ชญาภา จูตระกูล ปั้น THE PINK LAB รุก Web 3.0 - Forbes Thailand

ชญาภา จูตระกูล ปั้น THE PINK LAB รุก Web 3.0

ชญาภา จูตระกูล บุตรสาว ชฎาทิพ จูตระกูล แห่งสยามพิวรรธน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้รุกธุรกิจใหม่ในนาม THE PINK LAB ที่ปรึกษาด้านแบรนดิ้ง Tech และ Data Strategy ประเดิมเปิดพื้นที่ “SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX” เทคคอมมูนิตี้เพื่อการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต ในพื้นที่กว่า 4,000 ตร.ม. ของศูนย์การค้าสยามพารากอน ด้วยโมเดลธุรกิจระดับโลก Web 3.0


    ชญาภา หรือ ปิ๊ง ก่อตั้ง THE PINK LAB หลังเรียนจบระดับปริญญาโท สาขา Applied Analytics จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา โดยเน้นนำข้อมูล (Big Data) ที่มีอยู่มหาศาลมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจหลากหลาย ในยุค Web 3.0 ประเดิมธุรกิจใหม่ โดยจับมือกับศูนย์การค้าสยามพารากอน เปิดพื้นที่ “SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX” เทคคอมมูนิตี้เพื่อการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต ด้วยเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท


โอกาสทางธุรกิจของ Web 3.0

    ชญาภา จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท The Pink Lab กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทย เป็นที่จับตามองจากบริษัทผู้นำด้าน Web 3.0 และบล็อกเชนทั้งระดับโลกและเอเชีย ที่มีศักยภาพในการเข้ามาลงทุน และทำงานร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย ใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงนี้ สร้างนวัตกรรม สร้างโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่และทำงานร่วมกัน แบ่งปันประสบการณ์ระดับโลก ร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ที่จะสร้างผลกระทบให้กับทั้งผู้ใช้งาน ธุรกิจ และสังคมในอนาคต

    วิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตยุคที่ 3 หรือ Web 3.0 (WEB3) นำศักยภาพของความสามารถเชิงลึกในการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) และการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Decentralization) มาใช้เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างพื้นที่การสื่อสารผ่านออนไลน์ และเครือข่ายโซเชียล เปิดโอกาสให้ “โลกเสมือนจริง” กลายเป็นพื้นที่ใหม่ ที่สามารถสร้าง “ประสบการณ์จริง” ในรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้งาน และสามารถเชื่อมต่อกับผู้คนในโลกเสมือนทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย


    ปัจจุบัน วิวัฒนาการของ Web 3.0 เพิ่มศักยภาพสนับสนุนการทำธุรกรรมข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ระหว่างกระเป๋าเงินดิจิทัลบนบล็อกเชน มีบทบาทเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มและเทคโนโลยี แต่คือ “ความหลากหลาย และอนาคต” ซึ่ง Pink Lab ได้จัดแบ่ง 5 หมวดหมู่ ที่สามารถใช้ Web 3.0 มาเป็นโซลูชั่นสร้างโอกาส ประกอบด้วย 1.เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ บล็อกเชน และ Smart Contact 2.สินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ เงินคริปโต และ NFTs 3.แพลตฟอร์มแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Platforms) รวมถึงเมตาเวิร์ส 4.โครงสร้างพื้นฐาน และ 5.การเชื่อมต่อกับผู้ใช้งาน (User Interfaces) ผ่านแอปที่พัฒนาบนบล็อกเชน และกระเป๋าเงินดิจิทัล (Wallet)

    “WEB3 คือ ปรากฎการณ์โลก จึงต้องมีการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย การทำงานร่วมกันระหว่างสยามพิวรรธน์กับ Pink Lab ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ มีมากกว่าการพูดเรื่องผลกำไรของธุรกิจ ก็คือการมอง WEB3 ในมุมมองมหภาค (Macro Scale) และได้คำตอบถึงสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ก็คือ NextTech (เทคโนโลยีแห่งอนาคต) จึงเป็นเหตุผลของการเปิดพื้นที่ “SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX” เทคคอมมูนิตี้เพื่อการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต ที่สยามพารากอน และได้รับความสนใจจากพันธมิตรด้านเทคโนโลยีทั้งไทยและระดับโลก”

ประเทศไทยมี DNA ของ Web 3.0

    ชญาภา กล่าวว่า หัวใจสำคัญของ Web 3.0 คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นบนเทคโนโลยีนี้ จึงขึ้นอยู่กับ “คน” คนที่มีวิสัยทัศน์ มีแนวคิดเบื้องหลังผลิตภัณฑ์อันยิ่งใหญ่ และมุ่งไปข้างหน้าเพื่อทำตามฝัน การเปิดพื้นที่ “SIAM PARAGON NEXT TECH x SCBX” เป็นการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่าง Pink Lab กับสยามพารากอน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสยามพิวรรธน์ กับผู้เช่าพื้นที่ ผู้บริโภค เพื่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ร่วมกัน (Co-Creation) และสำคัญที่สุด คือ ผู้คนจากทั่วโลกนำประสบการณ์ที่ดีที่สุดมาให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างภายใต้คอนเซปต์ Web 3.0 ออกสู่ตลาด

    “ประสบการณ์ของ Pink Lab ที่ได้ไปให้บริการมาแล้วทั่วโลกในหลายๆ ที่ มีลูกค้าทั้งจากยุโรป สหรัฐ และเอเชีย เราทั้งสนุก ได้เรียนรู้ ที่สุดเราจึงคิดว่า ทำอย่างไรให้คนได้มาเรียนรู้จากที่ดีที่สุดในโลก ปัจจุบันเชื่อว่ามุมมองของผู้บริหารระดับโลกหลายรายในวงการนี้ มองเห็นประเทศไทย เป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะเรามี DNA ของ Web 3.0” ชญาภากล่าว


    ไซมอน โซจุน คิม (Simon Seojoon Kim) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหุ้นส่วนผู้จัดการ บริษัท Hashed นักลงทุนด้าน Web 3.0 รายใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ที่เข้าร่วมเวที The Global Tech Talk @SCBX NEXT TECH จัดขึ้นที่สยามพารากอนต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยและเกาหลีใต้ กำลังกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับการใช้ Web 3.0 โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากความเฟื่องฟูของธุรกรรมเงินดิจิทัล (คริปโต) สอดคล้องกับภาพรวมของระบบนิเวศคริปโตทั่วโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

    ทั้งนี้ เกาหลีใต้ กลายเป็นผู้บุกเบิกแถวหน้าของ Web 3.0 เพราะที่ผ่านมามีชื่อเสียงทั่วโลกในเรื่องราคาพรีเมียมของตลาดซื้อขายเงินบิทคอยน์สูงสุด (Kimchi Premium) และมีปริมาณการซื้อขายในตลาดเทรดคริปโตบนแพลตฟอร์มแบบที่มีตัวกลางแลกเปลี่ยน หรือ CEX (Centralized Cryptocurrency Exchange) ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ประเทศไทย มีจำนวนผู้ถือครองเงินคริปโต ติดอันดับ 1 ของโลก

    “เรามองถึงโอกาสการทำงานร่วมกับประเทศไทย โดยนำจุดแข็งของทั้งสองประเทศมาเติมเต็มให้กัน เพื่อต่อยอดการประยุกต์ใช้บล็อกเชน และ Web 3.0 มาสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อขยายพื้นที่ทางธุรกิจและการตลาดออกไปสู่เอเชีย โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง” คิมกล่าว

    ประเทศไทยมีโอกาสสูงในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ WEB3 จากปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน ที่ประเทศไทยมี ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.มรดกทางวัฒนธรรม และ 3.ความโอบอ้อมอารี ดังนั้นถ้ามีการนำเอา “เทคโนโลยี” เข้ามาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องใน 3 ด้านนี้ ประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในเรื่อง WEB3 อย่างแน่นอน



อ่านเพิ่มเติม : นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ลดขยะอาหาร แก้ปัญหาโลกร้อน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine