Power Women: 5 นักธุรกิจหญิงแกร่ง ของเมืองไทย - Forbes Thailand

Power Women: 5 นักธุรกิจหญิงแกร่ง ของเมืองไทย

FORBES THAILAND / ADMIN
08 Mar 2019 | 07:57 PM
READ 28449

8 มีนาคม วันสตรีสากลของทุกปีเวียนมาอีกครั้ง Forbes Thailand ขอนำเสนอเหล่านักธุรกิจหญิงแกร่งของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นซีอีโอมือบริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือทายาทธุรกิจที่สามารถกุมบังเหียนบริษัทได้ไม่แพ้ชาย

นิตยสาร Forbes Thailand มักนำเสนอเรื่องราวของ “ผู้หญิง” ในแวดวงธุรกิจ ภายใต้คอลัมน์ Power Women สร้างแรงบันดาลใจถึงความสามารถของนักธุรกิจสตรีที่บริหารงานได้ไม่แพ้ชายใด และนี่คือตัวอย่างของ “5 นักธุรกิจหญิงแกร่ง” ใต้ฟ้าเมืองไทย ที่เราคัดเลือกมาให้ผู้อ่านได้รู้จัก ทั้งนี้ มิใช่การจัดอันดับ และรายนามด้านล่างนี้เรียงลำดับบุคคลตามตัวอักษร  

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.โออิชิ กรุ๊ป (OISHI)

"...สิ่งที่บริษัทมองว่าเป็นอนาคตคือ packaged food ที่น่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้เครือ OISHI เพราะมีแนวโน้มที่คนไทยจะบริโภคอาหาร packaged food มากขึ้น..." - นงนุช บูรณะเศรษฐกุล
นงนุชเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้คุมงาน บมจ.โออิชิ กรุ๊ป ภายใต้ร่มเงาเครือไทยเบฟเวอเรจ และเธอได้รับตำแหน่งนี้ในช่วงเวลาที่ยากที่สุด เพราะไม่เพียงแต่เศรษฐกิจจะซบเซาลงเท่านั้น แต่ยังมีภาษีสรรพสามิตที่ถูกเก็บเพิ่มเติมรวมถึงภาษีความหวาน (sugar tax) ที่มีผลกระทบอย่างจังเข้ากับสินค้าชาเขียวในปี 2560 ทว่า นงนุชสามารถฝ่าฟันบททดสอบ และทำให้ชาเขียวโออิชิชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นได้ในปีที่มูลค่าตลาดชาเขียวพร้อมดื่มติดลบ ในฝั่งอาหารของโออิชิ นงนุชยังวางวิสัยทัศน์มุ่งเน้นด้านอาหาร packaged food ที่มองว่ามีแนวโน้มมาแรงในตลาด และจะเป็นขาที่แข็งแรงของบริษัทต่อไป ก่อนจะมาร่วมงานกับเครือไทยเบฟฯ เธอยังเคยร่วมงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงอื่นๆ เช่น บริษัท คอลเกต ปาล์ม-โอลีฟ จำกัด และ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด  

ปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK)

"...เมื่อวันที่ครอบครัวประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องให้ลูกๆ มาช่วย เลยตัดสินใจมาทำงานกับที่บ้านแทนที่จะไปอยู่กับสถาบันการเงินในต่างประเทศ..." - ปฐมา พรประภา
ปฐมา เป็นทายาทรุ่น 4 ของพรประภา เธอจบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่ได้มาสืบทอดธุรกิจของครอบครัวในทันที ปฐมาเลือกที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานในสถาบันการเงินอยู่หลายปี ก่อนที่จะกลับมาร่วมงานกับ TK บริษัทผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในปี 2544 ทายาทหญิงเข้ามาสานต่อวิสัยทัศน์ของ ชุมพล บิดาของเธอ ที่เล็งเห็นโอกาสในการพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นฐานทุนที่แข็งแกร่งให้กับบริษัท หลังจากที่ฐิติกรต้องผ่านช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มา ซึ่งปฐมาสามารถพาบริษัทเข้าจดทะเบียนสำเร็จในปี 2546 ระดมทุนได้ 1.1 พันล้านบาท ภารกิจต่อไปของเอ็มดี TK คือการขยายฐานลูกค้าออกไปสู่ประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ให้สำเร็จ  

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด

"...เราไม่ได้มองว่า เรามีเทคโนโลยีอะไร แต่ตั้งต้นจากปัญหาหรือความไม่สะดวก (pain point) ของลูกค้าคืออะไร และเราต้องใช้เทคโนโลยีอะไรตอบโจทย์หรือแก้ปัญหานั้น..." - ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์
ดร.สุทธาภา คือหนึ่งในขุมพลังเบื้องหลังการเข้าสู่ยุคดิจิทัลของธนาคารอายุร่วมร้อยปีอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ เธอเข้ามาร่วมงานกับไทยพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2553 เริ่มแรกจากการเป็นผู้บริหารสูงสุดของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ก่อนจะได้รับภารกิจเดินเกมรุกนวัตกรรมของธนาคาร โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี AI ช่วยต่อยอด SCB Abacus ภายใต้การนำของ ดร.สุทธาภา มีโจทย์การพัฒนาคือการทำให้ธนาคารเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อนำมาใช้พัฒนาธุรกิจให้ทำงานได้รวดเร็ว ปลอดภัย และตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด ทั้งนี้ ดร.สุทธาภา เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง (King’s Scholarship) สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์จาก Harvard University และปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ การบริหารและนโยบาย จาก MIT สหรัฐอเมริกา  

สุนันทา สมบุญธรรม ประธานกรรมการบริหาร ธนิยะกรุ๊ป

"ความมั่งคั่งที่กระจายออกไปนั้นงอกงามกว่า อยู่ในธนาคารเงินก็เป็นแค่กระดาษการให้อะไรกลับคืนกับสังคมต่างหาก ที่จะทำให้เรายืนได้มั่นคง" - สุนันทา สมบุญธรรม
สุนันทาเป็นทายาทรุ่น 2 ของตระกูลสมบุญธรรม และเป็นคนเดียวในหมูพี่น้องสี่คนที่ไม่ได้เรียนด้านการแพทย์ แต่เลือกเรียนด้านพาณิชยศาสตร์แทน โดยเธอจบปริญญาตรีจาก University College of Dublin ประเทศไอร์แลนด์ ก่อนไปต่อ MBA จาก Suffolk University สหรัฐอเมริกา ว่าที่ทายาทธุรกิจสั่งสมประสบการณ์ทำงานกับ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ราว 4-5 ปี ก่อนที่จะกลับมาช่วยสานต่อธุรกิจกลุ่มธนิยะ ซึ่งเธอเป็นผู้เสนอแนวความคิดกับคุณพ่อคุณแม่ว่าอาคารธนิยะ พลาซ่าที่จะสร้างใหม่นั้นควรมีส่วนรีเทลไว้ให้คนในอาคารได้จับจ่ายใช้สอย ในเวลาต่อมา เธอยังเป็นคนวางโครงการพลิกผืนดินไร่สับปะรดอันแห้งแล้งใน อ.ชะอำ ของครอบครัวให้เป็น สนามกอล์ฟ สปริงฟิลด์ รอยัล คันทรี คลับ และพัฒนาศูนย์การค้ารักษ์โลก ธัญญาพาร์ค ศรีนครินทร์  

สุวรรณา พุทธประสาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH)

"...เราสนุกที่ได้เรียนรู้และติดตามสถานการณ์ เวลาเราจับเรื่องอะไร เราต้องรักในงานนั้นก่อนและพยายามครีเอท 1+1 ผลลัพธ์ต้องได้มากกว่า 2” - สุวรรณา พุทธประสาท
ผู้บริหารหญิงแกร่งแห่งเครือแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เธอคือลูกหม้อผู้ทำงานอยู่กับกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์มากกว่า 20 ปีก่อนจะเกษียณไปในปี 2558 แต่กระนั้นเอง ด้วยความสามารถของเธอทำให้ได้รับเทียบเชิญให้กลับมานั่งตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของ LHMH เพื่อช่วยผลักดันการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของบริษัท เช่น โรงแรมเชน แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์, เชนศูนย์การค้า เทอร์มินอล 21 และศูนย์การค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ โซนตะวันออกอย่าง แฟชั่นไอส์แลนด์ เดอะ พรอมานาด ผลงานของสุวรรณาเป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่ก่อนเกษียณ โดยสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) มอบรางวัล Best CFO ของกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง และรับเหมา ให้กับสุวรรณาติดต่อกัน 3 ปีซ้อน (ช่วงปี 2013/14 ต่อเนื่องถึงปี 2015/16) นับได้ว่าเธอคือบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอย่างแท้จริงของวงการ