เกมจบ แต่สงครามยังไม่จบ - Forbes Thailand

เกมจบ แต่สงครามยังไม่จบ

เบื้องหลังรอยยิ้มแห่งชัยชนะและความหวังของทรูในการใช้คลื่นความถี่สร้างข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง หากแต่ความเป็นจริง การช่วงชิงความเป็นผู้นำในธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคมอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย

นักวิเคราะห์ จาก บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมการแข่งขันการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศว่า ความตื่นตัวทั่วโลกเกี่ยวกับ “Digital Economy”และ "Internet of Things" นับเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เกิด traffic มหาศาล ได้แก่ mobile data ภายใต้ technology 4G หรือ 5G ในอนาคต โดยผู้เล่นในธุรกิจต่างพยายามสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้มากกว่าการถือครองโครงข่ายไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอบริการใหม่จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ และคอนเวอร์เจนซ์ที่ทำให้บริการทุกอย่างไปพร้อมกัน ขณะที่การแข่งขันในประเทศมีปัจจัยผลักดันสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม จาก Voice base เป็น Data base ทำให้เกิดบริการใหม่ที่มีความสำคัญกว่าบริการเดิม (voice) และผู้นำในบริการด้านข้อมูลจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันในอนาคต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรม จากระบบสัญญาสัมปทาน (BTO) เป็น licensing ทำให้เอกชนสามารถที่จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ และมีต้นทุน regulatory ลดลงเหลือ 5.25% บนรายได้ค่าบริการ แต่ต้องจ่ายค่าประมูลแพงล่วงหน้า อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายไม่สามารถเปลี่ยนปริมาณการใช้ data ที่เติบโตขึ้นมหาศาลให้เป็นรายได้ได้ โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (ค่าประมูลหรือการลงโครงข่ายเพิ่ม) จึงกดดันกำไรของกลุ่มโดยตรง หากแต่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเพียงภาพระยะสั้น เพราะเมื่อส่วนแบ่งทางการตลาดเริ่มนิ่ง ผู้แพ้ ผู้ชนะจะถูกกำหนดชัดเจน พร้อมกับตลาดที่คุ้นชินกับการใช้ data ดังนั้น หากการสร้างรายได้อื่นๆ บนบริการ data พื้นฐานเกิดขึ้นได้ โอกาสเติบโตของกำไรจะเกิดขึ้นทันที ในระหว่างการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี DTAC และ AIS จำเป็นต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด การแข่งขันแบบเดิมอาจจะไม่เพียงพอในการรักษาฐานผู้ใช้งานเพราะโครงสร้างคลื่นเสียเปรียบ ดังนั้น DTAC และ AIS จะต้องหาบริการใหม่ๆ ใน data มาเสริมเพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาด และต้องเร่งสร้างคอนเวอร์เจนซ์ให้เกิดขึ้น ภายใน 2-3 ปีนี้ ขณะที่ วสุ มัทนพจนารถ นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีความเห็นเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบต่างออกไป โดยมองว่า TRUE ไม่มีความได้เปรียบเรื่องการถือครองสัญญาณ เนื่องจากในปัจจุบันผู้เล่นทุกรายมีการถือครองทั้งคลื่นสั้น (850MHz, 900MHz) และคลื่นยาว (1800MHz, 2100MHz) โดยความได้เปรียบหลักของ TRUE อยู่ที่ภาพลักษณ์การผู้ประกอบการ 4G รายแรกของไทยที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 ครั้งในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมเป็นถึงความได้เปรียบของ TRUE ในการแจกและขายโทรศัพท์มือถือที่ราคาต่ำกว่าต้นทุน ผ่านทางช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ศูนย์บริการของTRUE และร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 เพื่อแย่งลูกค้า (โดยเฉพาะกลุ่ม prepaid) จากคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจสื่อสารโทรนาคมมีแนวโน้มมั่นคงมากขึ้นหลังจากที่ AIS สามารถประมูลคลื่น 900 MHz กลับมาได้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา และ บริษัทสามารถให้บริการลูกค้า 2G ต่อได้ ในขณะที่ DTAC ประกาศออกสื่อโฆษณาต่างๆ ว่าจะลงทุนโครงข่ายเป็นเงิน 70,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ส่งผลให้ผู้ใช้บริการคลายกังวลเกี่ยวกับการให้บริการของ AIS และ DTAC ตราบใดที่ฝุ่นในสงครามธุรกิจยังไม่หายตลบ.. Don’t count your chickens before they hatch.   เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: กลุ่มทรู
คลิ๊กอ่าน "เกมจบ แต่สงครามยังไม่จบ" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2016 ในรูปแบบ e-Magazine