สหพัฒน์ฯ หวั่นว่างงานทุบกำลังซื้อทรุดยาว ทำเศรษฐกิจฟื้นช้า บริษัทลูกไอ.ซี.ซี.ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 20 ปี ยืนยันยังไม่มีปลดพนักงาน เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ ลุยออนไลน์ กัดฟันจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์เป็นครั้งแรก รับพฤติกรรม New Normal ร่วมมือ 3 แพลตฟอร์ม คาดรายได้ 100 ล้าน
ธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) แห่ง สหพัฒน์ฯ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภครายใหญ่ เปิดเผยว่า ภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคในปัจจุบันกำลังฟื้นตัวหลังการคลายมาตรการล็อกดาวน์ครบทั้ง 4 เฟสของรัฐบาล แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือภาวะว่างงาน ที่มีแนวโน้มคนตกงานมากขึ้นจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ครั้งนี้ และจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
ก่อนหน้านี้ หอการค้าแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ในภาวะเสี่ยงตกงานราว 10 ล้านคน ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ประเมินว่าสิ้นปี 2563 จะมีคนตกงานราว 2 ล้านคน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ
ธรรมรัตน์ กล่าวว่า สำหรับเครือสหพัฒน์ ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 1 แสนคน จาก 300 บริษัทในเครือ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ปรับโครงสร้างภายในให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งดูแลเรื่องสวัสดิการพนักงานให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ยังไม่มีบริษัทไหนเลิกจ้าง หรือลดจำนวนพนักงานแต่อย่างใด
สำหรับบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มเสื้อผ้า และชุดชั้นใน อาทิ แบรนด์ “วาโก้” ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีผลขาดทุน 117 ล้านบาท นับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 20 ปี เพราะกลุ่มสินค้าแฟชั่นได้รับผลกระทบอย่างมากจากที่ไม่สามารถขายสินค้าได้ตามปกติ ต่างจากสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น แม้ในช่วงล็อกดาวน์ก็มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคในเครือสหพัฒน์กลับมาได้ประมาณ 90% จากช่วงก่อนที่จะเกิดโควิด
“ช่วงก่อนเกิดโควิด สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมไม่สู้ดีนัก พอจะเริ่มฟื้นตัวก็เกิดโควิด ทำให้หยุดชะงัก แต่เป็นระยะสั้น สินค้าอุปโภค-บริโภคกลับฟื้นตัวเร็ว ต่างจากสินค้ากลุ่มแฟชั่นที่หายไป 100% อยากให้ภาครัฐดูแลเรื่องการว่างงาน กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เชื่อว่าจะทำให้ผ่านวิกฤตไปได้” ธรรมรัตน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเดินหน้าจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ ซึ่งในปีนี้เป็นการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์เป็นครั้งแรก จากการจัดงานในรูปแบบออฟไลน์ต่อเนื่องกันมา 23 ปี ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่นิยมการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น โดยงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 กรกฎาคม 2563 ผ่านเว็บไซต์ www.sahagroupfair.com
โดยร่วมมือกับ 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ LAZADA SHOPEE และ JD CENTRAL มีสินค้า 100 แบรนด์ กว่า 2 หมื่นรายการ มีทั้งสินค้านวัตกรรมใหม่ สินค้า Clearance Sales ที่ให้ส่วนลดสูงสุดถึง 80%
ธรรมรัตน์ กล่าวว่า
การจัดงานครั้งนี้ คาดว่าจะมีรายได้ 100 ล้านบาท ลดลงครึ่งหนึ่งจากการจัดงานปีที่แล้วที่มียอดขาย 200 ล้านบาท เพราะสินค้าบางรายการไม่ได้นำมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งการเปิดตัวสินค้าใหม่ไม่เท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทต้องปรับแผนการเปิดตัวสินค้าใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากปกติจะมีการเปิดตัวสินค้าทุกเดือน เช่น ผลิตภัณฑ์วาโก้ เป็นต้น ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าส่วนใหญ่จะเน้นนำสต็อกที่มีมาจำหน่ายก่อน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามปกติ ทำให้มีสินค้าค้างสต็อกจำนวนมาก
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค เครือสหพัฒน์ได้ร่วมกับสถาบันการเงินและกองทุนทั้งหมด 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อให้ส่วนลดเงินสดและเครดิตเงินคืนสำหรับการซื้อแบบ B2C และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับการซื้อแบบ B2B ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้อีกทางหนึ่ง
ธรรมรัตน์ กล่าวว่า ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 300% จากปกติมียอดขายผ่านช่องทางดังกล่าวประมาณ 10% คาดว่าปีนี้ยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 20% โดยบริษัทคาดว่าการขายผ่านช่องทางออนไลน์จะมียอดขายราว 5,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งบริษัทจะพัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้น
“หนึ่งในนโยบายสำคัญของเครือสหพัฒน์ คือ การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชั่น เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิทัล การจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออนไลน์ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบที่สุดของเครือสหพัฒน์ ซึ่งเปิดตัวมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นยุคที่ผู้บริโภคนิยมการซื้อสินค้าทางออนไลน์ และในสถานการณ์ที่ทุกคนควรเว้นระยะห่างทางสังคม” ธรรมรัตน์กล่าว
สำหรับผลประกอบการของเครือสหพัฒน์โดยรวมในปีนี้ คาดว่าจะมียอดขายลดลงประมาณ 5% จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายว่าจะมีอัตราการเติบโต 10% ในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เครือสหพัฒน์มีรายได้รวมราว 3 แสนล้านบาทต่อปี
อ่านเพิ่มเติม:
‘ฟู้ดอโมเม้นท์’ ปรับทัพรุกแผนพาแบรนด์ “ลูกชิ้นจัง” เข้า mai