วี ฟู้ดส์ ดึง “มอร์มีท” ร่วมชูไฮไลต์ “ไทยเทสต์” ชิงมาร์เก็ตแชร์กลุ่มสุขภาพ - Forbes Thailand

วี ฟู้ดส์ ดึง “มอร์มีท” ร่วมชูไฮไลต์ “ไทยเทสต์” ชิงมาร์เก็ตแชร์กลุ่มสุขภาพ

FORBES THAILAND / ADMIN
26 May 2022 | 03:22 PM
READ 3225

วี ฟู้ดส์ ชักธงรบตลาดแพลนต์เบส ดึงมอร์มีทร่วมชูไฮไลต์ไทยเทสต์ชิงมาร์เก็ตแชร์กลุ่มสุขภาพ พร้อมเปิดตัว 4 เมนูพร้อมทานสุดครีเอท ยกระดับการกินเพื่อสุขภาพให้สนุกยิ่งขึ้น

วี ฟู้ดส์ ดึง “มอร์มีท”
งานมหกรรมอาหารและเครื่องดื่มระดับภูมิภาคอาเซียน THAIFEX–Anuga Asia 2022

อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทยจำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมีแนวคิดที่ต้องการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม และพัฒนาสินค้าสุขภาพให้เหมาะกับกลุ่มตลาดของคนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับกระแสผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ รักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ 

โดยยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชหรือแพลนต์เบสร่วมกับบริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฟู้ดเทคสตาร์ทอัพที่รู้จักกันภายใต้แบรนด์สินค้ามอร์มีท : More Meat ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสพร้อมปรุงที่มีคุณภาพ และมีความแปลกใหม่ ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

สำหรับในปีนี้ทั้ง 2 บริษัทจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คงเอกลักษณ์และรสชาติความเป็นไทย หรือ Classic Thai Taste Series ให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชรสลาบทอด ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มลูกค้าวีแกน ลูกค้าทั่วไป รวมถึงชาวต่างชาติ ตามด้วยในช่วงกลางปี 2564 ที่ได้ออกสินค้าโปรตีนจากพืชรสต้มยำทอด และทอดมันแพลนต์เบสข้าวโพดเนื้อปู และล่าสุดในปี 2565 ได้พัฒนารสชาติใหม่อย่าง “กะเพรา” ซึ่งเป็นรสชาติที่คนไทยทุกคนคุ้นเคย โดยคงไว้ซึ่งคุณภาพ รสชาติ และความหอมสมุนไพรไทยอย่างกะเพรา คุณประโยชน์จากวัตถุดิบเห็ดแครงและถั่วเหลือง (Non-GMO Soy)  

ทั้งนี้ จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังพบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทั้งในเรื่องของรสชาติ เนื้อสัมผัสที่คล้ายเนื้อจริง ความแปลกใหม่ของสินค้า และตอบโจทย์กับการเลือกซื้อที่สามารถหาได้ง่ายและรวดเร็ว 

ที่ผ่านมาตลาดมักมองว่าการพัฒนาแพลนต์เบสจะต้องเป็นอาหารที่ผลิตมาเพื่อคนที่รักสุขภาพเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงสิ่งที่สำคัญที่ต้องควบคู่กับการดูแลสุขภาพคือ “รสชาติ” และ “ความหลากหลาย” โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคคนไทยที่ชอบมองหาสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ ทางแบรนด์จึงให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเนื่องจากอยากให้เรื่องของการรับประทานแพลนต์เบสเป็นเรื่องที่สนุก ตอบโจทย์กับวิถีชีวิต และตอกย้ำความสุขในการรับประทานอาหารประเภทดังกล่าวในทุกๆ วัน”

วี ฟู้ดส์ ดึง “มอร์มีท”

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสด้วยรสชาติความเป็นไทย และความหลากหลาย ยังเป็นการตอกย้ำคาแรคเตอร์ของแบรนด์ที่มุ่งสร้างสรรค์เพื่อบริโภคอยู่เสมอ และดึงให้กลุ่มที่ยังไม่เคยรับประทานแพลนต์เบสเปิดใจที่จะทดลอง หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของวีฟาร์มมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของวีฟาร์มก็ไม่ได้เจาะจงเฉพาะกลุ่มที่ไม่รับประทาเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่มองไปถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองหาอาหารทางเลือกที่มีรสชาติไม่จำเจ และสามารถเลือกซื้อได้อย่างสะดวก

ด้าน อนรรฆ โกษะโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทยจำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบส ครีเอชันขณะนี้มีประมาณ 10% แต่ปัจจุบันวีฟาร์มได้เริ่มมองเห็นโอกาสมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในปีนี้จะมีทิศทางในการรุกตลาดแพลนต์เบสมากกว่าที่ผ่านมา แต่จะเน้นไปที่แพลนต์เบสจากพืชที่ไม่ได้ผ่านการบด หรือปรุงแต่งให้คล้ายเนื้อสัตว์ แต่จะเป็นแพลนต์เบสทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ชอบทานผัก กลุ่มคนรุ่นใหม่ 

การผลิตและการเก็บรักษาจะเน้นไปที่แพลนต์เบสแช่งแข็ง เนื่องจากมีอายุการเก็บที่ยาวนานขึ้น ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันได้ค่อนข้างดี โดยยังจะมีการรุกตลาดต่างประเทศ ด้วยการการนำสินค้าที่มีรสชาติแบบไทยๆ  ไปในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะแพลนต์เบสไบต์ ที่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ รับประทานง่าย โดยมั่นใจว่าในแง่ของการแข่งขันด้านรสชาติ เป็นข้อได้เปรียบที่วีฟาร์มสามารถตีตลาดได้อย่างแน่นอน”

ล่าสุด วีฟาร์มยังได้มีการเปิดตัว 4 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ในงาน THAIFEX – ANUGA ASIA 2022โดยเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทานที่ตรงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่ม Flexitarian ได้แก่ Champignon mushroom nuggets แชมปิอญองนักเก็ต Buffalo cauliflower wings ดอกกะหล่ำปีวิงซ์ ที่ให้รสชาติเสมือนเนื้อไก่ทอด Spinach with vegan chees bite ชีสบอลสปินิช และ Mix root vegetable fried เฟรนช์ฟรายมัน 4 อย่าง ได้แก่ มันหวาน มันม่วง มันส้ม มันฝรั่ง ซึ่งปรุงสุกได้ง่ายๆ ผ่านหม้ออบลมร้อน หรือการทอดผ่านน้ำมัน 

วี ฟู้ดส์ ดึง “มอร์มีท”
วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด

วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มอร์ฟู้ดส์อินโนเทค จำกัด ผู้พัฒนาแพลนต์เบสแบรนด์ “มอร์มีท” (More Meat) เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ตลาดสินค้าแพลนต์เบสแข่งขันอย่างดุเดือด มอร์มีทจึงปรับกลยุทธ์การแข่งขันโดยจะเน้นที่การพัฒนา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยเฉพาะลดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร และหาพืชทางเลือกใหม่  ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ดียิ่งขึ้น มีเนื้อสัมผัสที่หนึบและจับตัวกันมากขึ้น และทำให้ผลิตภัณฑ์มีไฟเบอร์สูงมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลนต์เบสจากเมนูจานโปรดของคนไทย เช่น อาหารที่มีรสจัดจ้าน หรือจานเด็ดที่ต้องสั่งประจำของร้านอาหารอีกด้วย

นอกจากปรากฏการณ์การแข่งขันสินค้าแพลนต์เบสจะมีผู้เล่นเข้ามาหลายรายแล้ว ยังมีอีกปรากฏการณ์ที่น่าจับตา คือ กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นนิวเจน โดยเฉพาะกลุ่มคนเจน Z ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวมีการแสดงออกถึงการใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทั้งบนโซเชียลมีเดียและในวิถีชีวิตจริง จึงเป็นแนวทางสำคัญในเชิงการตลาด และคุณภาพของสินค้าที่จะต้องตอบกับความต้องการของคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น" 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่มาควบคู่กับการเติบโตก็คือการมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติ และเลี่ยงอาหารที่มีการปรุงแต่งจนมีรสชาติที่ผิดไปจากเดิม จากปัจจัยดังกล่าวทางแบรนด์จึงมีการวางขายผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสสูตรใหม่ที่มีโซเดียมต่ำและไม่มีกลูเตน ซึ่งมอร์มีทถือเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในตลาดแพลนต์เบสไทยที่มีการลดวัตถุเจือปนอาหารในผลิตภัณฑ์ลงให้เหลือน้อยที่สุด 

ที่ผ่านมามอร์มีทเติบโตสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 150% และคาดว่าในปีนี้ตลาดแพลนท์เบสน่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30% โดยมอร์มีทตั้งเป้าว่าอยากจะครองสัดส่วนตลาดในปีนี้ให้ได้อีก 20% การเติบโตของมอร์มีทยังส่งผลให้เกษตรกรเติบโตไปด้วยจากเดิมที่มีกลุ่มผู้ปลูกเห็ดแครงเพียง 10 ครัวเรือน ในปัจจุบันขยายเพิ่มขึ้นถึง 30 ครัวเรือน ในอนาคตมอร์มีทกำลังมองหาพืชทางเลือกอื่นที่จะนำมาพัฒนาเป็นเนื้อจากพืชรูปแบบใหม่ โดยเลือกพืชท้องถิ่นในโซนภูมิภาคอื่นๆ เช่น ภาคอีสาน เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย และมอร์มีทเองก็จะได้วัตถุดิบจากท้องถิ่นใหม่ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย 

อ่านเพิ่มเติม: อภิรักษ์ โกษะโยธิน พา V Foods เข้าตลาดฯ หยั่งรากธุรกิจอาหารจากพืช

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่ เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine