ไทยเสี่ยงถดถอย? SCB EIC เผยเศรษฐกิจไทยเสี่ยงดิ่ง Hard Landing กรณีเลวร้ายสุด ปี 68 GDP เหลือ 1.9% - Forbes Thailand

ไทยเสี่ยงถดถอย? SCB EIC เผยเศรษฐกิจไทยเสี่ยงดิ่ง Hard Landing กรณีเลวร้ายสุด ปี 68 GDP เหลือ 1.9%

SCB EIC จับตาหากเศรษฐกิจไทยดิ่ง Hard Landing อาจฉุด GDP ปี 2568 เหลือ 1.9% หลังหั่นเป้า GDP ปีหน้ามาต่อเนื่องเหลือ 2.6% ย้ำหนี้เสียเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ แม้จะดัน Digital Wallet ออกมาให้กลุ่มเปราะบางได้แต่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อ GDP ราว 0.5-0.7% ส่วนเบื้องต้นคาดน้ำท่วมเหนือสร้างความเสียหาย 2,263 ล้านบาท กระทบ 0.1% ของ GDP


    ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2568 แม้ว่าทาง SCB EIC จะปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจลงถึง 2 รอบจากสูงกว่า 3% มาเหลือ 2.6% แต่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย หรือ Hard Landing ซึ่งอาจส่งผลให้ GDP ไทยลดสู่ 1.9%

    ทั้งนี้ โอกาสเกิด Hard landing ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยง อาทิ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (กระทบต่อภาคการส่งออก) การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ ซึ่งสะท้อนต่อนโยบายเศรษฐกิจที่จะออกมา รวมถึงภาคการเงินที่มีความตึงตัวสูง


    ขณะที่ปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจไทยในช่วงปีนี้ถึงปี 2568 ยังคงเป็นภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.4 ล้านคน ขณะที่การส่งออกมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา แต่ในปี 2568 ยังเติบโตต่ำกว่าในอดีต ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ สถานการณ์หนี้ครัวเรือน และหนี้เสียที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ ที่สำคัญคือเมื่อการใช้จ่ายลดลงจะส่งผลให้ภาคการผลิตปรับลดลง และอาจกระทบต่อการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ยังลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นการแก้ปัญหาหนี้จึงต้องการความร่วมมือจากหลายฝ่าย ผ่านการสนับสนุนปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องมีการสร้างรายได้ให้มากขึ้น

    ทั้งนี้ จากโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ที่จะเติมเงินให้แก่กลุ่มเปราะบางก่อนนั้น SCB EIC มองว่าถือเป็นโยบายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย และการบริโภคได้ในระยะสั้น อาจสช่วยหนุน GDP ไทยได้ราว 0.5-0.7% ทว่าด้วยการใช้วงเงินสูง แต่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว ส่งผลให้หนี้สาธารณะไทยอาจมีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570


    ส่วนนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลประกาศมานั้นยังต้องติดตามความคืบหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไร และมองว่าไทยต้องเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ปัจจุบันไทยไม่ได้ผลิตสินค้าที่โลกต้องการ และอีก 2 ส่วนสำคัญคือ

    1) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่อาจสูญเสียกำลังการผลิตในประเทศไปราว 40% หากการปรับตัวของค่ายรถยนต์ไม่เท่าทันกับกระแสนิยมที่กำลังเปลี่ยนไป

    2) ความอยู่รอดของผู้ประกอบการ SME ที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน และเจอความท้าทายทั้งกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบาง การตีตลาดจากสินค้านำเข้า กระบวนการผลิตและการตลาดล้าสมัย

    นอกจากนี้ปี 2567 ยังเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นเบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรราว 2,263 ล้านบาท (0.01% ของ GDP) แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงน้ำท่วมจากพายุและลานีญาในช่วงที่เหลือของปี

    ในด้านนโยบายการเงิน ปี 2567 นี้ SCB EIC คาดว่า คณะกรรมการนโนยานการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. 2567 และต่อเนื่องช่วงต้นปีหน้าไปอยู่ที่ 2% จากสัญญาณอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาวะการเงินตึงตัวนาน จากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ส่วน GDP ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.5%

    สุดท้ายนี้ ด้านอัตราแลกเปลี่ยน แม้ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทจะแข็งค่าเร็วหลังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำสูงขึ้น และความกังวลการเมืองไทยที่คลี่คลาย แต่ในระยะสั้นเงินบาทอาจอ่อนค่าเล็กน้อยจากปัจจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก่อนกลับสู่การแข็งค่าตาม Easing cycle ของสหรัฐฯ สำหรับ ณ สิ้นปี 2567 ประเมินเงินบาทอยู่ในกรอบ 34.00 – 34.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และที่ 2568 ที่ 33.00 – 34.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : WHA Group มั่นใจครึ่งหลังปี 67 แข็งแกร่ง ตั้งเป้ารายได้-ส่วนแบ่งกำไรทั้งปีกว่า 1.5 หมื่นล้าน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine