ผลสำรวจเผยประชาชนไทยส่วนใหญ่ 99.7% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยครัวเรือนละ 6 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต - Forbes Thailand

ผลสำรวจเผยประชาชนไทยส่วนใหญ่ 99.7% มีภาระหนี้สิน เฉลี่ยครัวเรือนละ 6 แสนบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิต

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,300 คน พบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน โดยคิดเป็นสัดส่วนหนี้ในระบบ 69.9% และ หนี้นอกระบบอีก 30.1% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% และเพิ่มสูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจในรอบ 16 ปี และสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 90.4-90.8% ของจีดีพีประเทศ


    จากผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2567 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 99.7% มีภาระหนี้สิน และอีก 0.3% ไม่มีภาระหนี้สิน โดยหนี้สินส่วนใหญ่คือ หนี้บัตรเครดิต รองลงมาคือ หนี้ซื้อยานพาหนะ หนี้ส่วนบุคคลเพื่อการอุปโภคบริโภค หนี้ที่อยู่อาศัย หนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ และหนี้การศึกษา

    ขณะเดียวกัน เมื่อเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบันพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 46.3 มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 1-1.5 แสนบาท/เดือน สำหรับหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิตนั้น ส่วนใหญ่มีการกู้ไปเพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินค้าคงทน บ้าน รถ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการประกอบธุรกิจ เป็นต้น

    โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนราว 71.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ และอีก 28.4% ยังไม่เคยผิดนัดชำระ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดคือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมาคือรายได้ลดลง สภาพคล่องธุรกิจลดลง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น


    รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปีนี้ มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอาจจะไม่ใช่ปัญหาที่บั่นทอนเศรษฐกิจ เพราะจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ กู้เพื่อนำไปลงทุน ประกอบอาชีพ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินทรัพย์คงทน อาทิ บ้าน และรถ ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

    “แต่ก็ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลทางจิตวิทยา ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลชำแหละหนี้ครัวเรือนให้ชัดเจนว่า เป็นการกู้ไปเพื่อทำอะไร ซื้ออะไร ดูว่าเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหรือไม่ และมีคลินิกแก้หนี้ที่ชัดเจน เพื่อให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งเศรษฐกิจที่ไม่ดีทำให้มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยด่วน เพื่อผลักให้เศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตได้เพิ่มขึ้น”

    ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีโอกาสขยายตัวได้ 3.5-4% ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากโมเมนตัมในช่วงปลายปี 2567 จากแรงขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลจะจ่ายเงินก้อนแรกให้กับกลุ่มเปราะบางก่อนในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งจะมีผลไปถึงต้นปี 2568 รวมกับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลตรุษจีน วาเลนไทน์ และสงกรานต์ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดอกเบี้ยโลกเริ่มลด และประเทศไทยมีงบประมาณแผ่นดินเพื่อการเบิกจ่ายลงทุนได้ตามปกติ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ไทยเสี่ยงถดถอย? SCB EIC เผยเศรษฐกิจไทยเสี่ยงดิ่ง Hard Landing กรณีเลวร้ายสุด ปี 68 GDP เหลือ 1.9%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine