ปั้น (ธุรกิจ) หน้ากากผ้า สู้โควิด-19 - Forbes Thailand

ปั้น (ธุรกิจ) หน้ากากผ้า สู้โควิด-19

การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้หน้ากากอนามัยสูงขึ้น บ้างก็กว้านซื้อเพื่อนำไปขายต่อ จนมีการรณรงค์ให้บุคคลทั่วไปใช้ หน้ากากผ้า และสงวนหน้ากากอนามัยไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์

ขณะเดียวกัน บริษัทเอกชนที่ทำผลิตภัณฑ์โดยใช้ผ้าเป็นวัตถุดิบก็ร่วมผลิต หน้ากากผ้า บริจาคให้กับสถานพยาบาล และเห็นว่าตลาดยังมีความต้องการอยู่ จึงเพิ่มไลน์ผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย กลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แบรนด์เริ่มเข้ามาจับตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในช่วงนี้

เริ่มตั้งแต่ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชุดชั้นในแบรนด์ “ซาบีน่า” เริ่มผลิตหน้ากากผ้าช่วงกลางเดือนมีนาคมที่โรงงานในจังหวัดยโสธร เพื่อแจกให้พนักงานใช้ ต่อมามีหน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาลในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียงขอรับการสนับสนุน ทางบริษัทจึงผลิตเพิ่มเพื่อบริจาคให้กับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ผลิตหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น หรือวิน-มาสก์ (WIN-MASKS) ซึ่งต่อยอดจากนวัตกรรมผ้ากันไร่ฝุ่น ที่เป็นการคิดค้นร่วมกันระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา และศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่น โรงพยาบาลศิริราช พัฒนาเป็นหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นละอองฝอยขนาด 5 ไมครอน การซึมผ่านของละอองฝอยเสมหะหรือสารคัดหลั่ง ซึ่งสามารถซักและนำมาใช้ซ้ำ โดยมีเป้าหมายผลิตหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น WIN-MASKS ส่งมอบให้โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 1 แสนชิ้น

ต้นเดือนเมษายน ผู้บริหารตัดสินใจยกระดับการผลิตหน้ากากผ้าจากไลน์ผลิตขึ้นเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ รองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้กระบวนการผลิตและขั้นตอนการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

หน้ากากนาโน WIN-MASKS ของซาบีน่า ที่ส่งมอบให้ รพ.ศิริราช

สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ผลิตภายใต้แบรนด์ของลูกค้า ซึ่งขณะนี้มียอดสั่งซื้อ 4-5 ล้านชิ้น 2.แบรนด์ซาบีน่า โดยกลางเดือนเมษายน จะออกสินค้าหน้ากากผ้าแนวแฟชั่น ราคาชิ้นละ 150 บาท และสิ้นเดือนเมษายนเป็นหน้ากากผ้าป้องกันแบคทีเรียและฝุ่น แพ็คละ 2 ชิ้นราคา 190 บาท

บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด เจ้าของแบรนด์ “นารายา” ผลิตผ้าปิดจมูกสีขาวทำจากทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์ 2 ชั้น ดีไซน์และตัดเย็บแบบ 3D โค้งรับเข้ากับรูปหน้า ในเว็บไซต์ระบุว่ามีคุณสมบัติในการป้องการการแพร่กระจายสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ระหว่างกันได้ สามารถนำไปซักและใช้ซ้ำได้ จำหน่ายชิ้นละ 50 บาท

หน้ากากผ้าจากนารายา

ต้นเดือนเมษายน Greyhound Original ผู้ผลิตเสื้อผ้าแฟชั่น “แบรนด์เกรฮาวด์”เปิดให้พรีออเดอร์หน้ากากผ้าในโครงการ SAFE  SERVICE PROJECT ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 3 ถึง 9 เมษายน 2563 เป็นหน้ากากพร้อมกระเป๋าเก็บที่สามารถห้อยกับหูกางเกงหรือกระเป๋า จำหน่ายเซ็ตละ 550 บาท โดยให้ Pre-order

หน้ากากผ้าจากเกรฮาวด์

จีคิว แอพพาเรล (GQ Apparel) แบรนด์เครื่องแต่งกายที่สร้างชื่อเสียงกับโปรดักต์เสื้อเชิ้ตขาว GQWhite™ กับฟีเจอร์กันน้ำกันเลอะ หยุดการผลิตเสื้อขาวชั่วคราว โดยนำวัตถุดิบและกำลังคนมาผลิต GQWhite™ Mask หน้ากากผ้ากันน้ำแทน โดยเนื้อผ้าชั้นในใช้นวัตกรรมเส้นใย Perma™ ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และใช้ซ้ำได้ไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง หน้าเว็บไซต์ของบริษัทมีข้อความว่า “ขายแล้ว 19,654 ชิ้นใน 5 ชม.” หน้ากากชิ้นละ 150 บาท ลองคูณตัวเลข ผลลัพธ์ออกมาเท่ากับ 2,948,100 บาท!

หน้ากากผ้าจาก GQ Apparel

ส่วน บริษัท ไทยแลนด์ นิตติ้ง จำกัด เจ้าของเสื้อยืดตรา“ห่านคู่” ผลิตหน้ากากผ้าฝ้าย 100% หนา 3 ชั้น โดยด้านในสุดเป็นช่องว่างสำหรับใส่แผ่นกรอง ตัดเย็บเป็นรูปทรง 3 มิติ โค้งตามรูปหน้า ชิ้นละ 39 บาท จำกัดการซื้อ 12 ชิ้นต่อออเดอร์

หน้ากากผ้าโดยห่านคู่

ชุดชั้นในชาย แบรนด์ “เจเพรส”ผลิตหน้ากากผ้า “เจ.มาสก์” (J.MASK) ทำจากผ้าคอตตอนยืดคุณภาพดี มีความนุ่มทบ 2 ชั้น จำหน่ายเป็นแพ็ค 10 ชิ้น ราคา 200 บาท โดยในการผลิตแต่ละรอบ ทางบริษัทแบ่งสินค้าไปบริจาคให้แก่หน่วยงานต่างๆ ด้วย

หน้ากากผ้าจากเจเพรส

อาจเป็นเพราะราคาที่ย่อมเยา ทำให้มีผู้ติดต่อเพื่อจ้างผลิต แต่ผู้บริหารเจเพรสชี้แจ้งว่าไม่สามารถรับจ้างได้ เนื่องจากสินค้าไม่ได้บวกกำไร เพราะต้องการขายหน้ากากผ้าราคาต่ำสุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้คนไทยได้ใช้หน้ากากผ้าคุณภาพดี ราคาย่อมเยา

อีกส่วนเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่รับจ้างผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และได้รับการสนุนจาก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้มีช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ภายใต้โครงการ “สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์”  มีบริษัทร่วมโครงการ 7 แห่ง ซึ่งทั้งหมดได้ผลิตหน้ากากผ้าวางจำหน่ายในตลาดแล้ว โดยข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่าภาพรวมของผู้ประกอบการสิ่งทอไทยมีกำลังการผลิตหน้ากากผ้าได้มากกว่า 187,000 ชิ้นต่อวัน

หนึ่งในนั้นคือ บริษัท มณีอินเนอร์แวร์ จำกัด ซึ่งตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเป็นโมเดลต้นแบบของผู้ประกอบการในการปรับกระบวนการผลิต โดยเป็นผู้พัฒนานวัตกรรม “หน้ากากผ้าสะท้อนน้ำ” ป้องกันละอองฝอยที่เกิดจากการไอ จาม และปราศจากสารประกอบฟลูออโรคาร์บอนที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง กสอ.ให้คำปรึกษาและส่งเสริมด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทมีกำลังผลิต 40,000 ชิ้นต่อเดือน มีทั้งหน้ากากผ้าคอตตอนสำหรับบุคคลทั่วไป และผ้าสะท้อนน้ำสำหรับบุคลากรทางการแพทย์

เมื่อหน้ากากผ้ากลายเป็น “ของมันต้องมี” จึงเป็น “โอกาส” ของนักธุรกิจด้วยเช่นกัน!

   
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine