ผู้นำหญิงแกร่งแห่งบริษัทผู้บริการเช่าซื้อจักรยานยนต์เบอร์ 1 ของไทยและทายาทรุ่นของครอบครัวพรประภา รับโจทย์เร่งแรงบิดพา TK ให้เติบโตอย่างมั่นคงทำยอดปล่อยกู้แตะ 1.3 หมื่นล้านบาทภายในปี 2563 พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจไปปักธงในตลาดกลุ่ม CLMV ที่มุ่งสร้างพอร์ตโตถึง 50% ของยอดให้สินเชื่อรวมภายใน 3 ปีข้างหน้า
จากการแตกยอดธุรกิจจำหน่ายรถยนต์สี่ล้อและสองล้อของผู้เป็นบิดาของ
ปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ แห่ง TK วัย 48 ปี เล็งเห็นโอกาสที่จะแตกยอดการเติบโตจึงตัดสินใจเปิดธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ตั้งแต่เมื่อปี 2515 จนกระทั่งปัจจุบันกลุ่ม TK มียอดการปล่อยสินเชื่อรวมที่ราว 9.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อในประเทศที่เกือบ 8 พันล้านบาทและมีรายได้รวมกว่า 3 พันล้านบาทต่อปีตลอดจนเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) ที่ราว 8 พันล้านบาท
จากวันแรกจนถึงวันนี้ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อทั้งจักรยานยนต์และรถยนต์ดำเนินมาถึง 45 ปีแล้ว โดยปัจจุบันกลุ่ม TK ประกอบด้วย บมจ.ฐิติกร และบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ซี.วี.เอ. จำกัด (ธุรกิจให้บริการด้านการติดตามหนี้สิน) บริษัท ชยภาค จำกัด (ธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) บริษัท ทีเค เด็บท์ เซอร์วิสเซส จำกัด (ธุรกิจให้บริการจัดเก็บหนี้) Suosdey Finance PLC. (ธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ในประเทศกัมพูชา) Sabaidee Leasing Co., Ltd. (ธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ใน สปป.ลาว) และ บริษัท ทีเค เงินทันใจ จำกัด (ธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ)
ความสำเร็จของ TK จากมุมมองของปฐมาเริ่มจากสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นและยาวนานที่บริษัทมีกับร้านค้าจำหน่ายจักรยานยนต์ ซึ่งแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะผันผวนเช่นไร บริษัทก็ยังให้สินเชื่อกับผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง ดังคำที่ปฐมาย้ำว่า “คนอื่นไม่ปล่อยแต่เราปล่อย”
บริษัทยังยึดถือเรื่องการรักษาชื่อเสียงในแง่ความมั่นคงและลูกค้าไม่เคยต้องติดขัดเรื่องการโอนรถเมื่อผ่อนชำระจบเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังให้บริการที่สะดวกรวดเร็วจากเจ้าหน้าที่ซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง ทำให้โดยเฉลี่ยสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 1 วันนับจากที่ยื่นเอกสารครบถ้วน
สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่เช่นเดียวกับที่มีขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อที่รัดกุมด้วยพื้นฐานของระบบวิเคราะห์คะแนนเครดิตที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาใช้เองที่สร้างขึ้นจากฐานข้อมูลลูกค้าเก่าจำนวนหลายล้านราย เพื่อป้องกันไม่ให้การปล่อยสินเชื่อใหม่กลายเป็นหนี้เสียในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีระบบติดตามหนี้อย่างใกล้ชิดโดยมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อและเจ้าหน้าที่บริหารหนี้กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในต่างจังหวัด เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าอย่างทั่วถึง และมีความชำนาญในพื้นที่อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ TK มีอัตราสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนอยู่ที่ประมาณ 4% และมีเป้าหมายที่จะปรับลดให้ไม่เกิน 3.5% ในอนาคต
“ผู้บริโภคมองว่าเราเป็นเจ้าใหญ่ที่ทำธุรกิจมานาน เชื่อถือได้ มั่นคง และให้บริการที่ดีเช่นเดียวกับที่แรงเชียร์จากเซลและลูกค้าเก่าก็มีผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าด้วย”
แม้ว่าปฐมาจะยังไม่ได้มาร่วมงานกับธุรกิจของครอบครัวในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แต่เหตุการณ์นี้ก็ส่งผลต่อธุรกิจของ บมจ.ฐิติกร เมื่อครั้งที่ชุมพลยังดูแลกิจการอยู่ ซึ่งในครั้งนั้นทำให้มีผลขาดทุนราว 3 พันล้านบาท จากที่ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นเหตุหลัก อย่างไรก็ตามวิกฤตในครั้งนั้นได้กลายเป็นแรงขับสำคัญที่ครอบครัวเล็งเห็นโอกาสสร้างฐานทุนที่แข็งแกร่งจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย กระทั่งปฐมาเข้ามาดูแลกิจการแล้ว จึงสานต่อภารกิจผันกิจการของครอบครัวสู่บริษัทมหาชนและเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนครั้งแรกเมื่อปี 2546
พลิกบทลูกจ้างสู่ผู้นำหญิง
ก่อนที่ปฐมาในฐานะทายาทรุ่น 4 จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญในการบริหารกิจการของครอบครัวนั้น เธอได้เริ่มเก็บประสบการณ์ในแวดวงสถาบันการเงินนับตั้งแต่เรียนจบคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งปี 2544 ปฐมาจึงตัดสินใจนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเริ่มต้นจากการศึกษาธุรกิจและรับหน้าที่ดูแลงานในธุรกิจต่างๆ เช่น งานจำหน่ายรถยนต์ Toyota และ Lexus จนในปี 2546
ปฐมาได้รับมอบหมายให้สืบทอดกิจการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์และรถยนต์อย่างเต็มตัวในฐานะกรรมการผู้จัดการ
“พ่อบอกแต่แรกแล้วว่าต้องไปหาประสบการณ์จากธุรกิจอื่นๆ ก่อน และที่บ้านไม่ได้บังคับให้ต้องกลับมาบริหารธุรกิจของครอบครัว แต่สภาพแวดล้อมก็มีส่วนให้เราเลือกเรียนด้านการเงิน แล้วเมื่อวันที่ครอบครัวประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ต้องให้ลูกๆ มาช่วย เลยตัดสินใจมาทำงานกับที่บ้านแทนที่จะไปอยู่กับสถาบันการเงินในต่างประเทศ”
โดยภารกิจที่รอกรรมการผู้จัดการหญิงให้เข้ามาต่อเติมคือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และระดมทุนได้ 1.1 พันล้านบาท สำหรับความท้าทายที่รอปฐมาให้ขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศในแถบอาเซียนโดยเริ่มจากไปปักธงที่กลุ่ม CLMV
ปฐมาเน้นอีกว่า หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของเธอในฐานะผู้นำสูงสุดคือต้องการดูแลให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานที่ TK ส่วนเป้าหมายด้านตัวเลขนโยบายของบริษัทยังยึดมั่นการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่แม้ไม่เร็วมากแต่มั่นคง
“แนวทางที่เราใช้เพื่อครองใจพนักงานให้อยู่กับเราคือการทำงานแบบมืออาชีพ แต่ดูแลกันเหมือนคนในครอบครัว ที่มีความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดและช่วยเหลือกัน”
ขณะนี้ฐานลูกค้าหลักของ บมจ.ฐิติกรมีรายได้เฉลี่ยที่ 25,000 บาท/เดือน และผ่อนชำระเฉลี่ยที่ราว 2,000 บาท/งวด และกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยแบ่งเป็นกรุงเทพฯ ที่ราว 25% และต่างจังหวัด 75% ทั้งนี้รายได้หลักของบริษัทจะมาจากการให้บริการเช่าซื้อจักรยานยนต์ที่ราว 80% ขณะที่รายได้จากรถยนต์ยังไม่ถึง 2% ส่วนรายได้ที่เหลือมาจากส่วนอื่น เช่น จัดเก็บหนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 20%
“ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลราว 70% แต่เรามีเป้าหมายว่าอยากปรับสัดส่วนใหม่ให้มีฐานลูกค้าในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ซึ่ง 10 ปีหลังจากนั้นเราก็ทำได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ”
สำหรับแผนงานในช่วง 3 ปีนับจากนี้ (ภายในปี 2563) TK ตั้งเป้าขยายตัวเลขให้สินเชื่อรวมจะเติบโตแตะ 1.3 หมื่นล้านบาทเนื่องจากบริษัทมีแผนขยายตลาดสินเชื่อในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เพิ่มขึ้น ทั้งจากการขยายสาขาและซื้อกิจการที่ให้สินเชื่อแก่ประชากรกลุ่มประเทศ CLMV
ปฐมาทิ้งท้ายถึงข้อดีของการเป็นผู้บริหารหญิงว่า ด้วยคุณสมบัติหลักๆ ของสตรีที่มักมีความละเอียดรอบคอบ รวมถึงไม่ต้องรู้สึกลำบากใจที่จะสอบถามหรือขอข้อมูลจากบุคคลอื่นๆ จึงนับเป็นข้อดีที่เหมาะสมกับธุรกิจด้านการเงินอย่างการให้บริหารเช่าซื้อ
“ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตามถ้าได้เห็นว่ามีตัวเลขเติบโตดีขึ้น ก็รู้สึกมีความสุขที่เราสามารถทำได้ และลูกค้าพอใจกับบริการของเรา แต่สิ่งที่เราภูมิใจคือสามารถรับไม้บริหารธุรกิจต่อจากพ่อแม่ได้”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
อ่านฉบับเต็ม "ปฐมา พรประภา เร่งเครื่อง TK ปล่อยกู้แตะ 1.3 หมื่นล้าน" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มกราคม 2561 ในรูปแบบ E-Magazine