ส่องโฆษณาหลังโควิด โซเชียลมีเดีย ยังแรง ธุรกิจคอนเทนต์ดาวรุ่ง - Forbes Thailand

ส่องโฆษณาหลังโควิด โซเชียลมีเดีย ยังแรง ธุรกิจคอนเทนต์ดาวรุ่ง

เอ็มไอ กรุ๊ป ส่องอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2566 เติบโตร้อยละ 4.2 ท่ามกลางวิกฤตพลังงาน ต้นทุนพุ่ง สื่อโซเชียลมีเดียยังมาแรง คนสูงวัยเริ่มใช้ออนไลน์มากขึ้น นักการตลาดต้องเสาะหาคอนเทนต์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบแยกย่อย ด้านมหาวิทยาลัยหอการค้าระบุ “ธุรกิจคอนเทนต์” ดาวรุ่ง


    กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด (MI) เปิดเผยผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคและภูมิทัศน์ของสื่อในปี 2565 ที่ผ่านมา พร้อมจัดทำเป็น "2023 Handbook: Post-Pandemic" รวบรวมผลกระทบในเชิงบวกและลบต่อตลาดและอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในประเทศไทย การใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ โดยเฉพาะ TikTok ที่ร้อนแรงในขณะนี้ และอัพเดทพฤติกรรมของคนไทยในแต่ละเจนเนอเรชันที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤตโรคระบาด เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้นักการตลาดร่วมมองหาโอกาสใหม่ๆ ต่อไป


อุตสาหกรรมโฆษณาปี 66 เติบโตร้อยละ 4.2


    ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อและโฆษณาในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ MI GROUP คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาอยู่ที่ 82,300 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

    ชัดเจนว่าเม็ดโฆษณากว่าร้อยละ 90 ยังคงอยู่กับ 3 สื่อหลัก คือ สื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ และสื่อนอกบ้านตามลำดับ จากพฤติกรรมผู้บริโภคและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสื่อออนไลน์ทำให้สัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์สูงถึงร้อยละ 33 เข้าใกล้สื่อโทรทัศน์ ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 45.8

    ขณะที่ปี 2566 MI GROUP คาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะขยายตัวร้อยละ 4.2 หรือมีมูลค่า 85,790 ล้านบาท ชะลอตัวจากปี 2565 สอดคล้องกับการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของไทยที่จะขยายตัวร้อยละ 3–3.5 เนื่องจากมีปัจจัยลบทั้งจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ ทำให้นักการตลาดมีแนวโน้มปรับลดการใช้เม็ดเงินในการโฆษณา แทนการปรับขึ้นราคาสินค้า

    “สำหรับกระแสบอลโลก FIFA WORLD CUP QATAR 2022 ที่เพิ่งปิดฉากลงไป แม้จะร้อนแรงและเป็นที่สนใจของแฟนบอลชาวไทย แต่เม็ดเงินโฆษณาของแบรนด์และผู้ประกอบการต่างๆ ที่คาดว่าจะสะพัดในช่วงไตรมาส 4 กลับไม่ร้อนแรงไปตามกระแส เนื่องจากความล่าช้า ความไม่ชัดเจนของรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการถ่ายทอดสด มีเม็ดเงินโฆษณาสะพัดในสื่อโทรทัศน์ซึ่งถือเป็นสื่อหลักในการรับชมไม่ถึง 200 ล้านบาท” ภวัตกล่าว


โซเชียลมีเดียเติบโตต่อเนื่อง


    จากผลการศึกษาของ MI GROUP กลุ่มโซเชียลมีเดียยังคงเป็นสื่อหลัก โดยแอปพลิเคชั่น LINE มีการใช้งาน 50 ล้านคน เฟซบุ๊ค 44 ล้านคน ยูทูป 38 ล้านคน และ TikTok 27 ล้านคน โดยเฉพาะ TikTok เป็นสื่อที่มีอัตราการเติบโตสูง โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564-2565 ขยายตัวร้อยละ 91 ถือเป็นสื่อที่เติบโตในช่วงโควิดอย่างแท้จริง และสอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยที่ชอบความบันเทิงแบบสั้นๆ ง่ายๆ

    โดยปัจจุบัน TikTok กำลังก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

    ขณะที่หากพิจารณาจากจำนวนประชากรในประเทศไทย ปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว และภายในปี 2040 คาดว่าจำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนร้อยละ 33 ส่วนอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าในปี 2050 จำนวนประชากรในประเทศไทยจะมีจำนวน 61.7 ล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวน 67 ล้านคน

    อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้สูงอายุที่หันมาเสพสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สื่อโซเชียลมีเดียเติบโต

    ทั้งนี้ หากแบ่งกลุ่มประชากรเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ยังคงเสพสื่อทีวีเป็นสื่อหลัก ร้อยละ 83 แต่การบริโภคสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก 2. กลุ่มเจนเอ็กซ์ บริโภคสื่อทีวีและสื่อออนไลน์ ในสัดส่วนร้อยละ 78 และ 91 ตามลำดับ กลุ่มสื่อใช้ไลน์และเฟซบุ๊คเป็นหลัก

    3. กลุ่มเจนวาย บริโภคสื่อออนไลน์ร้อยละ 97 และทีวี ร้อยละ 68 เจนวาย ถือเป็นกลุ่มหลักที่บริโภคสื่อนอกบ้าน (OHH) เนื่องจากเป็นวัยทำงานทีใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นหลัก 4. เจนซี บริโภคสื่อออนไลน์ร้อยละ 99 และสื่อทีวีร้อยละ 54 และ 5. เจนอัลฟ่า บริโภคสื่อออนไลน์ร้อยละ 99 และสื่อทีวีร้อยละ 58 และเป็นกลุ่มที่เล่นเกมออนไลน์ถึงร้อยละ 61.4


“คอนเทนต์-โซเชียลมีเดีย” ธุรกิจดาวรุ่ง


    ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ได้จัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่งดาวร่วง ในปี 2566 โดยพิจารณาจากปัจจัย 5 ด้าน ได้แก่ ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและภาวะแข่งขัน และความต้องการสอดคล้องกับกระแสนิยม พบว่า

    ธุรกิจดาวเด่นอันดับ 1 ได้แก่ การแพทย์และความงาม จากการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ ความต้องการด้านความสวยงามและการดูแลสุขภาพ อันดับ 2 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อันดับ 3 ธุรกิจโซเชียล มีเดีย ออนไลน์ เอนเตอร์เทนเมนต์ ฟินเทค และงานอีเวนต์ต่างๆ

    อันดับ 4 ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจยูทูบเบอร์ การรีวิวสินค้า และอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงธุรกิจโฆษณาและสื่อออนไลน์ ตามการเสพสื่อออนไลน์ของคนยุคใหม่ที่มีมากขึ้น อันดับ 5 ธุรกิจแพลตฟอร์ม และธุรกิจแมชชิ่ง เช่น หาคู่ สั่งอาหาร บริการรถขนส่ง อันดับ 6 ธุรกิจประกันชีวิต ประกันภัย รวมถึงธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ

    อันดับ 7 ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ รวมถึงธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หลังรัฐบาลเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว อันดับ 8 ธุรกิจโลจิสติกส์ เดลิเวอรี่ คลังสินค้า และธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น น้ำ เครื่องซักผ้า อาหาร

    อันดับ 9 ธุรกิจอาหารเสริม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) และอันดับ 10 ธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจบันเทิง เช่น ละคร หนัง ซีรีส์วาย ธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาและใบกระท่อม


อ่านเพิ่มเติม: เรดิสัน โฮเทล กรุ๊ป เร่งเครื่อง แผนการเติบโตในไทย ปั้น “Radisson Red” รองรับตลาดคนรุ่นใหม่


​ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine