เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ แต่ผู้สูงวัยชาวไทย 21.1% ไม่มีรายได้หลังเกษียณ และข้อมูลจาก SET ยังพบว่าคนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บเพื่อเกษียณ ทำให้ ‘สมาคมนักวางแผนการเงินไทย’ หรือ TFPA จัดเวิร์กช็อปให้ 3 กลุ่มอาชีพ หนุนคนไทยออมเงินก่อนใช้
นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association – TFPA) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) แล้วในปี 2567-2568 เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรสูงอายุ (ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) 20% ของประชากรทั้งหมด
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หลังเกษียณมีสัดส่วนถึง 21.1% และมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี 84.2% สอดคล้องกับผลสำรวจจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่าคนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บเพื่อการเกษียณ และ 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 200,000 บาท จากแนวคิดที่ยังไม่ตระหนักถึงการออมเงินไว้ใช้จ่ายในอนาคต หรือขาดความรู้ในเรื่องการวางแผนการเงินและการลงทุน รวมถึงขาดวินัยทางการออม หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
สมาคมนักวางแผนการเงินไทยต้องการส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินและมีวินัยในการออม เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย จึงได้ร่วมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) จัดการอบรม Workshop การวางแผนการเงินสำหรับ 3 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ “ข้าราชการ” “อาชีพอิสระ” และ “พนักงานประจำ” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินในแต่ละอาชีพ
โดยผู้เข้าร่วมอบรมสามารถนำไปวางแผนการเงินที่เหมาะสมกับตนเองได้ เนื่องจากแต่ละอาชีพมีที่มาของรายได้ การหักค่าใช้จ่าย ตลอดจนสวัสดิการที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การวางแผนการเงินมีความแตกต่างกัน เช่น การวางแผนภาษี การวางแผนประกัน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมจาก 3 กลุ่มอาชีพ อายุ 20-60 ปี รวม 145 คน
โดย “กลุ่มอาชีพพนักงานประจำ” นักวางแผนการเงิน CFP มีคำแนะนำเพื่อเตรียมตัวเกษียณ ได้แก่
1) การไม่พึ่งพิงรายได้ทางเดียวโดยหากิจกรรมที่ชอบเพื่อสร้างรายได้
2) ควรทำประกันสุขภาพให้เพียงพอเพื่อรองรับชีวิตหลังการเกษียณ
3) ทำประกันบำนาญเพื่อช่วยจัดการค่าใช้จ่ายคงที่
4) ศึกษาและวางแผนจัดการภาษีก่อนและหลังเกษียณ
5) จัดพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณอย่างเหมาะสม
ขณะเดียวกันแนะนำให้เริ่มต้นวางแผนการเงินด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตั้งเป้าหมายเงินออม เก็บเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน วางแผนประกันภัยเพื่อปกป้องความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ไม่ก่อหนี้เกินตัวและรีบแก้ไขเมื่อมีหนี้เกินตัว รวมถึงแยกหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน-คอนโดฯ ออกจากหนี้เลวจากการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น เริ่มต้นวางแผนเกษียณให้เร็วที่สุด และสุดท้ายคือจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมและหมั่นหาความรู้อยู่เสมอ
ทั้งนี้ ควรวางแผนลดหย่อนภาษีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อาทิ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นำมาใช้ลดหย่อน ได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 200,000 บาท กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ /กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
โดยทั้งหมดนี้นำมาใช้ลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท และกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) นำมาใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้หรือไม่เกิน 300,000 บาท
นอกจากนี้ หลังจากเกษียณอายุ ควรแบ่งการลงทุนเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. กลุ่มความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในระยะ 0-3 ปี เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ระยะสั้น คาดหวังผลตอบแทน 0.25-1.5%
2. กลุ่มความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในอีก 4-7 ปี เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ คาดหวังผลตอบแทน 4%
3. กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง-สูง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงเกินกว่า 7 ปีข้างหน้า เช่น พอร์ตกองทุน คาดหวังผลตอบแทน 6% ซึ่งพอร์ตการลงทุนในกลุ่มที่ 2 และ 3 เมื่อมีอายุถึง 82 ปี และ 86 ปีตามลำดับ ให้ย้ายเงินลงทุนมายังกลุ่มเสี่ยงต่ำทั้งหมดและคงไว้ตลอดชีวิต
ส่วน “กลุ่มอาชีพข้าราชการ” ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความมั่นคงอาจมีคำถามว่าทำไมยังต้องวางแผนการเงิน จากที่สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรม Workshop การวางแผนการเงิน พบว่ากลุ่มอาชีพข้าราชการได้มีการเตรียมพร้อมวางแผนทางการเงินมาระดับหนึ่ง
ส่วนใหญ่เข้าใจว่าสวัสดิการที่มีอยู่เพียงพอต่อชีวิตหลังวัยเกษียณแล้ว แต่อาจไม่ได้นึกถึงการปกป้องความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ไม่ได้ทำประกันชีวิต เพราะเมื่อเสียชีวิตแล้วสวัสดิการที่ได้รับก็จะสิ้นสุดไปด้วย ทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบเนื่องจากขาดรายได้ ดังนั้นเพื่อให้ครอบครัวสามารถอยู่ต่อโดยไม่ลำบากจึงจำเป็นต้องวางแผนการเงินล่วงหน้า
นอกจากนี้ ควรฝึก 5 นิสัยเพื่อให้เก็บเงินได้รวดเร็วขึ้น ได้แก่ เลี่ยงสร้างหนี้ ตั้งเป้าหมายการออมที่ชัดเจน ตั้งงบประมาณต่างๆ ที่จะใช้ต่อเดือน บันทึกรายรับรายจ่ายอย่างง่าย และใช้เครื่องมือทางการเงินให้ถูกต้อง ตลอดจนควรแบ่งสัดส่วนเงินให้ชัดเจนด้วยเทคนิค “โหล 6 ใบ” ดังนี้
-ใบแรก แบ่งเงิน 55% เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
-ใบที่สอง 10% เพื่อเป็นเงินเก็บสำรอง
-ใบที่สาม 10% เพื่อพัฒนาตนเอง
-ใบที่สี่ 10% เพื่ออิสรภาพทางการเงินโดยนำไปลงทุน เช่น หุ้น กองทุน อสังหาริมทรัพย์
-ใบที่ห้า 10% เพื่อให้รางวัลตนเอง
-ใบที่หก 5% เงินเพื่อการให้
ขณะที่ “กลุ่มอาชีพอิสระ” ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน แต่มีรายจ่ายถาวร จึงให้เริ่มต้นทำรายรับรายจ่ายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี และให้กำหนดเงินเดือนตนเองเสมือนพนักงานประจำเพื่อให้มีวินัยการเงินมากขึ้น มีการสร้างแผนสำรองเงินสดยามฉุกเฉินระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี และออมเงิน 20-40% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ยังควรวางแผนการเงินระยะยาวเมื่อต้องใช้เงินก้อนใหญ่ และป้องกันรายจ่ายก้อนใหญ่ด้วยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง วางแผนเกษียณอายุโดยไม่ละเลยการออมและลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่ลดหย่อนภาษีได้ เช่น SSF, RMF
รวมถึงควรเตรียมเงินเพื่อเสียภาษีให้เพียงพอ โดยผู้ที่คาดว่าจะมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท ต้องเตรียมตัวยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และหมั่นทบทวนปรับแผนการเงินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
“หลายคนเข้าใจผิดว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณ เป็นเรื่องของคนอายุมากหรือใกล้เกษียณ แต่การเกษียณแบบมีความสุขต้องอาศัยการวางแผนระยะยาวตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน เพราะการวางแผนเมื่อใกล้เกษียณ จะกดดันตัวเองและอาจไม่ทันการณ์อีกด้วย ” นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทยกล่าว
นอกจากนี้ สมาคมฯ เตรียมจัดกิจกรรม Financial Planning Clinic บริการให้คำปรึกษาวางแผนการเงินผ่านระบบออนไลน์กับนักวางแผนการเงิน CFP แบบรายบุคคลแก่ประชาชนที่สนใจ โดยร่วมบริจาคเงิน 500 บาทแก่สภากาชาดไทย ซึ่งเงินบริจาคสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เพื่อรับสิทธิ์รับคำปรึกษา ระยะเวลา 1 ชั่วโมง ในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2567 แบ่งเป็น 3 รอบ ได้แก่ เวลา 9.00-10.00 น. เวลา 10.15-11.15 น. และเวลา 11.30-12.30 น. รวม 30 สิทธิ์
สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ - 9 ตุลาคม 2567 หรือจนกว่าสิทธิ์จะเต็ม โดยแนบสลิปเงินบริจาคและเลือกรอบเวลา พร้อมกรอกข้อมูลผ่านแบบฟอร์มที่ https://www.surveymonkey.com/r/9MHV5NS โดยสมาคมฯ จะแจ้งยืนยันการลงทะเบียน และช่องทางเข้าร่วมกิจกรรมทางอีเมลที่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.tfpa.or.th หรือ Facebook สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ผลสำรวจเผยประชาชนไทยส่วนใหญ่ 99.7% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยครัวเรือนละ 6 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine