นักลงทุนผลาญเงินหลายพันล้านเหรียญไปกับบริษัทขายเสื้อผ้าหรูมือสองซึ่งขาดทุน แต่ Vinted สตาร์ทอัพที่ไม่น่ารุ่งจากลิทัวเนียกลับไขรหัสลับได้สำเร็จ Thomas Plantenga เดิมพันอนาคตของ Vinted ไว้กับโฆษณาโทรทัศน์ แอปขายเสื้อผ้ามือสองนี้ใช้เงินเดือนละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีเงินสดไว้ใช้ไม่ถึง 1 ปีตอนที่ Plantenga เดิมพัน 800,000 เหรียญไว้กับโทรทัศน์ของฝรั่งเศส
ตอนนั้นคือเดือนพฤษภาคม ปี 2016 Plantenga เพิ่งถูกจ้างให้ช่วยกอบกู้สตาร์ทอัพสัญชาติลิทัวเนียอายุ 8 ปีแห่งนี้ หลังจากเปิดตัวในงานปาร์ตี้ของวิทยาลัยในปี 2008 Vinted ก็เติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีคนใน 10 ประเทศใช้แพลตฟอร์มนี้ซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง แต่ว่ามันเป็นแอปฟรี ค่าโฆษณาที่ได้มาก็จ่ายค่าเซิร์ฟเวอร์แทบไม่พอ และความพยายามในปี 2014 ที่จะเก็บค่าคอมมิชชั่น 20% เหมือน Poshmark ทำให้ผู้ใช้เกิดการต่อต้าน ปริมาณการใช้แอปลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในชั่วข้ามคืน Plantenga ซึ่งเกิดในเนเธอร์แลนด์และไม่เคยไปลิทัวเนียมาก่อนตกลงรับงานที่ปรึกษาให้ Vinted เป็นเวลา 5 สัปดาห์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2016 แล้วก็กลายมาเป็นซีอีโอของที่นี่ใน 18 เดือนต่อมา
“ที่นี่รักษาและสร้างความผูกพันกับพนักงานได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา แต่หลังจากที่พวกเขาใช้โมเดลของ Poshmark ทุกอย่างก็พังครืน” Plantenga วัย 40 ปีกล่าว
ยาที่เขาจ่ายให้เป็นยาแรง เขาปิดสำนักงานของ Vinted นอกลิทัวเนียส่วนใหญ่ ลดพนักงานเหลือครึ่งหนึ่ง และหั่นค่าธรรมเนียมลง 75% “ผมไม่เป็นที่ต้อนรับใน Vilnius ครับ เคยโดนเชิญลงจาก Uber 2 ครั้งด้วยเพราะ [คนขับเป็น] เพื่อนของคนที่ผมไล่ออก” เขาบอก
คำแนะนำสุดท้ายของเขาแก่ผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คนของ Vinted ซึ่งได้แก่ Milda Mitkute, Justas Janauskas และ Mantas Mikuckas ฟังแล้วอาจตกใจได้ “ผมแนะนำให้พวกเขาลงเงินทั้งหมดกับทีวี และก็มีข่าวลือว่าคู่แข่งจ้างผมให้ทำลายบริษัทนี้” เขาเล่า
แม้บริษัทจะบุกโทรทัศน์ของเยอรมนีอย่างหนักซึ่งเป็นตลาดที่แข็งแกร่งที่สุดของแอปตอนนั้น แต่ยอดขายก็ไม่งอกเงยเท่าไร Vinted หมดหนทางแล้ว และผู้ก่อตั้งที่หมดแรงก็พร้อมจะทุ่มหมดหน้าตัก “ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญยังดีกว่าตายอย่างช้าๆ” Mikuckas วัย 39 ปีกล่าว
Plantenga และผู้ร่วมก่อตั้ง Vinted ตั้งค่ายพักแรมอยู่ในสำนักงานของ Vinted ซึ่งเคยเป็นโรงงานผลิตอุปกรณ์การบินในยุคโซเวียตที่มีฝนรั่วจากหลังคา พวกเขาเฝ้าดูตัวเลขอย่างกระวนกระวายใจ ซึ่งพวกเขาไม่ต้องรอนาน ภายในไม่กี่วินาทีหลังจากโฆษณาที่ฝรั่งเศสออกอากาศยอดดาวน์โหลดก็พุ่งขึ้นทันที
7 ปีต่อมา Vinted กลายเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยมียอดขายกว่า 600 ล้านเหรียญในปี 2023 และปัจจุบันมีผู้ใช้ 100 ล้านคนทั่วโลก ปีที่แล้วบริษัทมีผลกำไรประจำปีครั้งแรก (อย่างน้อยที่ 20 ล้านเหรียญ) ต่างจากเพื่อนร่วมวงการในอเมริกาที่ยังขาดทุน เช่น The RealReal (มูลค่าประเมินบริษัท 360 ล้านเหรียญ), ThredUp (200 ล้านเหรียญ) และ Poshmark (ถูกขายในราคา 1.2 พันล้านเหรียญ) ทั้งนี้ Vinted กลายเป็นยูนิคอร์นแห่งแรกในบรรดาประเทศแถบบอลติกเมื่อระดมทุนได้ 140 ล้านเหรียญโดยมีมูลค่าประเมิน 1.1 พันล้านเหรียญในปี 2019 และมียอดขายเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัวนับจากนั้น
จนในปี 2017 Plantenga เข้ารับตำแหน่งซีอีโอแทนผู้ร่วมก่อตั้ง Vinted ที่เหนื่อยล้า “เราผูกพันในฐานะทีมเดียวกัน แต่การถึงจุดคุ้มทุนเป็นแค่ก้าวแรกเท่านั้น” Mikuckas กล่าว ตอนนี้ผู้ร่วมก่อตั้ง Vinted ทุกคนวางมือจากบริษัทแล้ว
การเติบโตอย่างรวดเร็วของอี-คอมเมิร์ซช่วงโควิดระบาดส่งผลให้ Vinted เข้าสู่สมรภูมิในสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป และเจาะตลาดในสหราช-อาณาจักรได้ในที่สุด และกำลังพยายามบุกตลาดสหรัฐฯ ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก
ในขณะที่แผนงานในอเมริกาถูกระงับ Plantenga ก็หันไปดัน Vinted สู่ตลาดบนโดยหวังจะคว้าส่วนแบ่งในตลาดขายสินค้าลักชัวรี่มือสอง ล่าสุดเขาเป็นผู้สนับสนุนให้ซื้อกิจการคู่แข่งอย่าง Rebelle ในราคา 30 ล้านเหรียญ บริษัทนี้มีทีมพิสูจน์สินค้าดีไซเนอร์ของตัวเองเพื่อรับมือกับของลอกเลียนแบบ การเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าจะทำให้มูลค่าการสั่งซื้อและค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยของ Vinted พุ่งสูงขึ้น “Vinted เป็นแบรนด์สำหรับคนทั่วไปและเสื้อผ้าทั่วไปก็จริง แต่เราสามารถทำให้หมวดสินค้าหรูหราโตได้แบบพุ่งพรวด” เขากล่าว “สินค้าแฟชั่นที่มีราคามากกว่า 1,000 ยูโรเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดของเราในขณะนี้”
แน่นอนว่าคุณไม่มีทางรู้เรื่องนี้จากการแต่งตัวของ Plantenga ในการเดินชมสำนักงานใหญ่ของ Vinted ใน Vilnius เขาสวมเสื้อยืดมีรูมือสองและกางเกงขายาวทรง parachute สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปจากออฟฟิศคือราวแขวนเสื้อ “เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีไม่ใช่บริษัทเสื้อผ้า” เขาพูดพร้อมกับยักไหล่
เรื่อง: Iain Martin เรียบเรียง: พินน์นรา วงศ์วิริยะ ภาพ: Andrejs Zavadskis
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Emma Chamberlain การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่พร้อมสตาร์ทอัพฉบับคนรักกาแฟ