ปรับเกมกลยุทธ์ให้ทัน เทรนด์ผู้บริโภคไทย หลังสถานการณ์โควิด-19 - Forbes Thailand

ปรับเกมกลยุทธ์ให้ทัน เทรนด์ผู้บริโภคไทย หลังสถานการณ์โควิด-19

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน แน่นอนว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไปด้วย และเพื่อให้ภาคธุรกิจเข้าใจถึง เทรนด์ผู้บริโภคไทย ในปัจจุบันและอนาคต พร้อมปรับเกมกลยุทธ์รับมือได้อย่างทันท่วงที LINE ประเทศไทย จึงจัดงานสัมมนาพิเศษในรูปแบบ Live Event ภายใต้หัวข้อ “Thailand Now And Next After COVID-19 พฤติกรรมผู้บริโภคไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรหลังสถานการณ์โควิด-19”

หนึ่งในช่วงที่น่าสนใจคือช่วงสัมมนาในหัวข้อ “Next for Thais: เทรนด์ผู้บริโภคไทย ในก้าวต่อไปหลังสถานการณ์โควิด-19” โดย สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะนีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง Forbes Thailand สรุปมาให้ผู้อ่านได้ดังนี้

 

เศรษฐกิจติดลบไม่ได้มาจากโควิด-19 อย่างเดียว

สมวลี เริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็นถึงภาพรวมถึงสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นปัญหาอันดับ 1 ที่คนไทยกังวล ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลกต่างปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงมา โดยในประเทศไทยก็ปรับลงมาถึงติดลบ 5.3%

อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการปรับลดประมาณเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ได้มาจากการระบาดของโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัญหาสำคัญอย่างภัยแล้ง, หนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงช่องว่างระหว่างรายได้ของคนจนและคนรวยด้วย

 

สินค้าจำเป็นยังขายได้

สมวลี เผยว่า แม้ในช่วงนี้ที่สินค้าหลายอย่างขายได้ยากมากขึ้น แต่สินค้าจำเป็นยังเป็นกลุ่มที่อัตราการเจริญเติบโตยังดีอยู่ โดยดัชนีค้าปลีกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาบวก 2-3% รวมถึงในบางพื้นที่อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือบวกมากกว่า 3% ด้วยซ้ำ เนื่องจากไม่ได้มีผลกระทบจากภาคการท่องเที่ยวมากนัก

นอกจากออนไลน์ช็อปปิ้งเติบโตสูงขึ้นมากแล้ว อีกสิ่งที่เห็นคือคนลดการทานข้าวนอกบ้าน แต่หันไปซื้อแบบกลับบ้านหรือใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ รวมถึงหันไปทำอาหารทานเองเพิ่มขึ้นพอสมควร

“ในบางประเทศ สิ่งนี้กลายเป็น new normal ไป แต่สำหรับในประเทศไทย เรายังมองว่าอัตราการบริโภคอาหารภายในบ้านอาจยังมีอยู่บางส่วน เพราะว่าคนไทยยังมีวัฒนธรรมไปทานข้าวนอกบ้านอยู่ เมื่อวิกฤตจบแล้ว ผู้บริโภคไทยก็น่าจะกลับไปทานร้านอาหารเหมือนเดิม”

นอกจากนี้ การ work from home ที่มากขึ้น รวมถึงการออกกำลังกายแบบ indoor ก็เพิ่มขึ้นสูงมาก สิ่งหนึ่งคืออยากให้ผู้ประกอบการมองว่าเทรนด์นี้จะเป็นโอกาสอย่างไร เพราะไลฟ์สไตล์คนจะเริ่มเปลี่ยน

 

ช่วงเวลานี้ต้อง Push ไม่ใช่ Pull

นอกจากพฤติกรรมการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ผู้บริโภคก็ให้ความใส่ใจเรื่องคุณภาพมากขึ้น และให้ความสำคัญกับราคาลดลง ทำให้สงครามราคาจะลดความรุนแรงลง

นั่นหมายถึง อนาคตหากผู้ประกอบการจะทำแบรนดิ้งในเชิงคุณภาพ ก็จะทำให้ควบคุมในเรื่องของราคาได้ด้วย โดยผู้ผลิตที่มีการผลิตสินค้าที่ช่วยป้องกันเชื้อโรค พร้อมโชว์ในเรื่องมาตรฐาน เรียกได้ว่าเป็นการจับโอกาสในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี

เทรนด์อีกส่วนที่น่าสนใจคือ แต่เดิมผู้บริโภคในเอเชีย 70% ชื่นชอบและคุ้นเคยกับการใช้สินค้าแบรนด์ท้องถิ่น แต่ผลวิจัยในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 จะเห็นได้ว่าโลคอลแบรนด์เติบโตมากขึ้น เช่น สินค้าในกลุ่มของใช้ในครัวเรือน เครื่องดื่ม เป็นต้น

สาเหตุอาจเป็นเพราะผู้ประกอบการมีการปรับสัดส่วนการขายมาเป็นในประเทศมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคเองก็กังวลกับการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ตรงนี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการโลคอลแบรนด์เลยทีเดียว

“อีกอย่างหนึ่งคือโลคอลแบรนด์ปรับตัวได้ค่อนข้างเร็วในแง่ของการออกสินค้านวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้คน จึงทำให้เห็นการเจริญเติบโตที่ดีของแบรนด์โลคอล”

ดังนั้น ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่จะต้อง Push ไม่ใช่ Pull กลยุทธ์ทางการตลาดใดๆ อยากให้เห็นว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่มีโอกาส

อีกเทรนด์ที่เห็นในประเทศไทยคือ auto shopping subscription คือการที่ผู้บริโภคสั่งให้มาส่งสินค้าชนิดหนึ่งที่บ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน หากเจาะตลาดตรงนี้ได้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมียอดขายที่มั่นคง

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่อยากให้นักการตลาดให้ความสนใจคือเรื่อง untag relationship ทั้งนี้ ในแง่ของการสร้างแบรนดิ้งแต่เดิมมีการใช้ช่องทางหลายช่องทาง ซึ่งต้องไม่ลืมว่าเราใช้การสื่อสารจากบุคคลค่อนข้างเยอะ ทั้ง PC ใช้คนขายของ แต่ในอนาคต เราจะเห็นการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น VR มาสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าโดยที่ไม่จำเป็นต้องสื่อสารโดยตรงจากพนักงานเสมอไป

ยกตัวอย่าง สินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ที่สามารถเทสต์ผ่านแอปพลิเคชันว่าเมื่อใช้รองพื้นสีนี้ หน้าเราจะเป็นอย่างไร หรือในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ที่สามารถลองชุดผ่านแอปแล้วสั่งซื้ออนไลน์ได้เลย

“สถานการณ์นี้จะเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น”

 

ฉวยจังหวะคนเสพสื่อเยอะให้เป็นประโยชน์

ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่คนเสพสื่อเพิ่มขึ้นมากทั้งทีวีและดิจิทัล โดยสำหรับสื่อโซเชียลมีเดีย ในประเทศจีนพบว่าช่องทางนี้กลายเป็นช่องทางหลักที่คนจะเสพสื่อ แม้กระทั่งผู้สูงอายุเองก็รับสื่อจากโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นด้วย

ขณะที่คนไทยก็อ่านข่าวมากขึ้น โดยเช็คข่าวอย่างน้อย 12 ครั้ง/สัปดาห์ เพราะฉะนั้น สิ่งคำคัญคือแบรนด์ควรจะใช้โอกาสนี้ในการโฆษณาผ่านสื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

ทั้งนี้ จริงอยู่ที่ช่วงเวลานี้อาจไม่ใช่ช่วงเวาที่เหมาะสมของหลายโปรดักต์ แต่สินค้าหลายชิ้นก็เหมาะสม เช่น สินค้าพรีเมียมบางอย่างที่จะต้องเน้นการสร้างแบรนด์ในระยะยาว ซึ่งถ้าช่วงนี้ผู้ประกอบการหลายคนถอนตัว นี่ก็เป็นจังหวะที่แบรนด์ที่เห็นโอกาสจะได้ความสนใจจากคนดูเพิ่มมากขึ้น

“แม้จะมีความกังวลในเรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ก็ยังมีโอกาสอยู่ในตลาดอีกมาก ผู้ประกอบการต้องเร่งหาโอกาส อย่าให้ตลาดต้องหยุดชะงัก”

 

ปรับตัวให้ทัน เทรนด์ผู้บริโภคไทย

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ประกอบการควรปรับตัว วางเกมกลยุทธ์ใหม่ เพื่อให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต มีดังต่อไปนี้

1.การปรับตัวจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ ใครที่ยังขายออฟไลน์อยู่ ตอนนี้อาจต้องคิดแล้วว่าจะใช้ช่องทางออนไลน์อย่างไร หรือร่วมมือการบริการเดลิเวอรี่อย่างไรบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวผู้บริโภคต่อไป

2.การขยายพื้นที่การส่งสินค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะนี่คือโอกาส โดยอาจดึงผู้ให้บริการขนส่งเข้ามาเป็นตัวช่วย

3.อัพเกรดซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ คือยกระดับการขนส่งให้มีความพร้อมต่อการขยายไปสู่ช่องทางออนไลน์

4.ขยายช่องทางโซเชียลมีเดีย สถานการณ์นี้เป็นจังหวะดีทีเดียวที่จะขยายการสื่อสารผ่านช่องทางนี้ให้ใหญ่ที่สุด สร้าง impact ให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นช่องทางที่ค่าใช้จ่ายน้อย มีประสิทธิภาพพอสมควร และมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน จึงเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการต้องหันมาใช้ช่องทางนี้เป็นกลยุทธ์หลักให้มาก

สมวลี ระบุว่า สาเหตุที่ภาคธุรกิจต้องเริ่มปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เพราะวันนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ผู้บริโภคจะเคลื่อนย้ายไปสู่พฤติกรรมที่เป็น new normal ทั้งการบริโภคสินค้าและการเสพสื่อ จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจกับวิธีคิดของคนที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ

“เพราะหากเราไปจับผู้บริโภคในวันที่เขาเข้าไปสู่ new normal แล้ว อย่าลืมว่าสิ่งที่เราขาดคือความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น ทำให้เราไม่สามารถดีไซน์ประสบการณ์ที่เหมาะสมกับเขาในวันนั้นได้ ถ้าเทียบกับคนที่ทำความเข้าใจผู้บริโภคตั้งแต่วันนี้”

“การเกิดขึ้นของโควิด-19 กินเวลายาวนานพอสมควร และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในหลายๆ พฤติกรรม ดังนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไปรอปลายทางแล้วทำความเข้าใจผู้บริโภค” สมวลี กล่าวทิ้งท้าย