DAVID JOU ปั้น Pomelo แฟชั่นเทคที่ 1 อาเซียน - Forbes Thailand

DAVID JOU ปั้น Pomelo แฟชั่นเทคที่ 1 อาเซียน

หนุ่มลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน จบการศึกษาและทำงานในธุรกิจการเงินชั้นนำที่ New York ผันตัวมาร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพชื่อดังในไทยก่อนจะลุกขึ้นมาพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองในรูปแบบแฟชั่นเทคด้วยเป้าหมายอันดับ 1 ในอาเซียนมาถึงวันนี้ฝันดูไม่ไกลเกินจริง


    David Jou ซีอีโอ Pomelo (โพเมโล) เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน เขาเริ่มต้นธุรกิจมาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี เริ่มจากเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสชื่อดัง Lazada หลังจากนั้น David ได้ลุกขึ้นมาทำแพลตฟอร์มของตัวเองในธุรกิจแฟชั่นที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วย เขาเรียกสิ่งที่ทำนี้ว่า “แฟชั่นเทค” เปิดตัวเมื่อปี 2557 ในชื่อ Pomelo เป็นชื่อแบรนด์ที่จดจำง่าย

    “Pomelo แปลตรงตัวคือ ส้มโอ เป็นผลไม้หวานน้อยที่มีผู้ชมชอบสื่อถึงความสดชื่นและมีประโยชน์ ความหมายตรงไปตรงมาเหมาะกับคอนเซ็ปต์แฟชั่นที่เราทำ” David เผยที่มาของชื่อ Pomelo ในช่วงท้ายๆ ของการสัมภาษณ์ราวไตรมาส 3 ปี 2565 กับทีมงาน Forbes Thailand ซึ่งช่วงนั้นกิจการแฟชั่นบนแอปพลิเคชัน Pomelo กำลังคึกคักผู้คนเริ่มคลายกังวลจากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาจับจ่ายใช้สอย และเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยว

    ตลาดที่พื้นตัวกลับส่งผลให้ Pomelo มียอดขายเพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะในไทย แต่คำสั่งซื้อหลั่งไหลมาจากหลายประเทศ ทั้งตลาดระยะไกลอย่างยุโรปและออสเตรเลีย ขณะที่ตลาดหลักอยู่ในไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเขาหมายมั่นปั้นมือที่จะเจาะตลาดประเทศในอาเซียนเป็นหลัก

    David เปิดแพลตฟอร์มแฟชั่นเทคเพราะมองเห็นโอกาสตลาดที่สดใหม่ของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากว่า 10 ประเทศ ประชากรรวมกันนับพันล้านคน มีความต้องการสินค้าแฟชั่นซึ่งเขามองว่าไทยพร้อมที่สุดในภูมิภาคนี้มีความเหมาะสมหลายด้านจึงเลือกลงทุนในไทย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานเรื่องอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็ว การขนส่งสะดวกสบาย มีระบบโลจิสติกส์ที่ดี มีสายการบินที่พร้อมมากและสภาพเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย


- ธุรกิจต้องทำกำไร -


    David เริ่มต้นธุรกิจแฟชั่นโดยอาศัยพื้นฐานความเป็นเชื้อสายเกาหลีที่มีอยู่ครึ่งหนึ่งเป็นสะพานเชื่อมโยงแฟชั่นจากเกาหลีเข้ามาจำหน่ายในไทย โดยในช่วงแรกๆ เขานำสินค้าแฟชั่นจากเกาหลีมาขายผ่านแพลตฟอร์ม Pomelo โดยมีไทยและหลายประเทศในอาเซียนเป็นฐานลูกค้าหลัก

    “ทุกเดือนเราจะเดินทางไปเกาหลี เลือกสินค้าแฟชั่นหิ้วกลับมาขายในไทย หอบกระเป๋าใบใหญ่ขนสินค้าตัวอย่างเข้ามา” นักธุรกิจหนุ่มวัย 37 ปี บอกเล่าจุดเริ่มต้นของเขาเส้นทางของสตาร์ทอัพแฟชั่นที่เริ่มต้นจากการดูเทรนด์ตลาดและนำสินค้ามาตอบโจทย์


    Pomelo ถือกำเนิดมาจากสินค้าแฟชั่นเกาหลี แต่ David บอกว่า เขาเดินทางไปเลือกซื้อสินค้ามาขายในแบบเดิมๆ อยู่ราว 1 ปี หลังจากนั้นก็ปรับมาเป็นการออกแบบของตัวเอง จ้างดีไซเนอร์ประจำ ออกแบบสินค้าแฟชั่นเองและสั่งผลิต โดยมีโรงงานผลิตทั้งในประเทศไทยและจีน เพราะเมื่อตลาดเติบโตขึ้นจำเป็นตองมีสินค้าที่ผลิตเองออกมารองรับความต้องการ

    มุมมองของ David การบริหารเป็นสิ่งสำคัญ เขาได้แนวคิดนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทำงานอยู่กับสถาบันการเงินที่ New York ซึมซับมาจากเจ้าของกิจการไฟแนนซ์รายใหญ่แห่งนั้นซึ่งเป็นคนฉลาดหลักแหลมมักพูดเสมอว่า การลงทุนต้องเลือกธุรกิจที่มองเห็นโอกาสและอนาคต เลือกธุรกิจที่มีกำไร มีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรธุรกิจนั้นจะยังคงอยู่ได้

    “คุณจะลงทุนในสิ่งต่างๆ เพื่อการเติบโตไม่ได้เลยถ้าธุรกิจของคุณผลกำไรไม่ดี” เขาอธิบายหลักคิดและบอกว่า โดยส่วนตัวเขาเน้นการลงทุนเกี่ยวกับคนค่อนข้างมากเพราะมองว่าบุคลากรมีความสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะลงทุนกับทีมผู้บริหารมีความสำคัญมาก

    “ธุรกิจต้องทำกำไร” ถึงกระนั้นในช่วงเริ่มแรกของ Pomelo ก็ต้องฝ่าฟันไม่น้อยด้วยผลประกอบการขาดทุนอยู่หลายปีแต่ด้วยความเป็นธุรกิจแฟชั่นในคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ขายผ่านออนไลน์ที่สามารถลดข้อจำกัดธุรกิจออนไลน์ได้

    การมีหน้าร้านแบบออฟไลน์หรือที่หลายคนเรียกว่า omni-channel และยังมีบริการให้ลูกค้าทดลองสินค้าได้ไม่ต่างจากร้านค้าดั้งเดิมด้วยบริการส่งสินค้าให้ลองถึงบ้าน หรือ Tap.Try.Buy. เป็นการทำตลาดออนไลน์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีทำให้ที่ผ่านมา Pomelo สามารถเติบโตและระดมทุนมาได้หลายรอบ

    “เราระดมทุนมา 4 รอบ ได้เงินมาทั้งสิ้นประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ” David เผยตัวเลขนี้เมื่อก่อนปลายปี 2565 แต่ล่าสุดอัปเดตเมื่อต้นปี 2566 มีรายงานข่าวว่า Pomelo ได้เงินระดมทุนซีรี่ส์ D อีกราว 20 ล้านเหรียญ และตัวบริษัท Pomelo เองมีมูลค่าราว 308.5 ล้านเหรียญ หรือ กว่า 10,797 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลจาก DealStreetAsia)


- อินเทรนด์เสมอ -

    ซีอีโอหนุ่มเผยว่า ตอนที่เขาเริ่มเปิด Pomelo ยอมรับว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ “ผมเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในสินค้ากลุ่มแฟชั่น ผมรู้จักอี-คอมเมิร์ซไม่รู้จักแฟชั่นแต่ผมก็มีความสนใจในธุรกิจแฟชั่นอยู่แล้ว” David ย้อนเล่าที่มาในช่วงเริ่มธุรกิจแฟชั่นเทคว่า

    เขาได้ไอเดียมาจาก Dongdaemun ถนนสายแฟชั่นชื่อดังของเกาหลีใต้ ที่เต็มไปด้วยร้านจำหน่ายสินค้าแฟชั่นนับพันร้าน มีสินค้าแฟชั่นในทุกสไตล์ให้เลือกซื้อ เขาคิดว่าทำอย่างไรจะนำสินค้าแฟชั่นเหล่านี้เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เขามองเห็นโอกาสการทำตลาดแฟชั่นในอาเซียน

    “ผมใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 1 ปีทุกเดือนจะบินไปเกาหลีช่วงวันจันทร์และบินกลับมาไทยในวันศุกร์เพื่อนำสินค้าต้นแบบกลับมา” หลังจากนั้น David รับทีมงานเพิ่มจากพนักงานรุ่นแรก 8 ชีวิตเมื่อครั้งที่ใช้คอนโดมิเนียมในซอยสุขุมวิท 24 เป็นสำนักงานที่เอ็มโพเรียมเพลสซึ่งเขาบอกว่ามีสตูดิโอที่นี่และมีโกดังสินค้าอยู่ในที่เดียวกันในคอนโดฯ

    “ออฟฟิศอยู่ในห้องนอน สตูดิโออยู่ในห้องนั่งเล่น และโกดังอยู่ชั้นบน เพราะเป็นคอนโดแบบ 3 ห้องนอนดูเพล็กซ์ พื้นที่ประมาณ 200 ตารางเมตร” เขาบอกเล่าความทรงจำนี้พร้อมรอยยิ้มเล็กๆ ก่อนจะเปรยว่าสำหรับการเป็นที่อยู่อาศัยคอนโดฯ นี้ก็ถือว่าใหญ่ แต่สำหรับการเป็นออฟฟิศถือว่าเล็กไปหน่อย แต่ถึงกระนั้นเขาก็ใช้ออฟฟิศในคอนโดฯ อยู่ราว 1 ปี หลังจากนั้นก็ได้เงินทุนก้อนแรกเข้ามาจากกองทุนเพื่อการลงทุน (VC) ของสิงคโปร์


    เส้นทางการเติบโตของ Pomelo ในฐานะสตาร์ทอัพด้านแฟชั่นเทคเรียกความฮือฮาในตลาดได้พอสมควร เมื่อครั้งที่สามารถระดมทุนได้ถึง 52 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.6 พันล้านบาท จาก Central Group, Provident Growth Fund, InterVest Star SEA Growth Fund, Andre Hoffmann, Toivo Annus, Lombard Private Equity, Ambient Sound Investments OU และ The Luxembourg Company Deverel ทำให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพแรกในไทยที่สามารถระดมเงินทุนในระดับซีรี่ส์ C ได้ ก่อนจะระดมทุนซีรี่ส์ D สำเร็จเมื่อเดือนมกราคม ปี 2566

    ตอนที่เปิด Pomelo ใหม่ๆ เราขายออนไลน์เป็นหลัก ไม่มีหน้าร้านไม่มีช็อปให้ลูกค้าเลือก แต่ปัจจุบันนี้มี 30 แห่ง (ณ เดือนกันยายน ปี 2565) อยู่ในหลายห้างใหญ่ เป็นห้างชั้นนำทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว และมีในต่างประเทศที่ Kuala Lumpur มาเลเซีย 1 สโตร์, สิงคโปร์ 3 สโตร์ และ จาการ์ตา 2 สโตร์ โดยที่ต่างประเทศเปิดเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินทุนก้อนแรก จากนั้นก็ย้ายออฟฟิศใหม่

    ซึ่งปัจจุบันใช้พื้นที่ในอาคารเดอะ ปาร์ค ถนนพระราม 4 เป็นสำนักงาน ซึ่งออกแบบตกแต่งอย่างสวยงาม มีพื้นที่ใช้สอยเป็นฟังก์ชันพิเศษที่ดูสนุกสนานและเป็นกันเองมีส่วนของออฟฟิศ ห้องสตูดิโอ สำหรับถ่ายภาพสินค้าเพื่อโปรโมทผ่านออนไลน์

    มีพื้นที่ทาวน์ฮอลล์ให้พนักงานได้พบปะมีมุมส่วนตัวในการนั่งคิดงาน และมีพื้นที่เชื่อมโยงกิจกรรมของพนักงาน พร้อมออกแบบกิจกรรมให้พนักงานมีส่วนร่วมและอยากมาทำงานที่ออฟฟิศหลังจากหลายคนชินกับการทำงานแบบ work from home มาพักใหญ่


- พันธมิตรแบรนด์ดัง -


    นอกจากตัวเลขยอดขายที่เติบโตต่อเนื่องการยอมรับในฐานะแฟชั่นเทคของ Pomelo ก็เติบโตและแข็งแรงขึ้นทุกปี กลยุทธ์ของ David เขาไม่ได้ขายเพียงสินค้าแบรนด์ตัวเอง แต่ได้ขยายความร่วมมือ จำหน่ายสินค้าให้แบรนด์พันธมิตรกว่า 700 แบรนด์เป็นอินเตอร์แบรนด์ส่วนใหญ่ เช่น สินค้าในกลุ่มท็อปแบรนด์ที่ระบุในเว็บไซต์ Pomelo

    อินเตอร์แบรนด์ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรทำให้ Pomelo มีภาพลักษณ์อยู่ในกลุ่มเดียวกันแต่มีความแตกต่างกับแบรนด์แฟชั่นจากยุโรปและอเมริกาใน 3 สิ่งคือ ข้อแรก Pomelo เป็นแบรนด์ที่มีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความเป็น localize ทั้งในเรื่องของขนาด แบบและวัสดุที่ใช้ เนื้อผ้าที่เหมาะกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกอย่างออกแบบมาเพื่อคนเอเชีย

    ความแตกต่างที่ 2 คือ เป็นแบรนด์ที่เข้าถึงง่าย มีของให้เลือกมากมายในแอปพลิเคชันของ Pomelo และหลากหลายอารมณ์คล้ายการเลือกดูหนังใน Netflix คือมีความหลากหลายและเลือกได้

    ส่วนความแตกต่างข้อที่ 3 คือ Pomelo เป็นแพลตฟอร์มแฟชั่น ออนไลน์ที่เป็น omni-channel มีทั้งซื้อแบบออนไลน์ ขณะเดียวกันสามารถนัดลองสินค้าจริงได้ผ่านสโตร์แบบออฟไลน์ที่มีอยู่มากกว่า 30 แห่ง และลองสินค้าก่อนซื้อได้ด้วยบริการ Tap.Try.Buy. ซึ่งเป็นบริการจัดส่งสินค้าให้ลองถึงบ้านก่อนตัดสินใจซื้อ

    “การส่งสินค้าให้ลูกค้าลองก่อนซื้อเราเป็นคนทำเจ้าแรก ทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจและมั่นใจในการซื้อสินค้าของ Pomelo”


    บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแบบนี้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ “เราเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น next wave of evolution คลื่นใหม่ของการขายสินค้าออนไลน์” ลูกค้าสามารถดูสินค้าจากแอปพลิเคชันโดยสแกนคิวอาร์ จากนั้นก็เข้าไปลองสินค้าที่ร้านได้เลยทุกรายการทุกแบรนด์ที่จำหน่ายในแอป Pomelo บริการนี้ตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันแอป Pomelo มียอดดาวน์โหลดประมาณ 50 ล้านยูสเซอร์ และแต่ละเดือนมียูสเซอร์เข้ามาใช้ราว 4-5 ล้านคน

    “เป้าหมายของ Pomelo คือแฟชั่นเทคอันดับ 1 ของอาเซียน” David เผยสิ่งที่เขาคาดหวังซึ่งใกล้ความจริงเข้ามาทุกขณะเรื่องราวและก้าวย่างของ Pomelo ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องอย่างสนุกและเต็มไปด้วยสีสันความสดใหม่ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาด เป็นพลังของธุรกิจแฟชั่นในยุคเทคโนโลยีที่น่าติดตาม

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร


อ่านเพิ่มเติม: "นักธุรกิจหญิง" คนรุ่นใหม่กับผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์สาวๆ ในช่วงมี "รอบเดือน"



คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนเมษายน 2566 ในรูปแบบ e-magazine