เชาว์ โพธิ์ศิริสุข แม่ทัพรุ่น 2 แห่ง “สามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง” ผู้ผลิตตัวถังรถบรรทุกและเทรลเลอร์เบอร์ 1 ของอาเซียน ประสบการณ์สู้วิกฤตตลอด 60 ปีส่งให้สามมิตรแข็งแกร่งและพร้อมปฏิวัติบริษัท ก้าวจากอุตสาหกรรมการผลิตสู่ธุรกิจบริการโลจิสติกส์ผ่านศูนย์ซ่อมบำรุงรถบรรทุก “เอสเอ็มเอ็ม โปรทรัค”
เชาว์ โพธิ์ศิริสุข ประธานกรรมการ สามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง ในวัย 80 ปีก้าวลงจากรถตู้ส่วนตัวท่ามกลางแดดร้อนยามบ่าย แม้การเคลื่อนไหวของ “ท่านประธาน” จะช้าไปตามวัย แต่ความคิดและวิสัยทัศน์ของเขายังคงเฉียบคม
โดย Forbes Thailand นัดพูดคุยกับเชาว์และลูกๆ ของเขาอีก 2 คนคือ ยงยุทธ โพธิ์ศิริสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน) และ รัตนา สถิรมน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่โรงงานประกอบตัวถังรถบรรทุกใน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โรงงาน 1 ใน 11 แห่งที่สามมิตรมีทั้งในไทยและต่างประเทศ
ปีนี้เป็นที่ 60 ของบริษัทที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน โดยเชาว์ถือเป็นผู้บุกเบิกร่วมกับ สุพจน์ โพธิ์ศิริสุข คุณพ่อของเขาผู้สร้างบริษัทผลิตอะไหล่รถบรรทุกขึ้น
"คุณพ่อมีความรู้ด้านช่าง โดยเราสร้างเครื่องจักรขึ้นมาเองหมดเพื่อใช้ผลิต เพราะเมืองไทยยังไม่เคยมีมาก่อน ก็ต้องยอมรับว่าไม่ง่ายครับ ล้มลุกคลุกคลานลองผิดลองถูกมา ใช้เวลา 3 ปี กว่าที่จะได้แหนบสำเร็จรูปที่ใช้ได้จริงๆ”
เชาว์กล่าวถึงความเป็นมา โดยสุพจน์นั้นเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายที่ บริษัท สยามกลการ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถแบรนด์นิสสัน ทำให้ทราบว่ามีความต้องการอะไหล่อย่างแหนบและสปริงในตลาด
สามมิตรจึงกลายเป็นบริษัทแรกของไทยที่ผลิตแหนบรถยนต์ได้เอง ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศและเติบโตได้ดี จนกระทั่งถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งเมื่อเกิดสงครามเวียดนามช่วงปี 2508 ทำให้มีความต้องการรถดัมพ์เหล็ก สามมิตรจึงตัดสินใจเข้าสู่การผลิตตัวถังเหล็กในนาม บริษัท สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ในปี 2510
การตัดสินใจนั้นทำให้สามมิตรมีจุดยืนสำคัญคือการเป็น “Body Maker” ให้กับพาร์ทเนอร์บริษัทต่างชาติที่ผลิตหัวรถบรรทุก รวมถึงส่วนประกอบของยานยนต์ประเภทอื่นด้วย โดยมาถึงปัจจุบันนี้ สามมิตรรับผลิตตัวถังบรรทุกให้กับแบรนด์รถยนต์ทุกค่ายทั้งยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี รวมถึงรับผลิตหลังคารถปิกอัพให้กับรถค่ายยุโรปและญี่ปุ่นทุกยี่ห้อ
เก็บดาต้าจัดแพ็กเกจบริการ
หลังจัดกลุ่มโฮลดิ้งไปเมื่อปี 2560 ปัจจุบันสามมิตรแบ่งธุรกิจภายใต้โฮลดิ้งออกเป็น 8 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจรถบรรทุก รถพ่วง, กลุ่มธุรกิจอะไหล่, กลุ่มธุรกิจปิกอัพดัดแปลง, กลุ่มธุรกิจผู้รับจ้างผลิต (OEM), กลุ่มยานยนต์พลังงานสีเขียว, กลุ่มการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ, กลุ่มธุรกิจอื่นๆ และกลุ่ม SSM Digital Platform โดยรายได้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังมาจากการผลิตตัวถัง
อย่างไรก็ตาม เชาว์กล่าวว่า การดำเนินการของบริษัทต่อจากนี้จะเน้นต่อยอดไปสู่ “การบริการ” ในลักษณะ Logistics Solutions
“เวลายิ่งนานไป ธุรกิจบริการจะยิ่งใหญ่ขึ้น ต่อไปวันหนึ่งการบริการอาจจะใหญ่กว่าธุรกิจภาคการผลิตที่เรามีอยู่ เพราะรถคันหนึ่งใช้งานนาน 10 ปี ทำให้รายได้จะมากกว่า” เชาว์กล่าว
รัตนากล่าวว่า ด้วยโอกาสของธุรกิจการบริการที่มองเห็น ทำให้สามมิตรมีการจับมือร่วมทุนกับ บมจ.พีทีจี เอนเนอยี จัดตั้ง บริษัท สามมิตร พีทีจี โปรทรัค โซลูชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด โดยสามมิตรถือหุ้น 60% และพีทีจีถือหุ้น 40% เพื่อก่อตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุงและจุดพักรถบรรทุก “เอสเอ็มเอ็ม โปรทรัค” ในสถานีบริการน้ำมันพีทีทั่วประเทศ
ในช่วง 20 เดือนที่ผ่านมาเปิดตัวไปแล้ว 10 สาขา ซึ่งศูนย์ฯ โปรทรัคนี้ คอนเซปท์ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง แต่ยังมีการเชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์ผู้รวบรวมดาต้าการใช้งานรถบรรทุกด้วยอุปกรณ์ IoT เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์การใช้งาน เตรียมศึกษาต่อยอดไปจัดทำเป็นแพ็กเกจตรวจเช็กและซ่อมบำรุงรถ
“อุปกรณ์นี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่ารถคุณใช้งานหนักแค่ไหน เช่น ดัมพ์บอดี้มีการยกขึ้นลงวันละกี่ครั้ง เหยียบเบรกบ่อยแค่ไหน เพราะแต่ละอุตสาหกรรม หรือกระทั่งแต่ละบริษัทมีการใช้งานหนักเบาไม่เหมือนกัน เหมือนกับประกันสุขภาพของคน แต่ละคนก็จะได้แพ็กเกจที่ไม่เหมือนกันแล้วแต่สภาพร่างกาย ในอนาคตเมื่อเรามีข้อมูลแล้วเราจะสามารถแยกย่อยได้ระดับรายบริษัท” รัตนาอธิบาย
ขณะที่ยงยุทธกล่าวว่าเป้าหมายของสามมิตร โปรทรัคต้องการขยายสาขาให้ได้ 100 สาขาภายในปี 2567 โดยใช้งบลงทุนประมาณ 10 ล้านบาทต่อสาขา ปัจจุบันแต่ละสาขาที่เปิดอยู่ทำรายได้จากบริการและการขายอะไหล่เฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อเดือน และอนาคตธุรกิจบริการของสามมิตร คาดว่าจะมีสัดส่วนอย่างน้อย 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด
ในแง่โอกาสการตลาด แม้เชาว์จะเห็นว่าศูนย์บริการซ่อมบำรุงรถบรรทุกแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการโลจิสติกส์หากมองสเกลระดับโลก แต่สำหรับในไทยแล้ว ยังไม่เคยมีใครพัฒนามาก่อน
เข้าเกียร์ลุยด้วยอาเซียนและ R&D
ด้านตลาดต่างประเทศของสามมิตร ปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายตัวถังรถบรรทุกในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่กลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) รวมถึงอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเป็นการจัดจำหน่ายตัวถังรถบรรทุกหรือหลังคาปิกอัพพ่วงไปกับหัวรถแบรนด์ต่างๆ ที่สามมิตรเป็นพันธมิตรด้วย แบบที่เรียกได้ว่า มีหัวรถที่ไหนก็มีตัวถังสามมิตรตามไปขายที่นั่น
อย่างไรก็ตาม ยงยุทธกล่าวว่า รายได้จากตลาดต่างประเทศยังมีส่วนน้อยเพียง 5% ของทั้งเครือ แต่สัดส่วน 5% นั้น บริษัทคาดหวังว่าจะขยายขึ้นในอนาคต มีตลาดที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือตลาดอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีประชากรถึง 269 ล้านคนจึงน่าจะมีดีมานด์ด้านโลจิสติกส์สูง
รัตนาเสริมว่าสามมิตรเริ่มต้นบุกตลาดอินโดนีเซียตั้งแต่ 5 ปีก่อน ผ่านการจับมือพาร์ทเนอร์เพื่อผลิตตัวถังรถบรรทุกแบรนด์ SMM ทดลองทำตลาด ก่อนที่จะลงทุน 50 ล้านบาท ก่อตั้งโรงงานผลิตประกอบตัวถังรถดัมพ์ขึ้นในอินโดนีเซียเมื่อปี 2560 ส่วนตลาดฟิลิปปินส์คาดว่าจะสามารถลงทุนก่อตั้งโรงงานประกอบตัวถังรถได้ภายในปีนี้
สามมิตรยังให้ความสำคัญกับศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) โดยมีกลุ่มวิศวกร R&D ทั้งที่ไทยและจีน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญที่สามมิตรวางรากฐานมานาน 20 กว่าปี ทำให้มีพันธมิตรในการพัฒนาร่วมกัน และมีการใช้งบลงทุนใน R&D ไม่ต่ำกว่า 2% ของรายได้แต่ละปี
เขายังกล่าวถึงการลงทุน SSM Digital Platform เก็บดาต้าจากรถบรรทุกและศูนย์ฯ โปรทรัคที่กล่าวข้างต้นด้วยว่า เปรียบเสมือนกับโครงการ R&D คือมีความเสี่ยงสูง และต้องลงทุนเพาะปลูกไปก่อนล่วงหน้าเพื่อรอ “การเก็บเกี่ยว” ในอนาคต
“นวัตกรรมพวกนี้ ซอฟต์แวร์ IoT ลงทุนเยอะและจับต้องไม่ได้ ลงไปเท่าไหร่ก็ต้องหมดไปก่อน มันก็เป็นความเสี่ยง เพราะไม่มีหลักประกัน คนทำ IoT นำไปค้ำประกันกับธนาคารไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ทำจะล้าหลัง ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน” ประธานแห่งสามมิตรกล่าว
คงปรัชญา “ซื่อสัตย์-หมั่นเพียร”
ประธานกรรมการของสามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน 60 ปีพร้อมๆ กับการก่อตั้งบริษัท และยังคงเป็นหัวเรือในการจับทิศทางอย่างทันสมัยแก่ลูกๆ รุ่น 3 กล่าวถึงวิธีการบริหารงานในรุ่นของเขาและรุ่นลูกหรือกระทั่งรุ่นหลานว่า มีทั้งความเหมือนและความต่าง
สิ่งหนึ่งที่ต้องมีเหมือนเดิมคือความซื่อสัตย์ มิฉะนั้นจะไม่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและซัพพลายเออร์ ธุรกิจก็จะเดินต่อไปไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งคือความขยันหมั่นเพียร แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว เพียงคุณสมบัติ 2 ข้อนี้อาจไม่เพียงพออีกต่อไป
“รุ่นก่อนๆ อย่างผมเนี่ยต้องขยัน อดทน ประหยัด แต่อีกรุ่นหนึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน คือคนรวยหรือคนจนขึ้นอยู่ที่สมอง เพราะฉะนั้นไปสอนลูกหลานว่าคุณต้องขยันอดทน อันนี้ผิดแล้ว ถ้าขยันอดทนแต่ทำแบบเดิมมันก็อยู่ไม่ได้ ผมสอนลูกหลานก็บอกแบบนี้” เชาว์กล่าว
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ "สามมิตร พลิกการผลิตรถบรรทุก สู่บริการโลจิสติกส์" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ สิงหาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine