กกร. กังวล ‘บาทแข็งค่าเร็ว’ อาจกระทบผู้ส่งออกไทยถึง 1.8-2.5 แสนล้าน พร้อมเสนอแบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยฯ - Forbes Thailand

กกร. กังวล ‘บาทแข็งค่าเร็ว’ อาจกระทบผู้ส่งออกไทยถึง 1.8-2.5 แสนล้าน พร้อมเสนอแบงก์ชาติปรับดอกเบี้ยฯ

กกร. ประเมินเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจน ทำให้หลายประเทศหันมากระตุ้นเศรษฐกิจ ในส่วนของไทยแม้ กกร. จะคงประมาณการ GDP ไทยปี 67 ที่ 2.2-2.7% แต่มองว่ายังมีความเสี่ยงทั้งเหตุการณ์น้ำท่วม รวมถึงความกังวลต่อเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแข็งค่ากว่า 12% หากยังแข็งค่าถึงปลายปีอาจกระทบผู้ส่งออกมูลค่า 180,000-250,000 ล้านบาท จึงเร่งแบงก์ชาติพิจารณาปรับดอกเบี้ยฯ ให้เหมาะสม


    นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้น สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านการผลิต PMI Manufacturing เดือน ก.ย. ของสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่นหดตัวลงมากขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ 

    โดยธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% (และอาจลดดอกเบี้ยฯ เพิ่มเติมภายในปีนี้) ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังปรับลดดอกเบี้ยฯ และภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ เพื่อพยุงการผลิตและการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง

    ในส่วนของไทย กกร. ยังคงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวในกรอบ 2.2-2.7% เพราะมีแรงสนุนจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน รวมถึงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนการส่งออกปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 1.5-2.5% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 0.5-1.0%

    ปัจจัยที่มีความน่ากังวลต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค จาก 36.80 มาที่ 32.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (แข็งค่า 12%) เป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักและเพิ่มแรงกดดันต่อภาคการส่งออก

    ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีอาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกกระทบได้ราว 180,000-250,000 ล้านบาท โดยกกร.ประเมินว่าค่าเงินบาทแข็งค่าที่ธุรกิจแข็งขันได้อยู่ที่ระดับ 34.00-34.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

    ดังนั้น กกร. มองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และสื่อสารให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่านประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่น ต้นทุนนำเข้าสินค้าพลังงาน และวัตถุดิบโดยเฉพาะในภาคเกษตรฯ ที่ลดลงไปยังภาคการผลิตและภาคประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ

    อย่างไรก็ตาม ทางกกร. เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนอยู่แล้วในตลาดการเงินล่วงหน้า (Forward Market) ปัจจุบันตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะลดลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปีนี้ และอีกประมาณ 0.25% - 0.5% อีกภายในปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อ Real Sector ได้อย่างรวดเร็ว และพิจารณาทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำลังอยู่ในช่วงการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทศักยภาพ และโครงสร้างของเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันและอนาคต    

    สุดท้ายนี้ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ผลกระทบจากอุทกภัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และยังมีแนวโน้มต่อเนื่องจากพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าไทยอีกในช่วงไตรมาส 4/67 คาดว่าน้ำท่วมรอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายราว 30,000-50,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของ GDP โดยภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด จากสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : REIC เผยที่ดินเปล่า ‘ระยอง’ ราคาพุ่ง 2.3 เท่า คาดเพราะ ‘ทุนจีน’ ซื้อที่สร้างโรงงาน EV

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine