ซวนเซด้วยหนี้ก้อนโตจากพิษต้มยำกุ้ง แต่พิทักษ์ รัชกิจประการฮึดขึ้นสู้ปรับโครงสร้างหนี้ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี จนสำเร็จและนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯวันนี้ ธุรกิจปั๊มน้ำมันพีทีผงาดขึ้นอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง พร้อมต่อกรกับยักษ์ใหญ่ในตลาด
หลังจบจากคณะประมงสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2530 บัณฑิตป้ายแดง พิทักษ์ รัชกิจประการ และเพื่อนร่วมรุ่นอีก 4 คน ตีตั๋วรถบัสแดงไปเสี่ยงดวงที่อำเภอคลองโคน สมุทรสงคราม เพื่อสมัครงานในฟาร์มกุ้งแห่งหนึ่ง แต่ทั้งหมดโชคไม่ดีผู้จัดการฟาร์มไม่อยู่เพื่อนของเขายินดีจะกลับมาสมัครงานอีกครั้ง ขณะที่ พิทักษ์ ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวจบความคิดที่จะเป็นลูกจ้าง เขาเดินทางกลับบ้านที่หาดใหญ่เพื่อช่วยครอบครัวดูแลธุรกิจ “สงสัยชีวิตกำหนดให้ทำเลย ไม่ใช่ทำให้คนอื่นเจ๊ง ในเมื่อเป็นลูกจ้างไม่ได้ ก็ไป “วัด” กันเลย ไม่ต้องนั่งเรียนรู้” พิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เปิดใจกับ Forbes Thailand กล่าวย้อนไปในช่วงวัย 20 ต้นๆ ครอบครัวรัชกิจประการ ทำธุรกิจหลากหลายในจังหวัดภาคใต้ อาทิ ปั๊มน้ำมันสวนปาล์ม รังนก ฟาร์มกุ้ง เขาได้รับมอบหมายให้ดูแลธุรกิจฟาร์มกุ้งไม่กี่ไร่แต่สอนให้เขาเรียนรู้และอดทนในการทำงาน หลังเรียนจบด้าน MBA มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ปี 2535 พี่ชายของเขาจึงเรียกเข้ามาช่วยงานที่บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิงจำกัด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี) ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายกิจการปั๊มน้ำมันพีที และนี่คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา พร้อมๆ กับเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวธุรกิจปั๊มน้ำมัน 5 หมื่นล้าน ล้มแล้วลุก พิทักษ์เข้ามาช่วยในช่วงที่บริษัทมีสถานีน้ำมันเพียง 24 สาขา เขาเริ่มต้นเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อน้ำมัน รับผิดชอบประสานงานสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ เขาพบว่าในช่วง 15-20 ปีทีแล้ว ธุรกิจน้ำมันกำไรน้อยมาก และเมื่อยิ่งเป็นแบรนด์ที่ไม่รู้จักในตลาดการทำธุรกิจก็จะลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังสามารถเติบโตไปด้วยดี ช่วงปี 2538-2539 บริษัทสถานีบริการพีทีขายน้ำมันได้ราว 1,500 ล้านลิตรต่อปี สามารถต่อกรอย่างคู่คี่สูสีมากับค่ายสถานีน้ำมันบางจาก แต่โชคไม่ดีในปี 2540 บริษัทต้องเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ต้องล้มแผนขยายธุรกิจลง เพราะเจอหนี้สิ้นก้อนโตถึง 3,600 ล้านบาท จากภาระดอกเบี้ยทับถมและค่าเงินบาทที่ตกฮวบ บริษัทจำใจต้องรัดเข็มขัดและนำบริษัทเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ทันทีโดยผู้บริหารเบอร์หนึ่งของบริษัทประกาศไม่รับเงินเดือน ขณะที่ตำแหน่งถัดลงมาถูกตัดเงินเดือน 10% พร้อมกับมาตรการรัดเข็มขัดทุกด้าน ในปี 2549 พิทักษ์ ก้าวขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โดยรับหน้าที่ช่วยปรับโครงสร้างหนี้และชำระหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้สำเร็จ จนมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 1,400 ล้านบาท ด้วยผลงานที่เป็นที่ยอมรับ ในปี 2550 เขาจึงก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการ แม้จะแก้ปัญหาการเงินได้ แต่พิทักษ์บอกว่าบริษัทก็ยังเหมือนผู้ป่วยออกจาก “ห้องไอซียู” ยังอยู่ในรถเข็น ไม่มีทุนที่จะทำให้องค์กรเติบโต ทำให้เขาตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556 และสามารถระดมทุนได้ 1,600 ล้านบาท และการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่เอง ยังผลให้แบรนด์พีทีเป็นที่รู้จักมากขึ้นไม่ว่าจากซัพพลายเออร์และผู้บริโภคน้ำมันรายย่อย “ชีวิตในช่วงวิกฤตมันก็เครียด ก็ท้อ ท้อได้ แต่ไม่ควรอยู่กับมันนาน ท้อได้แต่อย่าถอย...เราเชื่อ ไม่มีใครโชคร้ายตลอด” พิทักษ์ ย้อนถึงความรู้สึกในปี 2540 พิทักษ์ คาดว่า ธุรกิจของบริษัทยังสามารถเติบโตได้อีก โดยยอดขายปี 2559 จะเพิ่มขึ้น 30-40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามการเติบโตของการขยายสถานีน้ำมันที่คาดว่าจะเปิดครบ 1,500 สาขาในปีนี้ เพิ่มจากเดิมราว 1,150 สาขาในปี 2558 และในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถขยายครบ 1,200 สาขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว “3-5 ปีข้างหน้า เราต้องการเป็นเบอร์ 1 ด้านจำนวนสถานีน้ำมันของประเทศ พร้อมคาดหวังจะเป็นเบอร์ 2 ขายน้ำมันสูงสุดผ่านปั๊ม” พิทักษ์กล่าว ลุกแล้วลุย เมื่อ PTG เริ่มแข็งแกร่ง บริษัทจึงเดินเครื่องขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอย่างรอบด้าน ในปี 2557 บริษัทยังได้ลงทุนในโครงการปาล์มน้ำมันวงจร (palm complex) มูลค่า 4,800 ล้านบาท โดยมีอีก 2 บริษัทหุ้นส่วนที่ร่วมคือ บริษัท ท่าฉาง (บางสะพาน) น้ำมันปาล์ม จำกัด และบริษัทอาร์แอนด์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด โดย PTG ถือหุ้น 40% ในบริษัทร่วมทุนที่ทำตั้งแต่การปลูกปาล์มเพื่อนำผลผลิตมาใช้ในการกระบวนการผลิตจนถึงผลิตไบโอดีเซล B100 และน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค คาดว่าโครงการทั้งหมดจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีหน้าและจะเริ่มการผลิตในไตรมาส 2 และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้เสริมความแข็งแกร่งด้านโลจิสติกส์โดยเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT 9.55% ผู้ให้บริการขนส่งนำมันอากาศยาน และน้ำมันภาคพื้นดินผ่านระบบท่อ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานด้านการขนส่งไปคลังน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันทางภาคเหนือ และยังได้ซื้อหุ้นบริษัท อาม่า มารีน จำกัด หรือ AMA จำนวน 32.01% ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางทะเลและทางบก เป็นการบริหารจัดการต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านขนส่งให้ดีขึ้น ปัจจุบัน บริษัทอายุครบ 28 ปี แต่พิทักษ์ยังเปรียบ PTG ว่า ยังเป็น “เด็กน้อย” แต่อนาคตอันใกล้ เด็กน้อยคนนี้จะเริ่ม “บิน” ผู้บริหารวัย 51 ปีบอกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาเขาพยายามวางรากฐานบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง ผ่านการวางแผนการเติบโตในระยะยาว 10 ปี “อนาคตเราจะเข้าไปในธุรกิจ non oil มุ่งเน้นไปเรื่องธุรกิจเซอร์วิสเพราะไม่ต้องสต็อกสินค้า เจอสินค้าเสื่อมสภาพ ไม่มีสินค้าล้าสมัย และธุรกิจเซอร์วิสกำไรดีกว่า” พิทักษ์กล่าว ปัจจุบัน เขาพยายามสื่อสารกับพนักงานทุกส่วนๆ ในองค์กร เรียกว่า “ซีอีโอ ทอลค์” ในปีหนึ่งก็แถลงนโยบายกับพนักงานทั้งหมด หรือในระดับผู้จัดการ ก็จัดทุกๆ ไตรมาสหรือ 2 เดือนครั้ง หรือในยามว่าง เขาก็จะแวะเวียนไปเยี่ยมสถานีน้ำมันในที่ต่างๆ ในวันที่เราไปสัมภาษณ์ เขาก็เพิ่งเสร็จจากการเยี่ยม 5 ปั๊มแถวบางบัวทองและตลิ่งชัน และทุกครั้งที่ไปก็จะมีการแจกน้ำและขนม เพื่อสร้างกำลังใจพนักงาน ขณะที่ทำงานในออฟฟิศเขาเข้างานเช้า 6.30 น และกลับไม่เกิน 1 ทุ่ม ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เขาไม่เคยลาป่วยไม่เคยลาพักร้อน หากไปงานดึก เศรษฐีคนนี้ก็บอกให้คนขับรถกลับก่อน ส่วนเขาจะนั่งแท็กซี่แทน “ทุกวันนี้ ชีวิตไม่ได้มาทำงาน แต่มาดูฝันที่เขียนไว้ ว่าเป็นจริงได้ขนาดไหน” เขากล่าวทิ้งท้าย เรื่อง: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ ภาพ: จันทร์กลาง กันทองคลิ๊กอ่าน "พิทักษ์ รัชกิจประการ ขยายอาณาจักรพีที" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ JULY 2016 ในรูปแบบ e-Magazine