“อยากสำเร็จต้องมุ่งมั่น ขยัน และทำงานหนัก” แนวคิดจากบรรดานักธุรกิจ อย่ามี Work-Life Balance ในช่วงเริ่มต้นบริษัท - Forbes Thailand

“อยากสำเร็จต้องมุ่งมั่น ขยัน และทำงานหนัก” แนวคิดจากบรรดานักธุรกิจ อย่ามี Work-Life Balance ในช่วงเริ่มต้นบริษัท

แม้ Work-Life Balance หรือสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน จะเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ แต่สำหรับบรรดานักธุรกิจหลายคนแล้วล่ะก็ พวกเขาต่างเห็นตรงกันว่านั่นอาจไม่ใช่วิถีสำหรับคนที่อายุน้อยหรือคนที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ เพราะจะสำเร็จได้ ต้องมุ่งมั่น จริงจัง ทำงานหนัก ไปจนถึงยอมรับความเจ็บปวด


    แม้เทรนด์ Work-Life Balance หรือการปรับสมดุลระหว่างเวลาในการใช้ชีวิตและการทำงาน จะยังคงเป็นเทรนด์ที่หลายคนให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้คนแต่ละคนจัดสรรเวลาให้ตัวเองไม่ต้องแบกรับภาระงานจนมากเกินไป และสามารถมีเวลาให้กับการดูแลสุขภาพ การพักผ่อน งานอดิเรก และครอบครัวควบคู่ไปด้วย

    แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่ ‘วิถี’ ที่นักธุรกิจหลายคนนำไปใช้เท่าไหร่นัก

    ตัวอย่างหนึ่งคือ Reid Hoffman ผู้ร่วมก่อตั้ง LinkedIn ที่เขาบอกว่า การมองหา Work-Life Balance เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณ “ไม่มุ่งมั่นที่จะเข้าเส้นชัย”

    Hoffman คือผู้ที่ไม่เชื่อในเรื่องสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เขามองว่าหากคิดจะจริงจังกับการเริ่มต้นบริษัท คุณควรต้องบอกลาการดูซีรีส์เรื่องโปรดบน Netflix หลังมื้อเย็น หรือการนอนหลับพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์ไปได้เลย เพราะคุณต้องทำงานอย่างหนักตลอดทั้งวัน

    “ถ้าผมเคยได้ยินผู้ก่อตั้งธุรกิจพูดว่า ‘นี่คือวิธีที่ฉันใช้ชีวิตอย่างสมดุล’ แสดงว่าพวกเขาไม่มุ่งมั่นที่จะชนะ” Hoffman กล่าวในชั้นเรียน “How to Start a Startup” ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2014 ก่อนจะพูดอีกว่า “ผู้ก่อตั้งธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจริงๆ มีเพียงคนที่พูดว่า ‘ฉันจะทุ่มเททุกอย่างให้กับสิ่งนี้’”

Reid Hoffman


    แม้จุดยืนของ Hoffman ต่อเรื่องสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คลิปดังกล่าวเพิ่งกลับมาปรากฏบนโซเชียลมีเดียอีกครั้งเมื่อไม่นานนี้ และตอนนี้มีคนกดไลค์หลายพันคน

    และแม้กระทั่งหลังจากการระบาดใหญ่ เมื่อชาวอเมริกันตระหนักว่าการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา ความคิดเห็นของ Hoffman ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

    “โดยธรรมชาติแล้ว สตาร์ทอัพจะต้องตาย” เขากล่าวในพอดแคสต์ Diary of a CEO เมื่อปลายปีที่แล้ว “การสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานไม่ใช่เกมของสตาร์ทอัพ” Hoffman กล่าว เขาบอกอีกว่าแม้ว่าพนักงานหนึ่งในสามของ LinkedIn ในช่วงเริ่มก่อตั้งบริษัทจะมีลูก แต่การหยุดงานก็ไม่ใช่ทางเลือก ยกเว้นการทานอาหารเย็นที่บ้าน

    “เมื่อเราเริ่มก่อตั้ง LinkedIn เราเริ่มต้นจากคนที่มีครอบครัว ดังนั้นเราจึงบอกว่า แน่นอน กลับบ้านไปทานอาหารเย็นกับครอบครัวของคุณ จากนั้นเมื่อทานอาหารเย็นกับครอบครัวของคุณเสร็จแล้ว ให้เปิดแล็ปท็อปของคุณขึ้นมาและกลับไปทำงานร่วมกันและทำงานต่อไป”

    แม้ว่าสิ่งนี้อาจฟังดูโหดร้ายในวัฒนธรรมปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วมีสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่า เมื่อ Hoffman ช่วยก่อตั้ง PayPal ที่นั่นมีการเสิร์ฟอาหารเย็นที่ออฟฟิศด้วยซ้ำ “คนที่คิดว่านั่นเป็นเรื่อง toxic เขาไม่เข้าใจเกมสตาร์ทอัพ และพวกเขาคิดผิด” เขากล่าว “เกมนี้เข้มข้นมาก และอีกอย่าง หากคุณไม่ทำเช่นนั้น ในที่สุดคุณก็ต้องออกจากงาน”

    แต่ผลตอบแทนอีกด้านหนึ่งนั้นไม่มีใครเทียบได้ พนักงาน 100 คนหรือมากกว่านั้นที่ LinkedIn ไม่จำเป็นต้องทำงานอีกต่อไป หลังจาก Microsoft ซื้อแพลตฟอร์มเครือข่ายมืออาชีพนี้ด้วยเงิน 26,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016

    เขาบอกว่า "ในฐานะผู้นำ เราต้องยอมรับ 'ความเจ็บปวด' หากคุณต้องการประสบความสำเร็จ"

    คำพูดของ Hoffman สะท้อนถึงผู้นำจากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งบางครั้งต้องทดแทนความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานเพื่อเอาชนะความท้าทาย ยกตัวอย่าง VSCO บริษัทโซเชียลมีเดียที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 และได้รับความนิยมอย่างมากจนต่อมามีมูลค่าถึง 550 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม เมื่อ Eric Wittman เข้ารับตำแหน่ง CEO ในปี 2023 แอปรูปภาพนี้ก็พยายามสลัดภาพลักษณ์ที่เป็นเพียงกระแสชั่วครั้งชั่วคราว

    ภายใต้การนำของ Wittman บริษัทสามารถทำกำไรได้ในที่สุดในปี 2024 และล่าสุดเขาบอกกับ Fortune ว่าการยอมรับความเครียดและการทำงานกลางคืนที่ยาวนานนั้นเป็นสิ่งสำคัญ “มีความเจ็บปวดมากมายตลอดการเดินทางนั้น” เขากล่าว “คุณต้องยอมรับมัน”

    เขากล่าวว่าความจำเป็นในการทำงานหนักนอกเวลาขยายไปถึงพนักงานด้วย เพราะความสำเร็จไม่ได้มาจากแค่ผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น “ทุกคนที่ผมลงทุนด้วย พวกเขาได้รับสิ่งที่จำเป็นในการเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย-ยอมรับความพากเพียร ทำงานร่วมกับผู้คนที่มีแนวคิดที่ยอดเยี่ยมเหมือนกันมากมาย เต็มใจที่จะทำงานหนักเพื่อค้นหาชัยชนะเหล่านั้น และพัฒนาสิ่งนั้นให้กลายเป็นสิ่งที่คุณรู้ว่าจะประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ” เขากล่าวเสริม

    “เมื่อคุณกลั่นกรองทั้งหมดแล้ว ผมว่านั่นคือคุณสมบัติที่ผมมองว่า หากใครมี เท่ากับว่าคุณกำลังสร้างบริษัทหรือโปรดักต์ที่จะประสบความสำเร็จ”

    ไม่ใช่แต่นักธุรกิจต่างประเทศ แต่นักธุรกิจไทยก็มีมุมมองที่คล้ายคลึงกัน

    ธนิศร์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจแม็คโคร ประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มสายงานการพาณิชย์สินค้า บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า เขาไม่เห็นด้วยกับการที่คนทำธุรกิจจะคำนึงถึงเรื่องสมดุลชีวิตและการทำงานในช่วงเริ่มต้น “ผมว่าโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ความขยันและมุ่งมั่นจะทำให้ประสบความสำเร็จได้”


ธนิศร์ เจียรวนนท์


    เช่นเดียวกับ ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโคป จำกัด เขามองว่า Work-Life Balance เป็นเพียงคำพูดสวยหรู

    “แต่ละคนมี Work, Life และ Balance ไม่เท่ากัน บางคนเกิดมามีต้นทุนสูงกว่าก็สามารถ Life ได้มากกว่า Work แต่บางคนต้องทำมาหากินก็ขอให้ Work มากกว่า Life แต่สุดท้าย Work-Life Balance จะมีผลตอนที่เราแก่ตัว วันที่ต้องอยู่โดยที่ไม่มี Work วันนั้นจงมี Life ให้ดี ถ้าจะมี Life ให้ดีแสดงว่าวันนี้คุณต้อง Work เยอะ เพราะตอนแก่ Life มันต้องใช้เงินเยอะ แต่วันนี้เรายังมีกำลัง ดังนั้นจึงต้อง Work เยอะๆ หน่อย แล้ว Life มันก็จะง่ายขึ้น” ยงยุทธ กล่าว

ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์


    เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีระดับโลก Bill Gates ในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง Microsoft นั้น แพสชั่นอันแรงกล้าทำให้เขาทำงานอย่างหนักจนถึงขั้นบ้างาน นอนน้อยมาก และมองว่าการนอนเยอะนั้นขี้เกียจ

    Gates เคยเขียนบล็อกในปี 2019 เกี่ยวกับหนังสือเล่มโปรดประจำปีของเขา นั่นก็คือเรื่อง “Why We Sleep” โดย Matthew Walker ซึ่งมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Microsoft เชื่อว่าทุกคนจำเป็นต้องนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อคืนเพื่อให้สมองสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

    “ในช่วงแรกที่สร้าง Microsoft ผมทำงานกลางคืนทุกวันตอนที่เราต้องทำซอฟต์แวร์สักตัวให้เสร็จ” เขาเล่าในบล็อก “มีอยู่ครั้งสองครั้งที่ผมไม่ได้นอนติดกันสองคืน ผมรู้ตัวเลยว่าไม่สามารถทำงานได้อย่างเฉียบคมเมื่อต้องพึ่งแค่กาแฟกับอะดรีนาลีน แต่ผมก็บ้างานมาก และรู้สึกว่าการนอนเท่ากับขี้เกียจ”

    เขายังกล่าวกับ CNBC Make It ด้วยว่า “ตอนอายุ 20 ต้นๆ ผมไม่เชื่อในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดพักร้อน ดังนั้น ผมจึงพยายามผลักดันตัวเองอย่างเต็มที่” เขาคาดหวังให้พนักงานแสดงทัศนคติที่คล้ายคลึงกัน ถึงขั้นที่ว่าเขาจำหมายเลขทะเบียนรถของพนักงานไว้ด้วย เพื่อที่เขาจะได้ “รู้ว่าพนักงานเข้ามาทำงานเมื่อไหร่ [และ] ออกจากงานเมื่อไหร่” เขากล่าวกับ BBC ในปี 2016

Bill Gates


    แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่เขาประสบความสำเร็จแล้วในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเขาจะเปลี่ยนมุมมองในเรื่องนี้ไปแล้ว เขาไม่ทำงานหนักเท่าเดิม และยังให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตด้วย

    เขาเคยขึ้นกล่าวสุนทรพจน์แก่บรรดานักศึกษาในพิธีรับปริญญาที่มหาวิทยาลัย Northern Arizona เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา โดยได้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตของตัวเองสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัย Harvard

    “ตอนอายุเท่าพวกคุณ ผมไม่เชื่อในวันหยุด ผมผลักดันให้ผู้คนรอบกายทำงานหนักมาก” Gates เล่า

    “แต่พออายุมากขึ้น โดยเฉพาะตอนที่กลายมาเป็นพ่อคน ผมจึงตระหนักว่าชีวิตสำคัญกว่างาน อย่าละเลยความสัมพันธ์กับครอบครัวหรือคนที่เรารักนานเกินไปแบบผม ใช้เวลาดูแลความสัมพันธ์ เฉลิมฉลองความสำเร็จ และเยียวยาตัวเองจากความสูญเสีย”

    

    และทั้งหมดนี้คือมุมมองจากนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จและมหาเศรษฐีระดับโลก แล้วคุณล่ะ ... มองเรื่อง Work-Life Balance อย่างไร?



แหล่งที่มา:

LinkedIn’s cofounder Reid Hoffman says seeking work-life balance is a red flag that you’re ‘not committed to winning’

Bill Gates บอกอยากทำงานไปอีก 20-30 ปี เน้นเรื่องมูลนิธิแก้ปัญหาโลก และขนาด Buffett ยังทำงาน 6 วัน/สัปดาห์

“ชีวิตมาก่อนงาน” บทเรียนจาก Bill Gates เตือนให้พักผ่อน - ใช้เวลากับคนที่รัก

- บทสัมภาษณ์ ยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์

- บทสัมภาษณ์ ธนิศร์ เจียรวนนท์



ภาพ: AFP และ วรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ถ้าอยากประสบความสำเร็จ อย่าศึกษา ‘ต้นแบบ’ แค่คนเดียว แต่ให้ลองหาสัก 100 คน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine