อ่านกลยุทธ์ SC Asset ขยายธุรกิจใหม่ ‘โรงแรม-คลังสินค้า’ ผ่าน SCX อัดงบ 20,000 ล้าน ใน 5 ปี - Forbes Thailand

อ่านกลยุทธ์ SC Asset ขยายธุรกิจใหม่ ‘โรงแรม-คลังสินค้า’ ผ่าน SCX อัดงบ 20,000 ล้าน ใน 5 ปี

ช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 เรียกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซาไปอย่างมาก ดังนั้น การจะย่ำอยู่กับที่เพื่อรอโอกาสครั้งใหม่ อาจไม่ใช่ทางรอดเดียวสำหรับธุรกิจ ล่าสุด SC asset หนึ่งในธุรกิจสำคัญของตระกูลชินวัตร เริ่มเบิกทางสู่ธุรกิจใหม่โดยขยายจากธุรกิจดั้งเดิมที่เชี่ยวชาญในอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยอย่างบ้าน และคอนโดมิเนียม รวมถึงตึกออฟฟิศในเมือง 


    ตอนนี้หันมาเร่งเครื่องบริษัทลูก SCX ผ่านการขยายธุรกิจใหม่ ‘โรงแรม-คลังสินค้า’ เพื่อเพิ่มสมดุลในพอร์ต และสร้างรายได้สม่ำเสมอ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต


กระจายความเสี่ยงผ่านธุรกิจใหม่ ปั้น SCX สร้างรายได้ 25% ของกลุ่ม SC

    นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC กล่าวว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในตอนนี้ถือว่ามีความท้าทายอย่างมากจาก 3 เรื่องหลักคือ 1) หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้การกู้ยากขึ้น คนกู้สินเชื่อผ่านน้อยลง 2) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ตกต่ำ และ 3) การแข่งขันที่สูง รวมถึง Supply ในตลาดที่ยังมีค่อนข้างมาก

    ทว่าจากความท้าทายที่เกิดขึ้นถือเป็นโอกาสในการปรับกลยุทธ์ และริเริ่มลองอะไรใหม่ๆ ช่วงที่ผ่านมาจึงมุ่งขยายธุรกิจที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างรายได้ประจำอย่างสม่ำเสมอ และทำในธุรกิจที่เป็นขาขึ้นมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์

    ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิดบริษัทลูกอย่าง บริษัท เอสซีเอ็กซ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด (SCX Corporation) ซึ่งจะมาเป็นเครื่องยนต์ที่ 2 โดยมุ่งขยายธุรกิจคลังสินค้า (SCX Logistics) ธุรกิจโรงแรม (SCX Hospitality) และ ธุรกิจอาคารสำนักงาน (SCX Working Solutions) ในปี  2029 ตั้งเป้าหมายว่า จะมีสินทรัพย์มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาทและสร้างกำไร (EBITDA) ในสัดส่วนมากกว่า 25% ของกำไรรวมจากทุกกลุ่มธุรกิจ (จากปัจจุบันที่อยู่ราว 15%)


SC Asset อัดงบ 20,000 ล้านบาทใน 5 ปี (2025-2029)

    การสนับสนุนธุรกิจใหม่ทั้งหมดนี้ SC Asset จึงประกาศแผนการลงทุน 5 ปี (2025-2029) มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทจะมุ่งเน้นการลงทุนในประเทศไทย ทั้งนี้ SCX Corporation มีผู้นำทัพคือ กรรมการผู้จัดการ ‘รชฎ นันทขว้าง’ โดยแผนธุรกิจ Roadmap 5 ปี จะแบ่งเป็น 3 ธุรกิจหลักที่วางเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน ได้แก่

    1. SCX Logistics พัฒนาอาคารคลังสินค้าเพื่อเช่า ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเช่ากว่า 90% ในปี 2029 จะมีพื้นที่เช่ารวม 700,000 ตรม.ในทำเลหลักที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ที่ตั้งบนถนนบางนา-ตราด (ราว 400,000 ตร.ม.), EEC (ราว 200,000 ตร.ม.) และ อยุธยา-วังน้อย (ราว 100,000 ตร.ม.)

    2. SCX Hospitality จะพัฒนาโรงแรมใน 4 ทำเลท่องเที่ยวหลัก คือ กรุงเทพ, พัทยา, สมุย, และภูเก็ตในปี 2029 จะมีจำนวนห้องพักรวม มากกว่า 2,000 ห้อง (ปัจจุบัน 545 ห้อง) ทั้งนี้ ยังมองหาโอกาสผ่านการหาทำเลที่น่าสนใจ (เช่น อยู่ในทำเลยุทธศาตร์ที่ตั้งไว้ มีจำนวนห้องพักมากกว่า 200 ห้อง/แห่ง)

    ณ ปัจจุบันมีโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้วคือ YANH ราชวัตร 78 ห้อง (มีอัตราการเข้าพักที่ 80%`) และอยู่ระหว่างการพัฒนา คือ โรงแรม KROMO, Curio Collection by Hilton สุขุมวิท 29 และโรงแรม THE STANDARD ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2025

    3. SCX Working Solutions จะปรับปรุงพื้นที่เช่า 6 อาคารสำนักงานกว่า 120,000 ตรม. ผ่านการเพิ่มเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ใช้งาน และใส่ในด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งงบประมาณราว 1,400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อาคารสำนักงานทั้ง 6 แห่งปัจจุบันมีอัตราการเช่ามากกว่า 90%

นายรชฎ นันทขว้าง กรรมการผู้จัดการ SCX Corporation 

แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยในช่วง 1-2 ปีนี้

    นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SC กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่มองว่าหลังจากนี้จะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเดินหน้าพัฒนาต่างๆ จากรัฐบาลชุดก่อนหน้า รวมถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน นอกจากนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ช่วงครึ่งปีหลัง 2024 น่าจะปรับตัวดีขึ้นซึ่งจะส่งผลให้หนี้ครัวเรือนลดลง

    ขณะที่ปัญหาเรื่อง Supply ที่มีจำนวนมากคาดว่าจะทยอยคลี่คลายลง โดยพบว่า ระยะเวลาในการขายหมด (Time to go) ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์แนวสูงอย่างคอนโดมิเนียม คาดว่าเริ่มฟื้นตัวกลับมาบ้างแล้ว โดยปัจจุบันคาดว่าราว 2 ปีจะขายหมด แต่ในอสังหาริมทรัพย์แนวราบ หรือ บ้าน คาดว่าปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจุบัน Time to go อยู่ที่ราว 4 ปีครึ่ง แต่ปี 2025 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ราว 3 ปี และปี 2026 จะกลับเข้าสู่ภาวะเดิมที่ราว 2 ปีกว่า

    อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่จะหนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ณัฐพงศ์ กล่าวว่า อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนผันเกณฑ์ LTV (Loan to value หรือ มาตรการเงินดาวน์ขั้นต่ำในการกู้ซื้อบ้าน) ซึ่งปัจจุบันมองว่าจากจุดประสงค์ในการออกเกณฑ์นี้เพื่อลดความร้อนแรงของการเก็งกำไรลง ซึ่งได้หมดไปแล้ว จึงอยากให้ผ่อนเกณฑ์ LTV ลงเพื่อให้คนสามารถเข้าถึงสินเชื่อและมีบ้านได้มากขึ้น



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ก.ล.ต.จ่อออกเกณฑ์ใหม่! เร่งเปิดข้อมูลหุ้นติด ‘จำนำ-ค้ำประกัน’ หลังกระทบราคาร่วงแรง คาดเริ่มใช้ปี 68

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine