วิจัยกรุงศรี ชี้ช่วงปลายปี 67 เสี่ยงน้ำท่วมสูงขึ้น แต่ไม่หนักเท่าปี 54 คาดเสียหาย 46,500 ล้าน - Forbes Thailand

วิจัยกรุงศรี ชี้ช่วงปลายปี 67 เสี่ยงน้ำท่วมสูงขึ้น แต่ไม่หนักเท่าปี 54 คาดเสียหาย 46,500 ล้าน

วิจัยกรุงศรี ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในไทยปี 2567 มองว่าชี้ความเสี่ยงเพิ่มสูงในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี จากภาวะลานีญาและอิทธิพลของมรสุม แม้จะไม่แรงเท่ากับน้ำท่วมปี 54 แต่คาดว่ากรณีฐานจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 46,500 ล้านบาท หรือประมาณ 0.27% ของ GDP


    ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ปริมาณฝนในไทยจะมีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยราว 15-16% เนื่องจากผลการวิเคราะห์ดัชนีสมุทรศาสตร์ ดัชนี ONI ที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะลานีญาอย่างรวดเร็วและเต็มตัวในเดือนตุลาคมปีนี้ หลังจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงต้นปี อีกทั้งดัชนี PDO และ IOD ที่แสดงแนวโน้มพายุในภูมิภาคที่มีผลอย่างมากต่อปริมาณฝนในไทย รวมถึงอิทธิพลจากพายุประจำปี ทั้งพายุที่จะเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงและเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านล้วนส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประเทศไทย ทำให้ในเดือนกันยายน-ตุลาคมเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงอุทกภัยในทุกภูมิภาค

    ทั้งนี้ คาดว่าในพื้นที่เสี่ยงสูงได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงด้านทรัพย์สิน อาทิ ครัวเรือน โรงงาน เครื่องจักร สินค้าเกษตร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคได้


    อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีได้จำลองสถานการณ์ไว้ 3 กรณี (ไล่ลำดับจากความน่าจะเป็น) ได้แก่

    - กรณีฐาน คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 46,500 ล้านบาท หรือประมาณ 0.27% ของ GDP (โดยมีความน่าจะเป็น 50%)

    - กรณีเลวร้ายที่สุด คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11.0 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 55,500 ล้านบาท หรือประมาณ 0.34% ของ GDP (โดยมีความน่าจะเป็น 30%)

    - กรณีดีที่สุด คาดว่าจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 6.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 33,400 ล้านบาท หรือประมาณ 0.19% ของ GDP (โดยมีความน่าจะเป็น 20%)

    วิจัยกรุงศรี มองว่า ปัจจุบันทั้งภาครัฐมีความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำที่ดีขึ้น และภาคเอกชนมีการพัฒนาระบบป้องกันอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม จะช่วยลดทอนผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554 ดังนั้น แม้ความเสี่ยงอุทกภัยในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะไม่รุนแรงเท่ามหาอุทกภัยปี 2554 เนื่องจากในปี 2567 นี้มีปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่า มีพื้นที่รองรับน้ำมากกว่า

    “อย่างไรก็ตาม เรายังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมที่มีความเสี่ยงสูงสุด เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อีกหลายประการ โดยเฉพาะจำนวนพายุที่เคลื่อนที่เข้าสู่ไทยที่จะส่งผลต่อปริมาณฝนและพื้นที่ที่เกิดฝนตกหนัก อันเนื่องมาจากภาวะโลกรวนในปัจจุบันที่ทำให้สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว หรือ Extreme weather เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น" ดร.พิมพ์นารา กล่าว



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ยูนิโคล่ ผนึกกำลัง OR เปิด ‘โรดไซด์สโตร์’ ในคอมมูนิตี้มอลล์ นำร่องสาขา ‘รามคำแหง’ เป็นที่แรก

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine