จากนี้จนถึงปี 2020 หรือ พ.ศ. 2563 เม็ดเงินอย่างน้อย 3 แสนล้านบาทจะถูกทุ่มลงไปในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งโครงการค้าปลีกอเนกประสงค์ขนาดนับแสนตารางเมตร ไปจนถึงมอลล์ชุมชน และร้านสะดวกซื้อตามหัวมุมถนน ทั้งจากผู้เล่นเดิม และผู้เล่นหน้าใหม่ที่เห็นความเย้ายวนของรายได้ ต่างดาหน้าเข้ามาสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจที่มีมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เป็นอันดับสองของประเทศ และสร้างงานภาคบริการที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนผู้เกี่ยวข้องถึง 6.2 ล้านคน คำถามคือ จะมีลูกค้าเพียงพอต่อจำนวนห้างร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่ผุดขึ้นมากมาย
ในวงการค้าปลีกสมัยใหม่ เซ็นทรัลกรุ๊ปถือเป็นผู้เปิดประวัติศาสตร์หน้าแรกให้กับธุรกิจค้าปลีกทันสมัย หรือ ห้างสรรพสินค้า นับตั้งแต่การเปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแห่งแรกขึ้นในย่านวังบูรพาเมื่อปี 2500 และการตามมาด้วยห้างสรรพสินค้า อาทิ ไทยไดมารู เดอะมอลล์ เมอร์รี่คิงส์ คาเธ่ย์ นิวเวิลด์ เวลโก้ เมโทร เป็นต้น พัฒนาการของการเปิดธุรกิจค้าปลีกทันสมัยของประเทศไทยเติบโตและท้าทายไปทุกกลุ่มตลาดทั้งการเปิดตัวกลุ่มร้านสะดวกซื้อ, ธุรกิจค้าปลีกประเภท Cash & Carry, ธุรกิจค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือ ดิสเคาน์สโตร์
ภาวะวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ทำให้ทุนต่างชาติเข้ามาร่วมทุนและซื้อกิจการจากผู้ประกอบการค้าปลีกที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินจากสภาวะการณ์ที่ค่าเงินอ่อนตัวลงอย่างมาก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจค้าปลีกในทุกภาคส่วนของการตลาด ทั้งการเข้ามาของทุนยักษ์ใหญ่ค้าปลีกจากต่างประเทศ การล้มหายของค้าปลีกไทย โชว์ห่วย รวมไปถึงห้างสรรพสินค้า
ในปัจจุบันจากการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าที่เชื่อมเส้นทางต่างๆ เข้าด้วยกัน ยิ่งทำให้ธุรกิจค้าทันสมัยกำหนดกลุ่มเป้าหมายและทิศทางของทางการตลาดได้มากยิ่งขึ้น ในสมรภูมิ ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ที่มี 7-eleven เป็นเจ้าของตลาดโดยปัจจุบันมีสาขากว่า 8,000 สาขาทั่วประเทศ กลับมาแข่งขันมากยิ่งขึ้นเมื่อทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นเข้ามาเป็นพันธมิตรธุรกิจกับทุนไทยที่พร้อมจะลุยในสมรภูมิ ไม่ว่าจะเป็น Lawson 108, FamilyMart, MaxValu, Foodland ที่ตั้งเป้าการขยายสาขา โดยมีการคาดการณ์ว่าใน 5-10 ปี ประเทศไทยจะมีร้านสะดวกซื้อถึง 30,000 สาขา เลยทีเดียว
สำหรับทิศทางการลงทุนของศูนย์การค้าต่างๆ อย่าง 3 กลุ่มหลัก กลุ่มเซ็นทรัล, สยามพิวรรธน์ และ เดอะมอลล์ ได้ปรับตัวเองเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก Luxury และ Super Luxury อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างเมืองไทยเป็น Shopping Destination ของภูมิภาคพร้อมกับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
นอกจากร้านค้าสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ธุรกิจค้าปลีกไทยได้พัฒนาและเปิดตัวค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ ร้านค้าเฉพาะทาง หรือเรียกว่า สเปเชียลตี้สโตร์ ช็อปปิ้งคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ คอมมูนิตี้มอลล์ จนถึงซูเปอร์สโตร์ และไม่เพียงแต่นักธุรกิจเก่าในวงการค้าปลีกเท่านั้น ผู้ประกอบการจากวงการอื่นๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ เฟอร์นิเจอร์ แฟชั่นเสื้อผ้า ก็โดดเข้าร่วมสังฆกรรมในธุรกิจค้าปลีกด้วย
แล้วห้างจะท่วมไทยไหม? เมื่อการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกเกิดความหลากหลายเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายของตนให้อยู่หมัด การบริหารจัดการตุ้นทุนที่ดีและเครือข่ายสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้วัดการอยู่รอดบนเส้นทางธุรกิจค้าปลีก และก่อให้อีกโฉมหน้าใหม่ของวงการค้าปลีกในปี 2020 ที่จะมาถึง
คลิ๊กอ่าน "2020 ฤามอลล์จะท่วมเมือง" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ MARCH 2015