‘อัสสเดช’ ผู้จัดการ SET คนที่ 14 มุ่งพัฒนาตลาดหุ้นไทย "เท่าเทียม-เข้าถึงได้" - Forbes Thailand

‘อัสสเดช’ ผู้จัดการ SET คนที่ 14 มุ่งพัฒนาตลาดหุ้นไทย "เท่าเทียม-เข้าถึงได้"

หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง โดยมีผู้นำทัพใหม่ ‘อัสสเดช คงสิริ’ เข้ารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการคนที่ 14 ของ SET แม้จะยังไม่มีแผนงานอย่างเป็นทางการว่า SET จะเดินหน้าไปทางไหน แต่ล่าสุดในงาน Meet the Press ครั้งแรกของเขายังเล่าถึงวิสัยทัศน์ และสิ่งที่ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ในยุคสมัยของเขา


    อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET เล่าว่า ตัวเขาได้เริ่มมารับช่วงต่องานต่างๆ ต่อจาก ‘ดร.ภากร ปีตธวัชชัย’ เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา และจะเดินหน้าเป้าหมายที่จะพัฒนาตลาดทุนไทยในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอแผนกลุยทธ์ของ SET ต่อคณะกรรมการฯ ช่วงปลายเดือน ต.ค. หรือต้น พ.ย. 2567 นี้

    ช่วงที่ผ่าน อัสสเดช ได้ปรึกษาผู้ใหญ่หลายท่าน และรับฟังความคิดเห็นในหลายด้าน จนมีข้อสรุปถึง 2 หัวใจหลักที่ตลาดหลักทรัพย์ควรจะปฏิบัติเป็นหลักการ คือ การทำเพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม โดยความตั้งใจในการพัฒนาตลาดทุนจะแบ่งเป็น 5 โจทย์

    1. สมดุลเท่าเทียม (Fairness) ในผู้ลงทุนทุกกลุ่ม

    2. เข้าถึง ทั่วถึง (Inclusiveness) ผ่านเพิ่มบทบาทและสร้างโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงตลาดทุน

     3. ตอบโจทย์อนาคต แข่งขันได้ (Re-imagine) โดยเฉพาะการปรับใช้เทคโนโลยีที่จะช่วยตอบโจทย์ทั้งความเท่าเทียม และสร้างการเข้าถึง รวมถึงการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น

     4. รับโอกาส และความท้าทายจากกระแสความยั่งยืน (Sustainability) เรื่องนี้เป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสสำหรับทุกคน ที่ในอนาคตบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทรัพย์ อาจต้องเผชิญกฎเกณฑ์ที่มากขึ้นจึงอยู่ที่จะมีการปรับตัวเพื่อสร้างสมดุลอย่างไร

    5. เสริมความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย (Trust & Confidence) ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดทุนลดลง แต่ก็ทำให้เกิดมาตรการ ความร่วมมือ และขั้นตอนการแก้ปัญหาต่างๆ ระหว่างหน่วยงานเพิ่มขึ้น หน้าที่ของเราจึงต้องเชื่อมต่อแผนเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้

    นอกจากนี้ โจทย์สำคัญของ SET คือ การสื่อสารให้รวดเร็วและตรงจุดยิ่งขึ้น และต้องวางแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว อย่างชัดเจน 

    อัสสเดชยังเล่าถึงการรับมือต่อข่าวร้ายที่มีผู้ลงทุน และหลายกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการหลอกลวงในช่วงที่ผ่านมา “ในความรู้สึกของผม ผมอยากจะรีบพัฒนาการสื่อสารในเรื่องพวกนี้ให้รวดเร็ว ซึ่งคิดว่าอยู่ในอำนาจหรืออยู่ในบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ที่จะทำด้วยตัวเองได้”

    ทั้งนี้ ความรวดเร็วในการจัดการเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะต้องเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยว เป็นสิ่งที่เตรียมทำเรื่องเสนอบอร์ดแล้ว ส่วนเรื่องการเสริมความเชื่อมั่น มองว่าเป็นเรื่องที่ ตลท. ทำมาตลอด ซึ่งในกรณีของ Robot trade และอื่นๆ

    ในหลักการกว้างๆ มองว่าจะต้องแยกแยะจาก พฤติกรรมเป็นหลัก หากพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เหมาะสมกับตลาด หรือเอาเปรียบ ก็ไม่ควรจะสนับสนุน ส่วนพฤติกรรมดีต่อตลาดทุนที่ทำให้เราพัฒนาได้ยั่งยืนและก็ควรจะสนับสนุน

    ขณะที่ระยะยาว ตลท. ยังมองถึงการ Listing Hub จุดที่ดึงดูดการลงทุนในไทย ทั้งบริษัทใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมที่ต้องการโฟกัส รวมถึงบริษัทจากต่างประเทศ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กกร. กังวล ‘บาทแข็งค่าเร็ว’ อาจกระทบผู้ส่งออกไทยถึง 1.8-2.5 แสนล้าน พร้อมเสนอแบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยฯ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine