อ่านกลยุทธ์ ‘เถ้าแก่น้อย’ เมื่อราคาสาหร่ายพุ่งเกือบ 50% พร้อมแผนบุกตลาดอินโดฯ ตั้งเป้าปี 67 ยอดขาย 600 ล้าน - Forbes Thailand

อ่านกลยุทธ์ ‘เถ้าแก่น้อย’ เมื่อราคาสาหร่ายพุ่งเกือบ 50% พร้อมแผนบุกตลาดอินโดฯ ตั้งเป้าปี 67 ยอดขาย 600 ล้าน

หลังจากผลกระทบของ COVID-19 เพิ่งจะคลี่คลายลง ยอดขายและกำไรสุทธิของ บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง (TKN) กลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง แต่ยังมีความท้าทายใหม่จากสินค้าหลักที่ครองสัดส่วนกว่า 90% อย่างผลิตภัณฑ์สาหร่าย ตัววัตถุดิบสาหร่ายราคาเพิ่มขึ้นเกือบ 50% เพราะผลผลิตในโลกลดลงจากเอลนีโญ


    ขณะเดียวกันปี 2567 นี้ เถ้าแก่น้อยฯ ยังมั่นใจว่ายอดขายรวมปีนี้จะเติบโต 15% แม้ต้นทุนต่างๆ ปัญหาการส่งออก และการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ว่าแต่กลยุทธ์ของบริษัทฯ ในปีนี้จะเป็นอย่างไร

    อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN เล่าว่า ในปี 2567 นี้ราคาสาหร่ายเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปี 2566 เพราะผลกระทบภาวะเอลนีโญ่ที่ทำให้ผลผลิตสาหร่ายในจีนและญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อความต้องการและราคาสาหร่ายในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    จนถึงวันนี้ราคาสาหร่ายดิบยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทางบริษัทฯ ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ต้นปีจึงทยอยซื้อสาหร่ายมาอย่างต่อเนื่อง แม้ต้นทุนจะสูงกว่าปีที่แล้ว แต่ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะมีสาหร่ายเพียงพอต่ออุปสงค์และยอดขายที่ประมาณการในปีนี้


    แม้จะมีต้นทุนจะสูงขึ้น แต่บริษัทฯ ยังไม่มีแผนจะปรับราคาผลิตภัณฑ์ขึ้น โดยปี 2567 นี้คาดว่ายอดขายรวมจะเติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายยอดขายรวมทั้งในและต่างประเทศเติบโตอย่างน้อย 15% (รายได้จากการขายปี 2566 อยู่ที่ 5,323.4 ล้านบาท)
ทั้งนี้ มีปัจจัยบวกจากภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวจะมีอัตราเติบโตไม่ต่ำกว่า 7.9% และปัจจัยอื่นๆ เช่น

    1) ความต้องการสาหร่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหลัก จีน, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
    2) การขยายช่องทาง Modern Trade (MT) ในสหรัฐฯ เช่น ห้าง Costco และห้าง Wholefood
    3) กระแสการบริโภคสาหร่ายที่เพิ่มขึ้น

    ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ยอดขายในตลาดต่างประเทศ โดย ณ ไตรมาส 1/67 เติบโต 13.5% และคิดเป็นสัดส่วนรายได้กว่า 65% ของยอดขายรวมเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝั่งยอดขายในประเทศคาดว่าจะเติบโตตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 33 ล้านคน

    นอกจากนี้ ในปี 2567 ยังมุ่งเน้นกลยุทธ์ “3GO” อย่างต่อเนื่อง โดย GO FIRM ปรับองค์กรให้กระชับ มีประสิทธิภาพสูงสุด และกลยุทธ์ GO Broad ที่จะขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น ผ่านการพัฒนาสินค้ากลุ่มใหม่ๆ รวมถึงกลยุทธ์ที่สำคัญอย่าง GO GLOBAL ที่จะขยายในตลาดต่างประเทศ

    ล่าสุด เถ้าแก่น้อยฯ เปิดตัว PT Sukanda Djaya เป็นตัวแทนจำหน่าย (Distributor Partner) ในอินโดนีเซีย เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์สาหร่ายผ่านช่องทางขายทั้ง Traditional Trade (TT) และ Modern Trade (MT) ปัจจุบันบริษัทฯ มียอดขายจากอินโดนีเซียมีสัดส่วน 15% จากยอดขายตลาดต่างประเทศ และคาดว่าต่อไปจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% ในปี 2567 นี้คาดว่ายอดขายในอินโดนีเซียจะไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท 


    อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีโอกาสการเติบโตทั้งจากจำนวนประชากรกว่า 300 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ปัจจุบัน เถ้าแก่น้อยมีสินค้าอยู่บนชั้นวางสินค้าครอบคลุม Modern Trade ในอินโดนีเซียกว่า 80% โดยจะรุกทำการตลาดในกลุ่มผู้บริโภคชาวมุสลิมให้มากขึ้นผ่าน Influencer ชาวมุสลิม และกิจกรรมในพื้นที่ ซึ่งการร่วมมือกับ PT Sukanda Djaya ที่ทำธุรกิจมากว่า 45 ปี มีช่องทางการขายหลากหลายจะเพิ่มโอกาสให้เถ้าแก่น้อยมากขึ้น

    ทั้งนี้ ยังทำการตลาดในต่างประเทศอีกหลายรูปแบบ เช่น การใช้ Softpower ผ่านการนำสินค้าให้ไปอยู่ในซีรีย์เกาหลีที่แม้จะไม่ได้เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในเกาหลี แต่จะสร้างแบรนด์ให้คนเห็นได้ทั่วโลกตามเป้าหมายการเป็น Global Brand ในอนาคต ปัจจุบันยอดขายในต่างประเทศของบริษัท อันดับ 1 ยังคงเป็นตลาดจีน ถัดมาคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ สหรัฐ/แคนนาดา



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : PepsiCo ตั้งเป้าหนุนรายได้เกษตรกรไทยโตเพิ่ม 15% ในปี 73 หลัง UN ประกาศ '30 พ.ค. 67' วันมันฝรั่งสากล ครั้งแรกของโลก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine