รู้จักเทคนิค ‘โหล 6 ใบ’ วิธีแบ่งเงินง่ายๆ เก็บเงินได้แน่นอน - Forbes Thailand

รู้จักเทคนิค ‘โหล 6 ใบ’ วิธีแบ่งเงินง่ายๆ เก็บเงินได้แน่นอน

เพราะบางครั้งการเก็บเงินหรือออมเงินก็เป็นเรื่องยาก หลายคนมีรายได้แต่ไม่รู้จะแบ่งใช้-แบ่งเก็บอย่างไรให้เหมาะสม ลองมาดูแนวคิดหนึ่งอย่าง ‘โหล 6 ใบ’ เทคนิคการแบ่งเงินที่เชื่อว่าจะช่วยให้ทุกคนเก็บเงินได้อย่างเป็นระบบ มีวินัยกว่าที่เคย และอาจก้าวสู่ความมั่งคั่งได้


    ‘การเก็บเงิน’ หรือ ‘การออมเงิน’ แม้ฟังดูเป็นเรื่องง่ายกลับเป็นสิ่งที่เราหลายๆ คนยังทำไม่ได้เลย โดยผลสำรวจจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บเพื่อการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท จากแนวคิดที่ยังไม่ตระหนักถึงการออมเงินไว้ใช้จ่ายในอนาคต หรือขาดความรู้ในเรื่องการวางแผนการเงินและการลงทุน รวมถึงขาดวินัยทางการออม

    ซึ่งอันที่จริงแล้ว การมีวินัยในการออมเงิน และการวางแผนทางการเงินให้ดีเป็นสิ่งสำคัญที่เราอาจต้องเตรียมไว้สำหรับการใช้จ่ายในอนาคตยามเกษียณ วันนี้เราเลยขอแนะนำเทคนิคการเก็บเงินแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า ‘โหล 6 ใบ’ หรือ ‘6 Jars’ มาฝากทุกคนกัน

    6 Jars เป็นเทคนิคของนักการเงินชื่อดัง โดยพูดถึงทฤษฎีเกี่ยวกับขวดโหล 6 ใบ เปรียบเหมือนการแบ่งเงินไว้ในขวดโหล โดยแต่ละใบก็จะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น เงินออม การลงทุน การชำระหนี้ และอื่นๆ แล้วโหลแต่ละใบมีอะไรบ้าง มาดูกัน!

    -โหลใบที่ 1 ค่าใช้จ่ายจำเป็น 55% เงินส่วนนี้เป็นเงินที่จะใช้จ่ายกับเรื่องจำเป็นต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ดังนั้นขวดโหลใบนี้ต้องมีการวางแผนอย่างดี เพื่อให้ใช้จ่ายเพียงพอ และไม่ต้องเบิกเงินจากขวดโหลใบอื่น

    การจัดการขวดโหลใบนี้ ต้องทำควบคู่กับวิธีเก็บเงินอื่นๆ ด้วย เช่น การปรับตัว ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อให้คุณยังมีเงินสำหรับเก็บออม หรือลงทุนกับขวดโหลใบอื่น

    -โหลใบที่ 2 เงินเก็บสำรองแบบระยะยาว 10% การแบ่งส่วนเงินในขวดโหลนี้ ควรเป็นการเก็บออมสำหรับอนาคต ไม่ใช่การใช้จ่ายรายวัน หรือลงทุนระยะสั้น โดยอาจทำได้หลายแบบ เช่น ฝากเงินในบัญชีฝากประจำ หรือการซื้อประกันชีวิต ซึ่งขวดใบนี้จะเป็นขวดโหลอีกใบที่จะส่วนที่ช่วยให้คุณมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

    -โหลใบที่ 3 สำหรับการศึกษาและพัฒนาตนเอง 10% เป็นวิธีเก็บเงินเพื่อนำไปใช้ในการต่อยอดความรู้ และเสริมสร้างทักษะ เช่น การซื้อคอร์สเรียนต่างๆ หนังสือน่าอ่าน หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตัวเอง

    เมื่อความรู้เพิ่มขึ้น โอกาสในการหางานทำ หรือเสริมสร้างรายได้ในอนาคตก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้น ขวดโหลนี้จึงเป็นเหมือนการลงทุนในตัวเอง ทำให้คุณมีโอกาสในชีวิตที่มากขึ้น

    -โหลใบที่ 4 สำหรับสร้างอิสรภาพทางการเงินให้ตนเอง 10% โดยส่วนที่ควรจัดสรรในโหลนี้คือ 10% ของรายได้ โดยเป้าหมายก็คือ การลงทุนที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ หรือ Passive Income ที่คุณสามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้ในอนาคต

    โดยอาจลงทุนในหุ้น กองทุน คริปโต ทองคำ หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีรายได้ระยะยาว และเปิดโอกาสให้คุณมีอิสระทางการเงินในอนาคต

    -โหลใบที่ 5 สำหรับให้รางวัลชีวิตกับตนเอง 10% เป็นโหลที่กำหนดไว้ว่าให้รางวัลชีวิตตัวเอง และไม่ได้มีเป้าหมายเรื่องการเงิน เพื่อให้การเก็บเงินไม่ตึงเครียดจนเกินไป โดยความสำคัญของโหลนี้คือ การสร้างความสุขและความพอใจในชีวิต เป็นโหลที่คอยเตือนอยู่เสมอ ว่าการเก็บเงินควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

    วิธีการใช้โหลนี้ สิ่งสำคัญไม่ใช่วิธีการเก็บเงินในโหล แต่เป็นวิธีการใช้เงิน ควรใช้ในเรื่องที่คุณสนุก และชื่นชอบ เช่น การเดินทางท่องเที่ยว ค่าอาหารมื้อหรู หรือการซื้อของสะสมต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังขอบเขตการใช้จ่าย ไม่ให้เกิน 10% ของรายได้ในแต่ละเดือน

    -โหลใบที่ 6 สำหรับการให้ผู้อื่น 5% นี่เป็นโหลที่เน้นให้โอกาสกับคนอื่น โดยส่วนสำคัญของขวดโหลนี้คือการแบ่งปันสิ่งที่ตัวเองมีให้กับคนที่ขาดแคลน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น

    โหลใบนี้จึงเป็นวิธีเก็บเงินที่ใช้ในการทำความดี ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคให้มูลนิธิ ทำบุญ หรือให้ของขวัญกับคนใกล้ชิด เป็นโหลที่แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ต่อผู้อื่นและสังคม


    นอกจากนี้ ควรฝึก 5 นิสัยเพื่อให้เก็บเงินได้รวดเร็วขึ้น ได้แก่ เลี่ยงสร้างหนี้ ตั้งเป้าหมายการออมที่ชัดเจน ตั้งงบประมาณต่างๆ ที่จะใช้ต่อเดือน บันทึกรายรับรายจ่ายอย่างง่าย และใช้เครื่องมือทางการเงินให้ถูกต้อง


ที่มา:

-คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บเพื่อเกษียณ! สมาคม TFPA จัดเวิร์กช็อป 3 กลุ่มอาชีพ หนุนคนไทยออมก่อนใช้เพื่อเกษียณ

-แชร์วิธีเก็บเงินล้าน ด้วยเทคนิค 6 jars


Image by jcomp on Freepik



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ttb เผยเศรษฐกิจตึงตัวกระทบสินเชื่อบ้าน-รถ ชี้กลุ่มรายได้ 3-5 หมื่นบาท เริ่มเปราะบาง

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine