ย่านสวนหลวง เป็นหนึ่งในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังทยอยปรับปรุงเป็นอาคารห้องแถวและโครงการขนาดใหญ่ โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ที่ได้ให้สัญญาเช่ากับ JWD Group ภายใต้การบริหารงานของ ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา
JWD Store It! ตั้งอยู่ที่ อาคาร ซัย วอล์ค ซอยจุฬาลงกรณ์ 16 เปิดสาขาที่ 2 ที่ให้บริการเช่าห้องเก็บของแบบ Self-Storage ที่เป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจฉลองครบรอบ 40 ปี และรุกการแข่งขันด้านโลจิสติกส์อันหลากหลายครอบคลุมการบริการทั้งด้าน B2C และ B2B ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจเมื่อ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เข้ามารุกแข่งขันตลาดโลจิสติกส์ B2C แบบครบวงจร โดยเฉพาะการได้จับมือกับพันธมิตรอย่าง CJ Logistics ยักษ์ใหญ่แห่งวงการขนส่งจากประเทศเกาหลีใต้ที่โดดเด่นในเรื่องนวัตกรรมการจัดการระบบขนส่งสินค้าซึ่งมาลงทุนเต็มตัวในประเทศไทย ในขณะที่ตัวเลขการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง JWD Store It! สาขาสยามแห่งนี้เป็นสาขาที่ 2 และเป็นสถานที่นัดพบกับ ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อเปิดตัวการรุกธุรกิจ B2C ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น โดยมีสาขาแรกตั้งอยู่ที่ศรีกรีฑาไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ สาขาที่ 3 ย่านเทียมร่วมมิตร และสาขาที่ 4 ที่รามอินทรา บริการการเช่าแบบ Self-Storage ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เพราะในต่างประเทศมีบริการการเช่าแบบนี้จนเป็นเรื่องปกติ เพื่อเก็บเอกสารสำคัญสำหรับออฟฟิศ เพื่อเก็บสิ่งของที่ต้องการรักษาของบางครอบครัวเนื่องจากพื้นที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ อาทิ ประเทศสิงคโปร์ซึ่งราคาที่ดินสูงลิ่วและยังเป็นที่ตั้งของ Store It! Self Storage สิงคโปร์ พันธมิตรธุรกิจที่ร่วมกันทำธุรกิจกับ JWD Group จากแนวคิดดังกล่าวถูกมาปรับใช้กับเทรนด์ อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งหน้าร้านในการขายของอีกต่อไป โดย JWD Store It! สาขาสยาม ถือเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ ชวนินทร์ ตั้งเป้าบริการเก็บสินค้าให้กับพ่อค้าแม่ขายจากแหล่งช็อปปิ้งย่านสยาม มาบุญครอง และอาคารสำนักงานใกล้เคียง นอกจากบริการเช่า Self-Storage แล้วนั้น ชวนินทร์เตรียมสร้าง Art Space เพื่อให้บริการจัดเก็บงานศิลปะและเป็น Art Gallery ในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงให้บริการเซฟที่มีความปลอดภัยชั้นสูง “เรื่องโลจิสติกส์เราแบ่งออกเป็นสองขาคือขา B2B กับขา B2C ด้าน B2B เราทำอยู่แล้วแต่สาเหตุที่ต้องเพิ่ม B2C เพราะเรามองว่าเทรนด์ธุรกิจออนไลน์หรืออี-คอมเมิร์ซเติบโตอย่างต่อเนื่อง สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการหลายรายมองหาที่จัดเก็บสินค้าแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นต่ำหรือบริการที่ไม่ตอบโจทย์ ทำให้เรามุ่งเป้าให้บริการรองรับกลุ่ม B2C ตรงนี้ เราเชื่อว่าการขนส่งแบบ Last Mile Delivery (การจัดส่งสินค้าในช่วงสุดท้าย) กำลังจะเติบโตควบคู่กับธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ไปอีกหลายเท่า” ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา กล่าวคว้าโอกาสโลจิสติกส์ใน CLMV
Forbes Thailand ฉบับ ตุลาคม 2557 ได้พูดคุยกับ ชวนินทร์ ทายาทธุรกิจ JWD Group ซึ่งภารกิจในครั้งนั้นของชวนินทร์คือการรุกอาเซียนและการสานต่อธุรกิจครอบครัว บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2522 ให้บริการเรื่องคลังสินค้าและโลจิสติกส์ภาคพื้นดินมาอย่างยาวนานให้เติบโต ทันสมัย และสามารถขยายศักยภาพที่มีให้กว้างไกลครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค- อ่านเพิ่มเติม JWD Group: คว้าโอกาสโลจิสติกส์ใน CLMV
ปรับทัพรับเทรนด์ธุรกิจ ฉลอง 40 ปี JWD Group
การปูพรมสร้างธุรกิจในหลายๆ ประเทศของอาเซียนทำให้บริการของ JWD Group ครอบคลุมใน 8 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว อินโดนีเซีย ไต้หวัน เวียดนาม ส่วน สิงคโปร์และมาเลเซียใช้ทางช่องทางพันธมิตรของ CJ Logistics ในการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ประเทศพิลิปปินส์มีแผนเตรียมการลงทุนในปลายปี 2562 ชวนินทร์ ได้มอบของขวัญชิ้นใหม่ในการฉลอง JWD Group ครบรอบปีที่ 40 เมื่อต้นปี 2562 ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจและต่อยอดความสำเร็จจากการสร้างฐานในต่างประเทศ ด้วยการแบ่งธุรกิจเป็นโครงสร้างหลักภายใต้ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ กลุ่มธุรกิจอาหาร กลุ่มธุรกิจอินเวสต์เม้นต์ และกลุ่มธุรกิจไอที 4 ธุรกิจหลักของ JWD Group ยังคงให้บริการรับฝากและบริหารคลังสินค้าครอบคลุมสินค้าทั่วไป สินค้าอันตราย ยานยนต์และส่วนประกอบ สินค้าควบคุมอุณหภูมิแช่เย็นและแช่แข็ง บริการขนส่งสินค้าในประเทศและขนส่งสินค้าข้ามแดน การรับขนย้ายในประเทศและต่างประเทศที่เจาะกลุ่มบุคคลและองค์กร ให้บริการรับฝากเอกสารและจัดการข้อมูล การให้เช่าอาคารและคลังสินค้า รวมถึงให้บริการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ “หลังจากที่เราขยายฐานทางธุรกิจครบทั่วทุกประเทศในเขตภูมิภาคที่วางไว้ ก็ตั้งใจจะปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้หลากหลายขึ้น โดยการแยกออกเป็นฝั่ง B2B และ B2C พร้อมกับแบ่งประเภทธุรกิจตามโครงสร้างธุรกิจของบริษัทเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนทั้งในการลงทุนหรือบริหาร” ชวนินทร์ กล่าว การเป็นผู้นำในด้านโลจิสติกส์ คลังสินค้า และห้องเย็น รวมถึงมาตรฐานและประสบการณ์ บวกกับความเชื่อมั่นจากการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้ CJ Logistics ประเทศไทย ที่กำลังปัดฝุ่นโครงสร้างธุรกิจในไทยและมองหาพันธมิตรชาวไทยเพื่อเข้ามาร่วมรุกด้านการจัดส่งแบบ Last Mile Delivery เป็นโอกาสเดียวกันกับที่ ชวนินทร์ ต้องการขยายธุรกิจสู่ B2C “CJ Logistics เขาค้นเจอเราจากลิสต์รายชื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากได้พูดคุยจึงได้ต้องทำธุรกิจร่วมกันเกิดเป็นความร่วมมือ CJ คือเบอร์หนึ่งจากเกาหลีใต้มีเครือข่ายรถขนส่งทั่วประเทศ รวมถึงระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะในการบริหารจัดการและให้บริการขนส่ง เรามีความชำนาญเฉพาะทาง มีคลังสินค้าและคลังห้องเย็นที่ได้มาตรฐานระดับโลก มีรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย ดังนั้นการจับมือกันเชื่อว่าเราจะสามารถขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” ชวนินทร์ กล่าวถึงการจับมือกับพันธมิตรเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศ ในขณะที่ธุรกิจนอกประเทศ ชวนินทร์ มีเป้าหมายการเติบโตจากการขยายบริการฟู้ดซัพพลายเชน ซึ่งถือเป็นธุรกิจเรือธงสร้างรายได้หลักในอนาคต และบุกทำตลาดในภูมิภาคเอเชียโดยมีประเทศจีนและไต้หวันเป็นประเทศเป้าหมาย โดยมีการร่วมลงทุนกับ Chi Shan Long Feng Food Co., Ltd หรือ CSLF ผู้นำด้านการให้บริการซัพพลายเชนอาหารรายใหญ่ของไต้หวันที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า 30 ปี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยในการเดินหน้าธุรกิจ CSLF มีฐานการผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับธุรกิจอาหารชั้นนำ ทั้งการนำเข้าและส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย มีห้องเย็นแบบครบวงจรคอยดูแล จนถึงการจัดส่งสินค้าสู่มือลูกค้าภายใต้ขนาดและแพ็กเกจที่ตรงกับความต้องการ ทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบต่ำลง “จากความร่วมมือทำให้เราเชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพที่มากพอในการนำเข้า จัดเก็บ และส่งต่อสินค้าเหล่านี้ในห้องเย็นที่มีมาตรฐานที่สุด” ชวนินทร์กล่าว สำหรับอีกสองกลุ่มธุรกิจคือ กลุ่มธุรกิจอินเวสต์เม้นต์ และ กลุ่มไอที นั้น ชวนินทร์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าสำหรับกลุ่มธุรกิจอินเวสต์เม้นต์เน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโลจิสติกส์ และการลงทุนที่มีศักยภาพในการเติบโต ด้านกลุ่มไอที JWD Group เตรียมนำเทคโนโลยีมาเป็นใช้แกนหลักในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจเรียกว่า “Business Intelligence” ซึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาตัดสินใจและพยากรณ์ความต้องการของลูกค้าได้ล่วงหน้า รวมไปถึงการนำเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และ Robot มาเสริมทัพ “ทุกวันนี้การจ้างงานของเราลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนในอุตสาหกรรมของเรามีไม่เพียงพอและค่าแรงขั้นต่ำของเมืองไทยก็ปรับสูงขึ้น ขณะที่การแข่งขันในเรื่องของราคาก็รุนแรง ทำให้เราต้องเตรียมวางแผนลดกำลังคนในแต่ละโปรเจ็กต์ลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วเอาหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ ซึ่งปัจจุบันคลังสินค้าออโตเมติกส์แห่งแรกที่มหาชัยได้นำหุ่นยนต์ขนย้ายมาใช้แล้ว” ชวนินทร์ กล่าวและเสริมว่า “ประโยชน์ของการนำโรโบติกส์มาใช้ไม่ได้ลดแค่ต้นทุนในเรื่องของการจ้างงานอย่างเดียว แต่เป็นการลดต้นทุนในเรื่องของพลังงานด้วย โดยเฉพาะค่าไฟในห้องเย็นส่งผลให้เราสามารถบริหารต้นทุนได้คล่องขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจ หากเราลดต้นทุนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำก็จะสบายและจ่ายได้ในราคาที่น้อยลง” จากเป้าหมายขยายฐานธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วเอเชียภายในปี 2020 วันนี้ JWD Group ทำได้สำเร็จก่อนเวลาที่วางไว้ ชวนินทร์ ชี้ชัดความสำเร็จสำคัญคือศักยภาพของทีมงาน การบุกไปทำตลาดยังต่างประเทศ ผนวกกับการวางกลยุทธ์และทิศทางอย่างมีชั้นเชิง “ถ้าอยากเติบโตต้องกล้าลงไปเสี่ยงในสนามใหม่ๆ และความกล้าที่จะออกจาก Comfort Zone เดิมๆ ยิ่งทำให้โตได้เร็วขึ้น เนื่องจากขนาดของพื้นที่ที่มีให้เล่นมันกว้างกว่าเดิม แต่นั่นก็เท่ากับว่าคุณต้องสนุกกับการทำงานให้หนักขึ้นด้วยเช่นกัน” หนึ่งในคติการทำงานของชวนินทร์คือ “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” สะท้อนถึงการเป็นผู้นำและบุคลิกที่ดูกระฉับกระเฉง และงานอดิเรกในการขับรถแข่งที่เขาร้างลาตั้งแต่ภารกิจนำ JWD Group รุกอาเซียน “อาจฟังดูซ้ำหรือเหมือนคนอื่น แต่ผมชอบ ทุกสิ่งมันจะสำเร็จถ้าเรากล้าลงมือทำ ระหว่างทางอาจเจออุปสรรคบ้าง แต่ถ้าเรายังไม่ยอมแพ้และพุ่งชนมัน มันก็จะผ่านไปได้” ชวนินทร์ทิ้งท้ายด้วยว่า “ผมไม่เชื่อว่าการทำธุรกิจจะเติบโตได้ในประเทศเดียว เพราะทุกอย่างมันมีขีดจำกัด ยิ่งถ้าเราตัวเล็กและอยากโตไวก็ต้องพยายามไขว่คว้า เลือกจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีแนวคิดตรงกัน เพราะเราจะได้ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ช่วยลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี” ภาพ กิตติเดช เจริญพรไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine