เองรู้ดีว่าสตรีมมิ่งไม่ใช่ช่องทางดนตรีแห่งอนาคตอีกต่อไปเพราะมันเกิดขึ้นแล้วจริงๆ แม้ยอดดาวน์โหลดสื่อดิจิทัลกับยอดขายอัลบั้มจริงจะทรุดตัวอย่างหนัก แต่สตรีมมิ่งกลับผลักดันให้ปริมาณการฟังดนตรีรวมทุกช่องทางเพิ่มขึ้น หลังจากที่ Drake (ติดอันดับ 4 ด้วยรายได้ 94 ล้านเหรียญ) กับ The Weeknd (อันดับ 6 ที่ 92 ล้านเหรียญ) มีการสตรีมมิ่งรวมกันทั้งสิ้น 1.75 หมื่นล้านครั้ง นำมาสู่โอกาสทำเงินช่องทางใหม่ๆ เช่น รายได้จากการทัวร์คอนเสิร์ต “เราอยู่ในโลกที่ศิลปินไม่ได้ทำเงินจากผลงานดนตรีในรูปแบบที่เราเคยมีในยุครุ่งเรืองกันแล้ว รายได้จริงๆ จะมาก็ตอนเราขึ้นเวทีแสดงนั่นแหละครับ” The Weeknd วัย 27 ปีกล่าว “ปัจจัยที่หนุนให้แฟนคลับของ The Weeknd และ Drake ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นคือการผสมผสานระหว่างฐานแฟนคลับทั่วโลกที่ได้ฟังดนตรีของพวกเขาแบบฟรีๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย ขณะที่พวกเขาเองก็ปล่อยเพลงใหม่ออกมาเรื่อยๆ บวกกับมีการสื่อสารกับแฟนๆ อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด” Michael Rapinหัวหน้า Live Nation กล่าว “มันคือรูปแบบการปล่อยเพลงให้ฟังกันในราคาถูก จากนั้นจึงทำรายได้จากการทัวร์คอนเสิร์ตและผู้สนับสนุน" ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Chance the Rapper (อันดับ 95 ที่ 33 ล้านเหรียญ) ศิลปินหนุ่มวัย 24 ปีไม่เคยขายอัลบั้มเพลงหรือเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอะไรเลย แต่ใช้วิธีปล่อยผลงานผ่านบริการสตรีมมิ่งไปเรื่อย วิธีการนี้ทำให้เขามียอดการเข้าฟังมากพอที่จะสร้างรายได้มหาศาล นอกจากนี้ยังทำเงินได้อีกมากมายจากการแสดงคอนเสิร์ตสุดอู้ฟู่ทั้งตามงานเทศกาลและเวทีการแสดงของตนเอง ตลอดจนสัญญากับแบรนด์ดังอย่าง Apple และ Kit Kat ซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายกับการทำธุรกิจแบบ “ฟรีเมียม” ที่แอพพลิเคชั่นต่างๆ นำไปใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้วไม่ว่าจะเป็น Tinder หรือ Candy Crush นั่นคือแจกของฟรีให้คนส่วนมาก ก่อนจะเก็บค่าบริการจากแฟนพันธุ์แท้กลุ่มเล็ก The Weeknd เลือกใช้รูปแบบดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มต้นอาชีพศิลปิน เขาเป็นบุตรชายของผู้อพยพชาวเอธิโอเปียที่หนีจากภาวะอดอยากที่ระบาดทางภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกาในยุค 1980 The Weeknd เกิดที่ Toronto โดยมีคุณแม่และคุณยายเป็นผู้เลี้ยงดู พออายุได้ 17 ปี เขาก็หนีออกจากบ้านและเลิกเรียนหนังสือ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งเกือบจะเป็นจุดจบของทุกสิ่งทุกอย่างเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม ในปี 2010 เขาก็เริ่มบันทึกผลงานดนตรี ซึ่งเป็นการผสมผสานแนวดนตรีที่เหมาะสำหรับเปิดในงานปาร์ตี้ พร้อมจัดทำเป็นอัลบั้มเผยแพร่ให้ชมกันฟรีๆ ทาง YouTube โดยเลือกชื่อ The Weeknd มาใช้เป็นนามปากกาลับ “ผมไม่อยากเปิดเผยตัวจริง เพราะอยากจะให้แฟนๆ ชอบผมจากผลงานศิลปะทางดนตรีของผมจริงๆ” ถ้าหากเป็นธุรกิจบันเทิงสมัยก่อน The Weeknd อาจจะต้องรอให้ค่ายเพลงเห็นแวว แต่ในกรณีนี้กลับเป็นฐานแฟนคลับต่างหากที่มองเห็นแววของเขาขณะที่บริการสตรีมมิ่งนั่นเองที่ผลักดันให้ค่ายเพลงต่างๆ หันมาควักเงินลงทุน สำหรับในอนาคตนั้น The Weeknd ก็ฉลาดไม่น้อย โดยเขากำลังจับตามองธุรกิจบันเทิงด้านอื่นๆ ที่เคยได้รับอิทธิพลจากนวัตกรรมสตรีมมิ่ง “ตอนที่ผมเขียนเพลง ผมมองว่ามันเป็นหนังคือเป็นการบอกเล่าเรื่องราวสำคัญๆ สักเรื่อง” The Weeknd กล่าว ก่อนจะเปิดเผยก้าวต่อไปของตัวเองว่า “ผมจะทำเพลงออกมาอีกเรื่อยๆ และหวังว่าสักวันจะได้มีโอกาสได้ทำงานศิลปะที่ถือเป็นรักแรกของผม คืองานภาพยนตร์นั่นเอง” Netflix ได้ยินแว่วๆ ไหม? เรื่อง: Zack O,Malley Greenburg เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม ติดตาม 10 อันดับแรกของการจัดอันดับ CELEB100 คนดังที่ทำรายได้สูงสุดในโลกประจำปี 2017 ที่นี่
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจจากทั่วโลกได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ สิงหาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine