‘เบียร์ช้าง’ แบรนด์แชร์ขึ้นเบอร์ 1 อีกครั้ง เร่งขยายพอร์ตเบียร์พรีเมียม ส่ง ‘ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์’ บุกตลาด - Forbes Thailand

‘เบียร์ช้าง’ แบรนด์แชร์ขึ้นเบอร์ 1 อีกครั้ง เร่งขยายพอร์ตเบียร์พรีเมียม ส่ง ‘ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์’ บุกตลาด

“เบียร์ช้าง” ขึ้นแท่นแบรนด์แชร์อันดับหนึ่งอีกครั้ง เตรียมเร่งเครื่องขยายพอร์ตเบียร์พรีเมียม ส่ง “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ ขวดอลูมินั่มฝาเกลียว” ขายที่เซเว่น อีเลฟเว่น 10,000 สาขาทั่วประเทศภายใน 19 ธ.ค. นี้ ตั้งเป้ายอดขาย 25 ล้านขวดในปี 2568


    หลังประสบความสำเร็จการทำตลาด “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” เบียร์พรีเมียมภายใต้ช้างแบรนด์ที่เชียงรายเชียงใหม่ และขยายพื้นที่เข้ามาจำหน่าย ณ ร้านอาหาร และโรงแรมในเครือไทยเบฟเวอเรจ ในกรุงเทพฯ

    ล่าสุด “เบียร์ช้าง” หนึ่งในผู้นำตลาดเบียร์ในเมืองไทยได้ เดินหน้าสร้างความคึกคักและแปลกใหม่ให้ตลาดเบียร์พรีเมียมมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี ด้วยการส่ง “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” ในขวดอลูมินั่มฝาเกลียวแบรนด์แรกในไทย วางขายที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา และจำหน่ายที่ Chang Canvas ไมโครบริวเวอรี่ที่ One Bangkok และลานเบียร์ Chang Live Park ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 70 แห่ง

    ไม่เพียงเท่านั้นคอเบียร์ยังสามารถหาซื้อเบียร์นี้ได้ที่เซเว่นฯ กว่า 10,000 สาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคมเป็นต้นไป

    พร้อมกันนี้ ยังมีแผนเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังร้านค้าปลีกสมัยใหม่อื่นๆ ในอนาคต โดยบริษัทเตรียมงบประมาณการตลาด 100 ล้านบาทในปีหน้า เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและกระตุ้นให้เกิดการทดลองและเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” มากขึ้น และเป็นผู้นำตลาดเบียร์ไทยอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

    การวางตลาดของ “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์“ จะสอดคล้องกับข้อมูลจาก Zocial Eye ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2567 ที่พบว่า 98% ของผู้ดื่มชื่นชอบ “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” ในเรื่องรสชาติสดใหม่ ขณะที่ 90% ชื่นชอบในความพรีเมียมของบรรจุภัณฑ์แก้วทรงขวดแชมเปญ และพบว่า 98% ต้องการให้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายเพิ่มเติมจากร้านอาหาร ผับบาร์ โรงแรมในเชียงใหม่และเชียงราย

    “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” ผลิตจากโรงงานเบียร์ช้างที่วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บรรจุในขวดขนาด 500 มิลลิลิตร ราคา 89 บาท ระดับราคาใกล้เคียงกับเบียร์นำเข้า เหมาะกับ grab & go ไลฟ์สไตล์ สะดวกและมีโอกาสเข้าถึงผลิตภัณฑ์มากกว่าปัจจุบันที่เน้นเพียงเพื่อการเฉลิมฉลองในช่วงปลายปี และตอบสนองความต้องการขายจากช่องทางร้านอาหารต่างๆ เท่านั้น

    โดย “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” วางตลาดในบรรจุภัณฑ์นวัตกรรมขวดอลูมินั่มฝาเกลียวที่นอกจากจะสามารถคงความเย็นได้นานกว่าบรรจุภัณฑ์กระป๋องทั่วไปแล้ว บรรจุภัณฑ์อลูมินั่มที่ผ่านการบริโภคแล้วทุกชิ้นส่วนสามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขาย “ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์” 25 ล้านขวด ในปี 2568


    ทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจเบียร์ประเทศไทย บริษัท ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ เป็นเบียร์พรีเมียมที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนักดื่มไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ มียอดขายเติบโตเกือบ 300% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) ณ เดือนกันยายน 2567 (ตุลาคม 66 - กันยายน 67) เพราะสามารถตอบโจทย์เมกะเทรนด์ Premiumization ของผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่คุ้มค่า และประสบการณ์ความแปลกใหม่ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ในไทย

    “บริษัทมั่นใจว่าช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ ขวดอลูมินั่มฝาเกลียว จะช่วยเสริมภาพลักษณ์พรีเมียมให้กับช้างมากขึ้น และยังเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท”

    ทรงวิทย์ กล่าวต่อว่า ตลาดเบียร์ในเมืองไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังจากโควิด-19 โดยข้อมูลจาก นีลเส็นไอคิว (ประเทศไทย) ณ เดือนกันยายน 2567 (ตุลาคม 66 - กันยายน 67) ระบุว่าตลาดเบียร์ไทยมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท หรือ 2,000 ล้านลิตร ใกล้เคียงกับก่อนโควิด มีอัตราการเติบโต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

    โดยแบรนด์ช้างมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันตลาด Mainstream ให้ฟื้นตัวกลับมากว่า 5% ในขณะที่ตลาดเบียร์พรีเมียม (Mass Premium) ยังคงมีโอกาสเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องจากเทรนด์ Premiumization โดยมีอัตราการเติบโตกว่า 30% มีมูลค่ารวมมากกว่า 40,000 ล้านบาท

    ตลาดเบียร์ในไทยแบ่งเป็น 4 เซ็กเมนต์ ได้แก่ economy beer, premium beer, premium plus beer ในสัดส่วน 5%, 60-70% และ 20% ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 5-15% เป็นเบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ

    “ความต้องการบริโภค economy beer ลดลงต่อเนื่องมาหลายปี ล่าสุดสัดส่วนเบียร์ในเซ็กเมนต์นี้เหลือเพียง 5% เท่านั้นจากที่เคยมีสัดส่วนถึง 10% ใน 15 ปีที่ผ่านมา” ทรงวิทย์กล่าว และว่า ตลาดเบียร์เมนสตรีมยังเติบโตได้ตามจีดีพีของประเทศ ขณะที่เบียร์เมนสตรีมพลัส หรือพรีเมียมเบียร์เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก และมีการเติบโตต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3-5 ปี

    “ยอดขายของเบียร์ช้างทุกตัวมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนตุลาคม เพราะการวางรากฐานมานานพร้อมกับทิศทางธุรกิจที่ชัดเจน ทำให้แบรนด์แชร์ของช้างขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดอีกครั้งหนึ่ง และมีภาพลักษณ์ที่พรีเมียมมากขึ้น” ทรงวิทย์กล่าว

    ปัจจุบันเบียร์ช้างมีผลิตภัณฑ์ในตลาดเบียร์พรีเมียม 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ช้าง โคลด์ บรูว์, ช้าง เอสเปรสโซ่ และช้าง อันพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งเบียร์พรีเมียมของช้างยังมีสัดส่วนรายได้เป็นตัวเลข single digit ของยอดขายเบียร์ช้างทั้งหมดในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็นตัวเลขสองหลักในอนาคตอันใกล้

    ทรงวิทย์กล่าวต่อว่า ปีหน้าตลาดเบียร์เมืองไทยยังมีภาพเป็นบวก เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเพิ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติ การทำตลาดเชิงรุกของค่ายเบียร์ต่างๆ และการมีโรดแม็ปพรีเมียมเบียร์ที่ชัดเจนและต่อเนื่องของช้าง

    “ปีนี้เป็นปีที่ดีของเบียร์ช้างทั้งในแง่ยอดขายและการควบคุมต้นทุน และเราหวังว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ดีกว่า” ทรงวิทย์กล่าวทิ้งท้าย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : One Bangkok กำลังเป็นแหล่ง ‘กิน-ดื่ม’ ที่ใหม่ ค่าย ‘ช้าง’ ทุ่ม 200 ล้านเตรียมเปิด Chang Canvas ร้านอาหารและเบียร์สด เอาใจคอเบียร์กลางกรุง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine