พวกเรา Forbes Thailand ได้พูดคุยกับ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เจ้าของและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (V Foods) เมื่อปลายปี 2562 ในวันนั้นบริษัทขนาดเล็กแห่งนี้เน้นผลิตสินค้าจากพืชผลทางการเกษตรเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดตัดท่อนพร้อมทาน ข้าวโพดถ้วยคุกเนย หรือเครื่องดื่มน้ำนมอย่างข้าวโพดและน้ำฟักทอง ออกจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง
แต่มาวันนี้ปี 2564 ดูเหมือนบริษัทที่มีอายุ 7 ขวบเปลี่ยนแปลงไปจนเห็นได้ชัด จากผลิตสินค้าจากพืชผลทางการเกษตรที่ผลิตดูแล้วไม่ซับซ้อนเข้าสู่โหมดผลิตภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยไอเดียและนวัตกรรม อภิรักษ์ โกษะโยธิน ยังวาดแผนในอีก 4 ปีข้างหน้าหรือปี 2568 ว่า จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ หรืออาจจะเร็วกว่านั้นในปี 2567 โดยเข้าระดมทุนผ่านกระดานหุ้นแห่งที่ 3 ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่เปิดโอกาสให้กับบริษัทเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพเข้าระดมทุน โดยมีกำหนดเปิดทำการในปลายปี 2564 อภิรักษ์ กล่าวว่า จะเข้าตลาดไหนนั้นคงต้องพิจารณากันอีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของผลประกอบการและเงินทุนที่เขาต้องการ สำหรับเงินระดมทุนที่ได้นั้น เขาต้องการนำไปขยายงานด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืช (plant-based food and beverage) เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเพื่อลงทุนในด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และยังเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการกระจายสินค้าและเสริมสร้างเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ การรุกเข้าสู่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืชอย่างเต็มตัวของ V Foods เป็นเพราะที่ผ่านมาเขาได้เรียนรู้ว่า การผลิตสินค้าที่เน้นผลผลิตจากพืชผลทางการเกษตรเป็นหลักนั้น ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้จากลมฟ้าอากาศ บางปีเจอภัยแล้ง บางปีเจอภัยน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถควบคุมผลิตผลและคุณภาพพืชผลทางการเกษตรจากเกษตรกรเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงาน ทำให้ต้องคิดหาช่องทางการเติบโตใหม่ๆ ที่มั่นคงกว่า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืชจึงน่าจะเป็นทางออกที่ลงตัวที่สุด ซึ่งในเวลาเดียวกันก็สอดคล้องกับจุดยืนของบริษัทที่เริ่มก่อตั้งแต่ในปี 2557 ที่ว่า จะพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับคนไทยยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ ปัจจุบันตลาดอาหารที่ทำมาจากพืชกำลังเติบโตมากในระดับโลก อย่างในอเมริกา สินค้านี้ได้รับความนิยมมากขึ้นและมีแบรนด์ดังๆอย่าง Beyond Meat ที่ผลิตสินค้าป้อนกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ไม่นับรวมในฝั่งยุโรปและหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย สำหรับประเทศไทยเองก็เติบโดสอดคล้องกับทิศทางในต่างประเทศเช่นกัน เนื่องจากคนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ บวกกับกระแสความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมและรักโลกอย่างยั่งยืน ทำให้ตลาดนี้เติบใหญ่มากขึ้นทุกๆ ปี ปัจจุบันตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืชในไทยมีมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมีกลุ่มเครื่องดื่มมีมูลค่ามากที่สุด อย่างเช่นผลิตภัณฑ์น้ำนมถั่วเหลืองและน้ำเต้าหู้มีมูลค่าเป็นหลักหมื่นล้านบาท แต่ช่วงหลังก็มีผลิตภัณฑ์น้ำนมที่ทำมาจากพืชอย่างถั่วมาเป็นวัตถุดิบเช่น อัลมอนด์ และพิสตาซิโอ ซึ่งเป็นแบรนด์ต่างประเทศ แต่ผลิตในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหารพร้อมทาน (ready to eat) ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เปิดตัวออกมาค่อนข้างมากปักชำธุรกิจ
เมื่อทุกอย่างชัด เขาจึงเริ่มลุยธุรกิจนี้ทันที และพยายามมองหา “strategic partners” เพื่อสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา วันหนึ่ง อภิรักษ์ก็เจอพันธมิตรที่ “ใช่” ในต้นปี 2563 เขาได้พบและพูดคุยกับสตาร์อัพ food tech ของคนรุ่นใหม่ที่ชื่อ บริษัท มอร์ฟูดส์อินโนเทค จำกัด (More Foods Innotech) ผู้ผลิตเนื้อเทียมจากพืชภายใต้แบรนด์ชื่อ More Meat และ V Foods เข้าถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้ต่อมา นอกจากนี้ ยังได้ลงนามใน MoU กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) ผู้ผลิตอาหารทะเลสำเร็จรูปชาวไทยระดับโลก ทั้งคู่จะร่วมกันคิดค้นวิจัยอาหารที่ทำมาจากพืช พร้อมกับใช้โรงงานที่เป็นฐานการผลิตของ TU เพื่อผลิตสินค้า โดย TU มีจุดแข็งคือ มีหน่วยงาน global innovation center และเครือข่ายการกระจายสินค้าในต่างประเทศ ไม่นับรวมโรงงานผลิตที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี อภิรักษ์บอกว่า การหาพันธมิตรทางธุรกิจก็เพื่อรวมจุดแข็งและทรัพยากรที่มีเข้าด้วยกัน และยังทำให้บริษัทเดินหน้าแผนธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น โดย V Foods เป็นบริษัทที่มีจุดแข็งทางด้านการตลาด การจัดจำหน่ายสินค้าในช่องทางต่างๆ และมีฐานข้อมูลและพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่ในมือ อย่างการเข้าถือหุ้นในมอร์ฟูดส์อินโนเทค บริษัทจะเข้าไปช่วยเรื่องการโปรโมทและการจัดจำหน่ายสินค้า More Meat “สตาร์ทอัพ (มอร์ฟูดส์อินโนเทค) ลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา คิดค้น เป็นการ synergy จุดอ่อนจุดแข็ง หรือ strength ของแต่ละบริษัท เราก็มีความพร้อมในเรื่องการจัดจำหน่าย การตลาด เพราะอยู่ในตลาดมานาน แล้วมีพื้นฐานลูกค้าอยู่แล้ว และสิ่งที่ทำร่วมกันคือ educate ตลาดเพราะเป็นตลาดที่เพิ่งเริ่ม” อภิรักษ์ โกษะโยธิน กล่าว นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นคือ V Foods ได้นำผลิตภัณฑ์ More Meat มาต่อยอด ทำเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ V Farm ที่ทำมาจากพืชของบริษัทในรูปของผลิตภัณฑ์พร้อมทาน โดยสินค้าตัวแรกที่ทำคือ V Farm ลาบทอด เป็นสินค้าที่ถือว่าขายดีที่สุดของบริษัทในเวลานี้ เนื่องจากรสชาติถูกปากคนไทย หลังจากได้เปิดตัวสินค้าช่วงต้นปีนี้ โดยวิธีการรับประทานง่ายๆคือ ผู้บริโภคเพียงแค่ทำให้สุก อย่างนำไปใส่หม้อทอดน้ำมัน ก็สามารถทานได้เลย อนาคตจะมีสินค้าใหม่ๆ ออกเพิ่มมากขึ้นภายใต้แนวใต้ซีรี่ย์สินค้า Classic Thai Taste ซึ่งเป็นรสชาติอาหารไทย นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ V Farm ลาบทอด และ More Meat ไปขายที่ประเทศอังกฤษในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยขายผ่านเครือข่ายร้านอาหารไทยในกรุงลอนดอน ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยผ่านกับเครือข่าย Thai Trade Center ทางกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ไปในเครือข่าย Thai Trade Center ในประเทศต่างๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ ฮ่องกง สิงคโปร์ และมีแผนที่จะส่งสินค้าไปจำหน่ายในช่วงปลายปีนี้ ปัจจุบัน V Foods ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ V Food (ก่อนหน้ามีแบรนด์ V Farm ใช้กับสินค้าบางรายการ แต่ปัจจุบันแบรนด์นี้เลิกใช้แล้ว) มี 3 กลุ่มสินค้าหลักคือ หนึ่ง เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวโพดพร้อมทานในรูปแบบต่างๆ และมีสินค้าใหม่ๆออกเพิ่มเช่น แห้วพร้อมทาน มันหวาน มันม่วง ฟักทอง (คิดเป็นสัดส่วนรายได้ร้อยละ 85) สองเป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืช อาทิ น้ำนมข้าวโพด น้ำฟักทอง และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม (ร้อยละ 10) และสาม เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช (ร้อยละ 5) โดยในปี 2068 คาดว่าสัดส่วนรายได้จากทั้งสามกลุ่มจะเปลี่ยนเป็นร้อยละ 50, 25 และ 25 ตามลำดับ เพื่อสร้างความสมดุลในพอร์ตสินค้าของบริษัท โดยรายได้ปี 2564 คาดว่าจะได้ 164 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 12 จากปีก่อน ส่วนธุรกิจที่เติบโตมากสุดคือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากพืช โดยเป้าหมายปี 2565 คาดว่าจะมียอดขาย 220 ล้าน หรือเติบโตประมาณร้อยละ 36 จากปีก่อนหน้า และปี 2068 คาดรายได้จะถึง 530 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่บริษัทเข้าระดุมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่เป้าหมายการออกสินค้าใหม่ เฉลี่ยแล้วอย่างน้อย 7-10 ตัวต่อปีโอกาสธุรกิจโลกยุคใหม่
เมื่อถามอดีตพ่อเมืองกทม. สองสมัยว่า พอใจไหมกับผลงานในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาไหม? อภิรักษ์ไม่ให้คำตอบตรงๆ แต่บอกว่า ธุรกิจของเขาเติบโตมาตลอด แม้ว่าจะเจอปัญหาบ้าง อย่างภัยแล้ง น้ำท่วม หรือพืชผลทางเกษตรไม่ดีและไม่พอมาผลิตเป็นสินค้า และแย่ที่สุดคือ ช่วงโควิดระบาดและรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ยอดขายหลักจากแหล่งท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ และจังหวัดในภาคใต้ ลดลงร้อยละ 30-40 อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า ท้ายสุดบริษัทก็สามารถฝ่าวิกฤตมาได้ เนื่องจากการปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีและเปลี่ยนวิกฤตเป็น “โอกาส” โดยใช้เวลาช่วงนี้ “transform” องค์กร เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในวันข้างหน้า และที่เห็นชัดคือ สามารถเปลี่ยนบทบาทบริษัทเข้าสู่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืชได้เป็นผลสำเร็จ “ผมคิดว่า purpose ของบริษัทเราไม่ต้องการแค่ว่า เราต้องการเป็นผู้นำอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอย่างเดียว แต่เรามี purpose ที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพืชให้กับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม” อภิรักษ์กล่าว และย้ำว่า สินค้าของบริษัทกำลังเข้าไปอยู่ในไลสไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกว่า “urban healthy lifestyle consumer” เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในเมือง ที่มีวิถีหรือไลฟ์สไตล์ที่ดูแลเรื่องสุขภาพ โดยแผนการทั้งหมดนี้ก็อภิรักษ์ก็หวังที่พิชิตเป้าหมายให้บริษัทเป็น “Global Thai brand” เป็นแบรนด์ระดับโลกที่เป็นแบรนด์ของคนไทย มีผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำมาจากพืชภายใต้แบรนด์ V Farm และแบรนด์พันธมิตรของบริษัทอย่าง More Meat ภาพ: V Foodsไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine