‘แดรี่ควีน’ บุกเปิดร้านสแตนด์อะโลน ในพื้นที่เชนร้านสะดวกซื้อ ประเดิม 7-Eleven ที่แรก - Forbes Thailand

‘แดรี่ควีน’ บุกเปิดร้านสแตนด์อะโลน ในพื้นที่เชนร้านสะดวกซื้อ ประเดิม 7-Eleven ที่แรก

อยู่นอกห้างขายดีกว่า! ไอศกรีม ‘แดรี่ควีน’ บุกเปิดร้านสแตนด์อะโลน ที่คอนวีเนียนสโตร์เชน ประเดิม 7-Eleven ที่แรก เสิร์ฟไอติมใกล้ที่อยู่อาศัย เปิดขายก่อนห้างแต่ปิดทีหลัง ปีนี้เตรียมเปิดเพิ่มย่านปริมณฑลอีกกว่า 10 แห่ง ทั้ง 7-Eleven และเชนอื่น


    วิวัฒนาการของร้าน 7-Eleven ในเมืองไทยจะมีให้เห็นมากขึ้นในทุกปี จากที่เคยเป็นเพียงร้านคอนวีเนียนสโตร์ขายของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันตามชุมชนต่างๆ วันนี้ 7-Eleven ได้กลายเป็นเหมือน “มินิคอมมูนิตี้มอลล์” ที่ลูกค้าสามารถมาใช้ชีวิตได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากที่เห็นชินตาอย่าง ร้านไก่ย่าง 5 ดาว ร้านซักผ้า ร้านตัดผมแล้ว ลูกค้าของ 7-Eleven ในบางสาขาสามารถนั่งทานไอศกรีม ‘แดรี่ควีน’ ในห้องติดแอร์เย็นฉ่ำได้แล้ววันนี้

    ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดร้านแดรี่ควีนในปั๊มน้ำมันในช่วงโควิดเมื่อหลายปีก่อน และการเปิดร้านที่ครอบคลุมในศูนย์การค้าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วยจำนวนสาขา 1-2 สาขาในแต่ละศูนย์การค้า หรือสูงสุดถึง 3 สาขาในบางศูนย์การค้า


    ประกอบกับการขยายสาขาของผู้ประกอบการค้าปลีกที่ไม่ได้มีมากเหมือนในอดีต ทำให้ แดรี่ควีน ตัดสินใจต่อยอดธุรกิจ ด้วยการทดลองเปิดร้านแดรี่ควีน รูปแบบสแตนด์อะโลนสาขาแรกขึ้นที่ร้าน 7-Eleven เมื่อกลางปีที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้มีสาขาของแดรี่ควีนอยู่ในร้าน 7-Eleven เขตปริมณฑลใกล้ๆ กรุงเทพฯ ถึง 5 แห่งด้วยกัน

    และในปีนี้แดรี่ควีนมีแผนจะขยายสาขาในร้านสะดวกซื้อทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น และเชนอื่นๆ (กำลังคุยเรื่องดีล) เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 10 แห่งในชุมชน ที่มีการจราจรหนาแน่น

    รูปแบบของแดรี่ควีนในพื้นที่ของ 7-Eleven จะเป็นแบบสแตนด์อะโลน มีพื้นที่ขนาด 40-50 ตารางเมตร ใหญ่พอๆ กับ “DQ Lounge” ร้านแดรี่ควีนคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่แล้วที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์เกต และมีเก้าอี้สตูลนั่งทานได้ 5-6 ที่นั่ง


    “บอกตรงๆ เลยว่า ตอนเปิดร้านแดรี่ควีนสาขาแรกใน 7-Eleven ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร เพราะความถี่ของจำนวนรถที่เข้าออกร้านไม่ได้มากเหมือนกับทำเลในปั๊มน้ำมัน แต่พอทดลองไปสักระยะ ก็มั่นใจขึ้นและเริ่มขยายสาขาใหม่ๆ จนวันนี้มีสาขาในร้าน 7-Eleven ทั้งหมด 5 แห่งแล้ว การอยู่ในพื้นที่นอกห้าง ทำให้เราไม่ต้องถูกล็อคด้วยเรื่อง operating hour ร้านเราเปิดก่อนห้างได้ และปิดทีหลังห้างก็ได้ บางสาขาเราพยายามเปิดให้ถึง 5 ทุ่ม เพื่อดูโอกาส บางสาขาถ้ามีลูกค้าสั่งเดลิเวอรี่ เราก็ยืดหยุ่นเปิดร้านตั้งแต่ 9 โมง” อนุพนธ์ นิธิยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

    ด้วยขนาดของพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้การลงทุนของร้านแดรี่ควีนต่อหนึ่งสาขาต้องใช้เงินถึง 2 ล้านบาท สูงกว่าร้านแดรี่ควีนดั้งเดิมที่เปิดตามศูนย์การค้า-ไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ใช้เงินลงทุนเพียง 1.5-1.7 ล้านบาท เพราะมีขนาดเล็กเพียง 20-25 ตารางเมตรเท่านั้น

    และเนื่องจากร้านใน 7-Eleven มีที่นั่ง สามารถเปิดบริการได้ก่อนเวลาห้างเปิด และปิดได้ดึกถึง 5 ทุ่มในบางสาขา และยังสะดวกต่อการสั่งเดลิเวอรี่ ที่มีค่าส่งถูกกว่าเพราะใกล้ชุมชน ทำให้ยอดขายทั้งในร้าน รวมถึงช่องทางเดลิเวอรี่ในร้านสะดวกซื้อสูงถึง 7-8 แสนบาทต่อเดือน เทียบกับรายได้ 5 แสนบาทในร้านที่เปิดตามศูนย์การค้าทั่วไป

    “เราใช้แบรนด์แดรี่ควีน เป็นหัวหอกในการต่อยอดธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ arm reach เป็นแบรนด์แรก จากที่เมื่อก่อนลูกค้าต้องเดินเข้าไปหาเราที่ร้าน แต่วันนี้ลูกค้าอยู่เฉยๆ เราจะไปหาลูกค้าถึงบ้านเลย แค่นึกอยากกินไอศกรีม เพียงนาทีเดียวก็ได้กินแล้ว นี่เป็นกลยุทธ์ที่แดรี่ควีนจะใช้สร้างการเติบโตของยอดขายและกำไรอย่างยั่งยืนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” อนุพนธ์บอก

    อนุพนธ์กล่าวต่ออีกว่า ในปีนี้ไมเนอร์ฟู้ด มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มขึ้น 50 แห่ง เน้นธุรกิจอาหารที่ทานง่าย ทานเร็ว อย่างเช่น แดรี่ควีน กากา เป็นต้น

    ดิลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ได้เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีจากนี้ บริษัทจะเปิดร้านอาหารในเพิ่มเป็น 4,114 สาขาในปี 2527 อยู่ในเมืองไทย 3,270 ร้าน ออสเตรเลีย 322 ร้าน จีน 300 ร้าน และอื่นๆ อีก 222 ร้าน อินโดนีเซีย อินเดีย ทั้งแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่

    ในปีที่ผ่านมา ไมเนอร์ฟู้ด มีจำนวนร้านอาหารอยู่ทั้งหมด 2,699 สาขา ณ สิ้นปี 2567 ซึ่ง 2,083 สาขา หรือ 77% เป็นธุรกิจในประเทศร้านอาหาร 306 สาขา และ 130 สาขาอยู่ในออสเตรเลียและจีน ส่วนที่เหลืออีก 180 สาขาอยู่ในประเทศอื่นๆ ใน 3 ปีนับจากนี้การขยายสาขาของร้านอาหารมากกว่า 80% จะเป็นในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งในปี 2568 นี้ จะเริ่มมีแฟรนไซส์ร้านใหม่ๆ มากขึ้น อาทิ บอนชอน และกาก้า

ดิลิป ราชากาเรีย


    สำหรับรายได้ของไมเนอร์ฟู้ดอยู่ที่ประมาณ 32,000 ล้านบาท มีกำไร 2,400 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา

    ขณะเดียวกันบริษัทได้วางแผนเปิดโรงแรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก 54 แห่งจำนวน 8,400 ห้องในปีนี้ ทั้งในยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเป้าหมายสำคัญ อาทิ อเมริกา คิวบา เม็กซิโก โปรตุเกส บาเรน โอมาน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

    การขยายโรงแรมของไมเนอร์ในอนาคต กว่า 50% จะมาจากการขยายธุรกิจภายใต้ Asset-light Model หรือเข้ารับบริหารโรงแรมให้กับเจ้าของโรงแรม นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิด luxury cruise ในประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย จากปัจจุบันมีบริการแล้วที่ประเทศลาว


    “อเมริกา เป็นตลาดสำคัญของเราจะขยายมากขึ้น เพราะเรายังไม่มี footprint ที่ใหญ่ เราอยากให้คนรู้จักแบรนด์ของเรามากขึ้น เราจะขยายทั้งตลาด ultra luxury และตลาด mid-range ทั้งตลาด Inbound และ Outbound เชื่อว่าลูกค้าจะชอบในอาหาร บริการ และ hospitality ในสไตล์ไทยๆ ของเรา” ดิลิปกล่าว

    แผนการขยายโรงแรมและร้านอาหารของกลุ่มไมเนอร์ในช่วง 3 ปีนับจากปี 2568 ถึงปี 2570 จะใช้เงินลงทุนเฉลี่ยปีละ 10,000-12,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจร้านอาหาร

    จากแผนการลงทุนทั้งหมด บริษัทคาดว่า จะสร้างอัตราการเติบโตของรายได้ต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 6-8% และการเติบโตของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ 15-20% ต่อปี ตลอดจนมีอัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนมากกว่าร้อยละ 12 และผ่านระบบแฟรนไชส์ เป็นหลัก นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายรักษาอัตราผลตอบแทนต่อเงินลงทุนมากกว่า 12%

    ดิลิป กล่าวอีกว่า ขณะนี้ MINT อยู่ระหว่างการศึกษาจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (กอง REIT) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุธ์ของ Asset-light Model ที่จะลดการใช้เงินลงทุนในการขยายธุรกิจ และเป็นอีกแนวทางที่จะทำให้อัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD/E) ลดลงอยู่ที่ระดับ 0.75% จากสิ้นปี 2567 อยู่ที่ระดับ 0.8 เท่า โดยคาดว่าจะได้เห็นการจัดตั้งกอง REIT ได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยกอง REIT จะมีขนาดประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะสามารถสร้างกระแสเงินสดกลับเข้ามาในบริษัทประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ



ภาพ: ไมเนอร์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สุกี้หลักร้อย กำไรพันล้าน! ‘สุกี้ตี๋น้อย’ กำไรปี 67 ทะลุ 1,169 ล้านบาท

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine