เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG เตรียมเปิด ‘เคเอฟซี คีออส คอนเซ็ปต์ Quick & Easy’ เจาะแนวรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน-บนดิน ยังควักอีก 300-400 ล้านบาท เดินหน้าเปิดสาขาใหม่-พลิกโฉมสาขาเก่า แต่ปรับเป้าโตจาก 12% เหลือ 8%
ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาเคเอฟซีโมเดลใหม่ๆ อีกหลากหลายโมเดลเพื่อการเข้าถึงลูกค้าที่ง่ายขึ้น และหนึ่งในโมเดลใหม่ที่จะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 นี้ ได้แก่ เคเอฟซี Quick & Easy บนรถไฟฟ้าขนาดพื้นที่ 50 ตารางเมตร เน้นขายสินค้าในช่องทาง Takeaway เป็นหลัก จำหน่ายสินค้า 80% ของเมนูที่ขายในร้านเคเอฟซีทั่วไป
“เราเริ่มเปิดร้านเคเอฟซี Transportation Hub Concept ครั้งแรกที่หมอชิต 3 เมื่อ 3 ปีก่อน สาขานี้มีแค่พื้นที่ครัว แต่ทำยอดขายได้ถึง 1 ล้านบาทต่อเดือน และจากการไปสำรวจตลาดเคเอฟซีที่เปิดตามสถานีรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์ พบว่าได้รับการตอบรับดีมาก เราเลยต่อยอดจากที่หมอชิต 3 มาเปิด เคเอฟซี Quick & Easy สาขาแรกในไตรมาส 3 ปีนี้” ปิยะพงศ์ กล่าว และว่า การเปิด เคเอฟซี Quick & Easy คอนเซ็ปต์ บนรถไฟฟ้า BTS และ MRT จะเปิดโอกาสให้เคเอฟซีสามารถขยายตัวเข้าไปอยู่ในที่ที่ไม่เคยเข้าไปได้
หลังจากเปิด เคเอฟซี Quick & Easy คอนเซ็ปต์ แล้ว บริษัทจะใช้เวลา 6 เดือนประเมินสถานการณ์ ก่อนจะ roll out ไปยังทำเลใหม่ๆ ที่มีทราฟฟิกผ่านไปมาวันละ 40,000-50,000 คนต่อวัน โดยคาดว่าสาขาบนรถไฟฟ้าน่าจะทำรายได้ประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน เทียบกับสาขา dine in ลาดพร้าวที่อยู่ราว 4 ล้านบาทต่อเดือน
โดยเคเอฟซี Quick & Easy จะมาเพิ่มความแข็งแกร่งของช่องทาง take away ซึ่งมียอดขายเป็น 40% ถือว่าสูงสุดของยอดเคเอฟซีในบริษัทซีอาร์จีทั้งหมด
นอกจากนี้ อีกโมเดลที่เคเอฟซีจะโฟกัสเป็นพิเศษในปีนี้คือ การทำให้ร้านสาขาเป็นร้านดิจิทัลมากขึ้น ปัจจุบันเคเอฟซีมี KFC digital kiosk อยู่ 14 สาขา และจะเพิ่มเป็น 35 สาขา ส่วนร้านที่มี digital menu board จะเพิ่มเป็น 70 สาขาภายในสิ้นปีนี้ จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน 17 สาขา
“ทั้งหมดนี้จะช่วยเปลี่ยนประสบการณ์ของลูกค้าจากที่ต้องสั่งอาหารที่หน้าเคาน์เตอร์ให้เป็นการสั่งผ่านตู้คีออสแทน ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้อย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์เคเอฟซีให้ดูทันสมัยขึ้น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมมุ่งสู่การเป็น Smart Restaurant อย่างเต็มรูปแบบ” ปิยะพงศ์กล่าว
ปิยะพงศ์เผยอีกว่า บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนอีก 300-400 ล้านบาทในปีนี้ เพื่อเปิดสาขาใหม่จำนวน 23 สาขา โดยเน้นเปิดในจังหวัดเมืองรอง และปรับปรุงสาขาเก่าอีก 35 สาขา โดย ณ 31 พ.ค. 2567 เคเอฟซีมีสาขาอยู่ 338 สาขา
ล่าสุด ซีอาร์จีได้ปรับโฉมเคเอฟซีสาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยชูคอนเซ็ปต์ “Colonel's Legacy” เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 40 ปี KFC Thailand เคเอฟซี ในคอนเซ็ปต์ “Colonel's Legacy” ตกแต่งในสไตล์เรโทรด้วยกระเบื้องสีขาวสลับสีแดง / แถบริ้วลายขาว-แดง
นอกจากนี้ยังมีการออกสินค้าใหม่ โปรโมชั่นที่เป็น Seasonal และการทำราคาให้สามารถเข้าถึงได้ในทุกระดับ
แม้อาหารจะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ปิยะพงศ์บอกว่า เริ่มเห็นกำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวลงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้ เพราะเปิดเทอม ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น และรายใหม่ยังคงเข้ามาสู่ธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น บริษัทได้ปรับเป้าหมายการเติบโตของเคเอฟซีในปีนี้ที่เคยตั้งไว้ 12% เป็น 8% จากรายได้ 7,050 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
“ภาพรวมเชนธุรกิจร้านอาหารในปี 2567 มีการแข่งขันสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้นในทุกปี และหากมองไปถึงกลุ่มเชนร้านอาหาร QSR พบว่ายิ่งท้าทายมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ทำให้กระทบราคาขาย ซึ่งขัดแย้งกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีกำลังบริโภคค่อนข้างหดตัว
นอกจากนี้ยังมีความท้าทายเรื่องหาพนักงานมารองรับการขยายตัว ส่วนเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเร็วๆ นี้ไม่ค่อยกังวลมาก เพราะผลกระทบไม่น่าจะมากเนื่องจากจ่ายค่าแรงเกิน 400 บาทเป็นส่วนมากอยู่แล้ว” ปิยพงศ์กล่าว
ในปี 2566 ตลาดร้านอาหารประเภท QSR มีมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท เป็นเซ็กเม็นต์ไก่ 21,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นร้านอาหารประเภทอื่นๆ โดยคาดว่าตลาดรวมร้านอาหารประเภท QSR ปีนี้จะโตเพียง 3% เท่านั้น
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อ่านกลยุทธ์ ‘เถ้าแก่น้อย’ เมื่อราคาสาหร่ายพุ่งเกือบ 50% พร้อมแผนบุกตลาดอินโดฯ ตั้งเป้าปี 67 ยอดขาย 600 ล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine