ไทยมีโอกาสแค่ไหนในตลาดสมุนไพรโลกที่ปี 2573 อาจสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท - Forbes Thailand

ไทยมีโอกาสแค่ไหนในตลาดสมุนไพรโลกที่ปี 2573 อาจสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Jul 2024 | 09:00 AM
READ 910

สมุนไพรไทยมีศักยภาพสูงในตลาดโลกเพราะมีความหลากหลายของสายพันธุ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เข้มแข็ง จากข้อมูลตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกมีมูลค่า 6.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอยู่ในภูมิภาคเอเชียถึง 57.6% อเมริกา 22.1% ยุโรป 22.1% ยุโรป 18% ตะวันออกกลาง 1.5% ออสเตรเลีย 0.9% ซึ่งประเทศไทยมีการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรติดอันดับ 7 ของของโลก ส่วนภูมิภาคเอเชียประเทศไทยมีขนาดตลาดสมุนไพรเป็นอันดับ 4 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้


    สิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เล่าว่า ประเทศไทยยังเป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพรอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ยังไม่ติด 1 ใน 10 ตลาดโลก เนื่องจากข้อจำกัดด้านมาตรฐานการผลิต อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกสมุนไพรในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าสมุนไพรที่มีแนวโน้มลดลง

    สำหรับประเภทของสมุนไพรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ได้แก่ พรรณไม้และส่วนของพรรณไม้ ประเภทของสมุนไพรที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุด ได้แก่ สารสกัด จากคาดการณ์ตลาดสมุนไพรในประเทศปี 2570 มีมูลค่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ยา อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ขมิ้นชัน กระชาย-ขาว ตะไคร้หอม บัวบก

    นอกจากนั้น ตลาดสมุนไพรโลกยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยมูลค่าคาดการณ์ในปี 2573 ทะลุ 2.7 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สุขภาพ ยา เครื่องสำอาง สมุนไพรที่นิยมคือ ขิง กระเทียม โสม และคาโมมายล์


ขับเคลื่อน Economy Sharing

    จากแนวโน้มการเติบโตนี้เองเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันสมุนไพรไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะสร้างโอกาสให้กับทุกภาคส่วนสมุนไพร เช่น เกษตรกรผู้ปลูกร้างรายได้เพิ่ม เศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้อย่างยั่งยืน
ภายใต้กลยุทธ์สำคัญที่วางไว้ ได้แก่ การเพิ่มการบริโภคสมุนไพรภายในประเทศ และการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรมูลค่าสูง อาทิ สารสกัด สมุนไพรแปรรูป ยาและอาหารเสริม รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะภูมิภาคที่มีความต้องการสูงในการบริโภคสมุนไพร เช่น ตลาดอาเซียนและ CLMV ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง

    รวมถึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารเรื่องราวและคุณค่าเพื่อดึงดูดผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการโปรโมต เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค และใช้ฐานข้อมูลไว้ต่อยอดวางกลยุทธ์ได้แม่นยำมากขึ้น ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสมุนไพร

    ด้านกลยุทธ์การยกระดับสมุนไพรไทยที่จะนำมาขับเคลื่อนคือ “Economy Sharing” ผนึกความร่วมมือรัฐ-เอกชน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา และสร้างพันธมิตรเพื่อรวมกลุ่มเข้าถึงโรงงานการผลิตขนาดใหญ่ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากขณะนี้การส่งออกสมุนไพรไทยยังมีข้อจำกัดจากบางประเทศที่ไม่สามารถส่งออกไปได้

    ปัจจุบันภาครัฐและเอกชนไทยได้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ และเครือข่าย TOPT เพื่อพัฒนายาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐานด้วยการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    นอกจากนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรยังดำเนินการต่อยอดแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และกรอบการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศไทย เพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ส่งผลให้สามารถรองรับพลวัตของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีดิจิทัล

    ขณะเดียวกันยังกำหนดเป้าหมายการเป็นผู้นำในภูมิภาค ด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ได้มาตรฐานและมีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและต่อยอดด้วยนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล ได้แก่ การส่งเสริมสมุนไพรผ่านอาหารไทยจากครัวไทยสู่ครัวโลก และการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของ SMEs ด้วยงานวิจัยควบคู่กับนวัตกรรม พร้อมให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศและ CLMV รวมถึงยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยี (SMART) พร้อมส่งเสริมให้ส่วนภูมิภาคใช้สมุนไพรเป็นกลไกการพัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัด เพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขัน โดยมุ่งผลักดันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

    ทั้งนี้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ได้รับการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสมุนไพรไทยที่เป็นช่องว่างการพัฒนาที่เกิดขึ้นหลังจากการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับที่ 1 ได้แก่ วัตถุดิบสมุนไพรมีคุณภาพและมาตรฐานไม่ตอบโจทย์ความต้องการทางการตลาด ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสารสกัดจากต่างประเทศสูงในการผลิต ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยยังต้องการการสนับสนุนด้านปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและมาตรการภาครัฐเพื่อยกระดับการผลิตและการเติบโต รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยยังมีจำนวนไม่มาก และยังต้องมีการพัฒนากระบวนการตลอดจนกฎระเบียบที่สนับสนุนการประกอบการอีกมาก

    แม้รัฐบาลจะมีการกำหนดเรื่อง Herbal Champions เพื่อการพัฒนาแบบมุ่งเป้า แต่การทำงานของภาครัฐยังรวดเร็วไม่เพียงพอและยังขาดรูปธรรมในการปฏิบัติทำให้ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจ รวมถึงการใช้งานวิจัยนวัตกรรมเพื่อต่อยอดและยกระดับศักยภาพการผลิตและอุตสาหกรรมยังมีค่อนข้างน้อย การขาดข้อมูลที่เพียงพอในการสนับสนุนการกำหนดนโยบายและการดำเนินการพัฒนา การขาดความต่อเนื่องทั้งด้านนโยบายและงบประมาณในการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่

    อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) ของประเทศไทยในช่วงที่มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 (ช่วงปี 2560-2566) สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สมุนไพรไทยต้องไประดับโลก! "วังพรม" ทุ่มงบ 150 ล้าน เปิดโรงงานใหม่ รับเทรนด์รักสุขภาพ

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine