ชีวิตที่ผันผวนสุดโต่งของ กิตติ พัวถาวรสกุล ได้ก้าวเข้าสู่ความนิ่งด้วยพลังแห่งศรัทธา สติ และธรรมะ ผนวกกับเป็นคนที่ชอบริเริ่มและกล้าได้กล้าเสีย เขากำลังมุ่งมานะผลักดัน บมจ.เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ ก้าวออกจากมาตุภูมิไทยไปเป็นผู้เล่นระดับโลก เป็นบริษัทจัดการโลจิสติกส์ครบวงจร ขนส่งสินค้าทั่วทุกทวีป
บทสนทนากว่า 2 ชั่วโมงกับ กิตติ พัวถาวรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) (NCL) เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตก่อนและหลังสร้างบริษัท อัดแน่นไปด้วยเหตุการณ์ผันผวนสุดโต่ง แต่ปัจจุบันชีวิตของกิตติในวัย 53 ปี เข้าสู่โลกแห่งสมดุล กำลังหลอมรวมความคิด ความเชื่อ และความศรัทธา ลงในวิสัยทัศน์ของ NCL ให้เป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ให้บริการจัดการโลจิสติกส์ครบวงจรในระดับโลก
“คุณมาถูกที่ละ” กิตติเกริ่นกับ Forbes Thailand พร้อมเสียงหัวเราะดังลั่นอย่างมีความสุข “ชีวิตผมมีแต่เรื่องตื่นเต้น”
กิตติเติบโตในครอบครัวใหญ่ ที่บ้านมีฐานะร่ำรวย อากงของเขาอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาปักหลักปักฐานที่เยาวราช ทำธุรกิจสีย้อมผ้าและปล่อยเงินกู้ กิตติในวัยเด็กเติบโตที่สำเพ็งได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี วันหนึ่งคุณพ่อของเขาเสียพนันจนฐานะการเงินทางบ้านย่ำแย่ถึงขั้นล้มละลาย
แม้ฐานะไม่ดีเหมือนก่อน แต่มารดาก็เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาและตระหนักถึงความมั่นคงในชีวิตของลูกชาย เขาได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ด้านการตลาด เมื่อขึ้นปี 4 เทอมสุดท้าย เขาย้ายไปเรียนภาคค่ำ โดยตัดสินใจหางานทำควบคู่ไปกับการเรียน เขาได้งานที่บริษัท K Line ประเทศไทย บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ เป็นธุรกิจใหญ่ระหว่างประเทศ และนี่คือจุดเริ่มต้นของเขาที่เข้าสู่ธุรกิจขนส่ง
ชิมลางธุรกิจชิปปิ้ง
กิตติตัดสินใจเข้าทำงานในวงการชิปปิ้งเพราะมองว่าเป็นงานที่น่า “ท้าทาย” ด้วยเงินเดือนเริ่มต้นที่ 5,500 บาท แต่งานเซลส์ที่รับผิดชอบก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่เขาก็กัดฟันทนเพราะคิดว่าทำงานที่ไหนก็มีปัญหาเหมือนกัน
จนวันหนึ่งได้รับผิดชอบตลาดโซนอเมริกา ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะเป็นตลาดที่ยากและมีปัญหาเยอะ ก่อนลุยงานเขาได้รับแฟ้มขนาดใหญ่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดจากบริษัท เพื่อศึกษาและเขาก็ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทุกอย่างจากกฎระเบียบศุลกากรจนถึงการจัดการสินค้า ความรู้ที่ได้มาเขาไม่รู้มาก่อนว่าจะเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้า ที่จะใช้จัดการใน NCL ที่เขาสร้างขึ้น
“ทำงานปีเดียวก็ได้เป็นเซลส์ระดับท็อป ลูกค้าที่มีปัญหากับบริษัทผมก็แก้ปัญหาหมด วิธีผมคือติดต่อและไปเผชิญหน้ากับเขา เพื่อให้เขา ‘ด่า’ โดยเฉพาะ เขาด่าแหลกจนเริ่มสงสารและให้ออร์เดอร์มาทำ งานเราก็เริ่มลื่นไหลขึ้น”
จากนั้นเขาก็ย้ายงานไปบริษัทแห่งใหม่ได้เงินเดือน 45,000 บาท พ่วงด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการการตลาด ที่นี่ เขาค้นพบโมเดลการทำธุรกิจใหม่ คือบริหารพื้นที่ตู้คอนเทนเนอร์ให้ได้กำไรสูงสุด เป็นการซอยพื้นที่ขายเหมือนพื้นที่ค้าปลีก หรือที่เรียกว่าการบริการขนส่งแบบไม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์ (LCL) โดยเขามุ่งจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นซัพพลายเออร์ส่งสินค้าน้อยที่แต่ก่อนไม่มีทางเลือกต้องเช่าทั้งตู้ ธุรกิจประสบความสำเร็จมาก มีกำไรในปีแรกราว 10 ล้านบาท
ตกต่ำก่อนเติบโต
ระหว่างทางกิตติยังทำธุรกิจของตัวเอง แต่ก็ปิดตัวต่อมาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากพฤษภาทมิฬ จากนั้นก็ตกงานและหวนเข้าสู่วงการชิปปิ้งอีกครั้ง ได้งานที่บริษัท KYC ที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ แต่ไม่กี่เดือนต่อมาบริษัทแม่ก็ประกาศล้มละลาย ชีวิตของกิตติก็ระหกระเหินอีกครั้ง
แต่กระนั้น ในวิกฤตก็มีโอกาสเช่นกัน กิตติถามตัวเองว่าจะเอาอย่างไรต่อไป เขารวบรวมพลังที่มีอยู่อีกครั้ง เข้าพูดคุยกับเครือข่ายทั้ง 4 แห่งของ KYC ที่ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน และที่ Los Angeles และได้บทสรุปว่า ทั้งหมดจะดำเนินธุรกิจต่อไป โดยแต่ละแห่งบริหารงานอย่างเป็นเอกเทศ แต่ใช้ชื่อร่วมกันว่า NCL เพื่อเอื้อประโยชน์ด้านเครือข่ายระหว่างกัน
NCL เปิดตัวขึ้นในปี 2537 เริ่มกิจการเป็นผู้ให้บริการขนส่งระหว่างประเทศแบบไม่เต็มตู้คอนเทนเนอร์ ในเส้นทางประเทศไทย-สหรัฐฯ และขยายไปยังทวีปเอเชียและยุโรปในปี 2539 และปี 2543 ตามลำดับ โดยบริษัทมุ่งหาซัพพลายเออร์ที่ส่งออกสินค้าจำนวนไม่มาก
แต่การกลับมาของกิตติครั้งนี้ได้เจออุปสรรคใหญ่คือ พันธมิตรที่เป็นเรือขนส่งในอดีตที่ไม่ชอบ ได้ให้ราคาเช่าตู้คอนเทนเนอร์ค่อนข้างสูงกับบริษัท ทำให้ได้กำไรค่อนข้างน้อย แต่เขาก็แก้ปัญหาโดยเพิ่มจำนวนการส่งออกเพื่อชดเชยกำไรที่หายไป พร้อมกับติดต่อกับบริษัทแม่ของบริษัทเรือนั้นๆ ที่ตั้งอยู่ต่างประเทศโดยตรง เพื่อขออัตราเช่าในราคาพิเศษ ซึ่งเขาประสบความสำเร็จ เห็นได้จาก NCL เป็นบริษัทไทยอันดับ 1 ที่ส่งสินค้าไปอเมริกาด้วยปริมาณสูงสุด โดยธุรกิจของเขาเติบโตสุดในช่วงวิกฤตเงินบาทในปี 2540 จากเดิมมีกำไรอยู่ราว 4-5 ล้านต่อปี พุ่งขึ้นเป็น 30-40 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทที่ขึ้นมาเป็น 50 กว่าบาท
NCL จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเมื่อปี 2557 เป็นกลุ่มบริษัทจัดการโลจิสติกส์ครบวงจร มีบริษัทย่อยในกลุ่มบริษัททั้งสิ้น 10 บริษัท ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2562 กิตติถือหุ้นอยู่ 29.97% อย่างไรก็ตาม ผลกำไรสุทธิของ NCL ยังค่อนข้างต่ำ โดยปี 2561 อยู่ที่ 3.16 ล้านบาท จากรายได้รวม 1.22 พันล้านบาท ขณะที่กำไรในครึ่งปีแรกของปี 2562 อยู่ที่ 4.57 ล้านบาท จากรายได้รวม 681.74 ล้านบาท
กิตติบอกว่า ผลกำไรที่ค่อนข้างต่ำ ณ ปัจจุบัน เป็นเพราะบริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนในต่างประเทศ และเชื่อว่าผลกำไรในอนาคตจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยปีนี้รายได้รวมทั้งปีคาดว่าจะราว 1.3-1.5 พันล้านบาท และจะมีกำไรสุทธิเติบโตอย่ง “โดดเด่น”
ลุยตลาดโลก
ก่อนเข้าระดมทุนในตลาดฯ กิตติคิดเสมอว่า จะมุ่งหาโอกาสใหม่ๆในตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ ในปี 2557 เขาจึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นภายใต้ชื่อ NCL Inter Logistics (S) Pte., Ltd ในประเทศสิงคโปร์ โดย NCL ถือหุ้น 100% มีทุนจดทะเบียนในปี 2561 ราว 1.57 ล้านเหรียญสิงคโปร์ และในปีนี้จะเพิ่มเป็น 2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อใช้เป็นฐานการขยายเครือข่ายการขนส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากนั้นได้ตั้งบริษัทย่อยในประเทศสหรัฐฯ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมที่อินเดียที่จะตั้งในอนาคต โดยใช้ NCL สิงคโปร์เข้าถือหุ้น ปัจจุบันขนส่งสินค้าไปจำหน่ายครอบคลุม 180 ประเทศทั่วโลก
“ทุกประเทศล้วนมีกิจกรรมโลจิสติกส์ มีนำเข้าส่งออกตลอดเวลา นี่คือโอกาสของเรา”
อ่านเพิ่มเติม- “สามมิตร” พลิกการผลิตรถบรรทุก สู่บริการโลจิสติกส์
- ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ยกระดับโลจิสติกส์สู่ซัพพลายเชนแห่งอาเซียน
คลิกอ่านฉบับเต็ม กิตติ พัวถาวรสกุล พลังแห่งศรัทธา สร้าง NCL ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine