SCB ชิงผู้นำตลาดเวลธ์ 11 ล้านล้านบาท - Forbes Thailand

SCB ชิงผู้นำตลาดเวลธ์ 11 ล้านล้านบาท

ภาพรวมธุรกิจเวลธ์ทั่วโลก ขยายตัวต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ขณะที่ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 5 ต่อปี ปัจจุบันเวลธ์มีมูลค่ารวม 11 ล้านล้านบาท ถือเป็นธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้กับ SCB ในปีที่ผ่านมา และปีนี้ประกาศเป้าหมายเป็นที่หนึ่งในธุรกิจเวลธ์ของไทย

สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB กล่าวว่า ภาพรวมเวลธ์ (Wealth) ทั่วโลกคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องปีละกว่าร้อยละ 7 จากปี 2561-2567 โดยเฉพาะในจีน และกลุ่มเอเชียแปซิฟิค ขณะที่ธุรกิจเวลธ์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยคาดการณ์ว่าทรัพย์สินมีโอกาสเติบโตร้อยละ 5 ต่อปี โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individuals/ HNWIs) ขึ้นไป
สารัชต์ รัตนาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ภาพรวมเวลธ์มีการเติบโต เนื่องจากสภาพคล่องที่ล้นตลาด ทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนมองหาโอกาสการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างการเติบโตของสินทรัพย์ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาตลาดมีความผันผวนสูง จึงมีความต้องการมืออาชีพเข้ามาช่วยในการบริหารสินทรัพย์ ขณะเดียวกัน ในภาคธนาคาร หากเทียบกับธุรกิจสินเชื่อ เวลธ์ไม่มีความเสี่ยงเรื่องทุน ความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับด้วยสภาพการออมที่ต่ำ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.8 ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัจจุบันแม้สัดส่วนคนรวยในประเทศ จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร แต่มีสินทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 87.5 ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง หรือ เวลธ์ จึงเป็นธุรกิจที่สร้างการเติบโตให้ทางธนาคาร “ไทยพาณิชย์มองเห็นโอกาสการเติบโตของตลาด และฐานลูกค้าที่มีมากกว่า 16 ล้านคน จึงต่อยอดทำธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ช่วยวางแผนการเงินให้ลูกค้าอย่างครบวงจร ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สร้างการเติบโตให้กับธนาคารอย่างยั่งยืนทดแทนธุรกิจเดิม” สารัชต์กล่าว ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ Wealth Transformation ตั้งแต่ปี 2560 ในปี 2563 ที่ผ่านมา SCB Wealth มีรายได้เติบโตสวนกระแสทั้งธุรกิจการลงทุนและธุรกิจประกัน สร้างผลกำไรให้ธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 เพิ่มจากปี 2560 ที่อยู่ร้อยละ 7 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56 จากรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมปีละประมาณ 4 หมื่นล้านบาท “ภายใน 3 ปีข้างหน้า เราต้องการก้าวเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าเวลธ์ ภายใต้แนวคิด BEAT THE BENCHMARK เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดและเหนือกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาด ให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินและการลงทุนอย่างเหมาะสม” สารัชต์ระบุ   ตั้งเป้า AUM 1 ล้านล้านบาทปี 2566 เมธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ สายงาน PRIVATE BANKING ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี (ลูกค้าสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป) SCB PRIVATE BANKING ตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) ของธนาคารเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท ภายใน 3 ปี หรือ ในปี 2566 จากปัจจุบันที่มีมูลค่ากว่า 8.5 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ เป็น Investment AUM  (ไม่รวมเงินฝาก) ถึง 5.7 แสนล้านบาท
เมธินี จงสฤษดิ์หวัง รองผู้จัดการใหญ่ สายงาน PRIVATE BANKING ธนาคารไทยพาณิชย์
สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา SCB PRIVATE BANKING สามารถสร้างผลตอบแทนจากการบริหารพอร์ตการลงทุนในความเสี่ยงระดับปานกลางให้ลูกค้าได้สูงถึงร้อยละ 14.9 ในระยะเวลา 1 ปี (1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2563) จาก service-led เป็น advisory-led relationship ด้วยแผนบริหารการเงินการลงทุนที่ออกแบบเป็นพิเศษเฉพาะลูกค้าแต่ละราย (Personalized Asset  Allocation) โดยขณะนี้มีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 3.4 แสนราย โดยจะเน้นเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์เพื่อเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ไม่เน้นขยายจำนวนลูกค้า ทั้งนี้ การเติบโตของสินทรัพย์ในธุรกิจ Wealth ของธนาคารปัจจุบันมีมูลค่ารวมราว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของมูลค่ารวมของตลาดที่ 11 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 ธนาคารได้ตั้งเป้า AUM ของ Wealth เติบโตร้อยละ 10-12 โดยแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ลูกค้า SCB PRIME มีสินทรัพย์ 2-10 ล้านบาท กลุ่ม SCB FIRST มีสินทรัพย์ 10-50 ล้านบาท และกลุ่ม SCB PRIVATE BANKING มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับกลยุทธ์ในการผลักดันธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) เพื่อสร้างการเติบโตและรายได้ค่าธรรมเนียมให้กับธนาคารทดแทนรายได้แบบเดิม ภายใต้แนวคิด “BEAT THE BENCHMARK” จะมุ่งเน้นใน 3 แกนหลักสำคัญ ได้แก่ 1) Wealth Preservation วางแผนต่อยอดความมั่งคั่งส่วนบุคคลให้กับลูกค้า ด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและทีมที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุนส่วนบุคคลระดับมืออาชีพ 2) Wealth Creation บริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจ เน้นการสร้างความมั่งคั่งในทุกโอกาสการลงทุนแบบใหม่ เสริมสร้างสภาพคล่องเพื่อสร้างความมั่งคั่ง และ 3) SCB Financial Group ผสานความแข็งแกร่งของกลุ่มไทยพาณิชย์ ครบเครื่องทั้งด้านองค์ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ของทีม Wealth Management ที่มีกว่า 800 คน อ่านเพิ่มเติม: TVD เปิดกลยุทธ์ขายสินค้า 24 ชั่วโมง
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine