ปี 2568 เต็มไปด้วยความท้าทาย ไม่ว่าจะจากปัจจัยภายนอกประเทศอย่างสงครามการค้าที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ไปจนถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในส่วนของอุตสาหกรรมธนาคารที่หลายปีมานี้ยังเจอความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้ต้องชะลอและหันมาปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง
Forbes Thailand อยากชวนทุกท่านมา เจาะลึกว่าไตรมาส 1 ปี 2568 ธนาคารไหนของไทยมีกำไรมากที่สุด และกำไรที่ลดลงเกิดจากอะไร
ในภาพรวมงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2568 นี้ พบว่า กำไรสุทธิของหลายธนาคารชะลอลงมาสาเหตุเพราะแรงกดดันจากภาวะดอกเบี้ย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาสู่ระดับ 2.00% ต่อปี เมื่อเดือน ก.พ. 68 ที่ผ่านมา สาเหตุหลักเพราะเห็นแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำลงไปอีก จากที่มีท่าทีฟื้นตัวช้าอยู่แล้ว
ตลอดทั้งปี 68 นี้นักวิเคราะห์ต่างยังคาดการณ์ว่า กนง. อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1-2 ครั้ง จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในระดับสูง จากที่นักวิเคราะห์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะจัดเก็บในอัตรา 10% แต่ตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศออกมาสูงถึง 36%

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลถึงกำไรสุทธิของธนาคาร โดยไตรมาส 1 ปี แบงก์ที่มีกำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 13,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.08% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยให้เหตุผลที่กำไรฯ โตเพียงเล็กน้อยมาจากแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยฯ และการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง (เช่น เข้มงวดในการคัดกรอง, บริหารหนี้ในแต่ละระดับ เป็นต้น)
จากแรงกดดันภาวะอัตราดอกเบี้ยฯ ยังสะท้อนมาในส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของ KBank ไตรมาสนี้ซึ่งอยู่ที่ 35,425 ล้านบาท ลดลง 7.23%YoY เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่ารายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อลดลงถึง 11.60% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.41% ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส 1 ปี 2567ที่อยู่ระดับ 3.73%
ส่วนให้เงินสินเชื่อลูกหนี้ในไตรมาส 1 ปี 68 อยู่ที่ 2.43 ล้านล้านบาท ลดลง 2.03% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 67 สาเหตุหลักเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ธนาคารยังเน้นปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ส่วนการรับมือกับหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้นมีตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (การตั้งสำรองฯ) จำนวน 9,818 ล้านบาท
ต่อด้วยอันดับที่ 2 ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ไตรมาส 1 ปี 68 แจ้งว่ามีกำไรสุทธิอยู่ที่ 12,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9%YoY ถือว่าสวนทางกับรายได้หลักอย่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวลดลงกว่า 4.5%YoY สะท้อนจาก NIM อยู่ที่ 2.89% ถือว่าต่ำกว่าช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่อยู่ 3.06% รวมถึงมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 5.8%YoY
อย่างไรก็ตามแรงส่งหลักที่ทำให้กำไรฯ เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นถึง 66.4%YoY เป็นเพราะรายได้จากการลงทุนตามสภาวะตลาดเพิ่มขึ้นส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ อยู่ที่ 6,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 361.6%YoY
ท่ามกลางความเสี่ยงในปัจจุบัน แบงก์กรุงเทพยังตั้งสำรองฯ ในไตรมาสนี้ที่ 9,067 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าสินเชื่อรวมที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (หนี้เสีย หรือ NPL) ณ สิ้นเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ 97,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1%YoY
มาถึงอันดับที่ 3 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ถือเป็นยานแม่ที่ปรับโครงสร้างจากธนาคารไทยพาณิชย์แบบดั้งเดิมมาแตกไลน์เป็นธุรกิจ Gen ต่างๆ ในไตรมาส 1 ปี 68 นี้มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 12,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8%YoY โดยระบุว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ภายในงบการเงินของ SCB พบว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 31,047 ล้านบาท ลดลง 2.2%YoY มาจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ 3.67% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 3.83% และยอดสินเชื่อโดยรวมที่ลดลง 1.0%Yoy หลังจากที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง
โดยส่วนที่ทำให้กำไรสุทธิยังเพิ่มขึ้น คาดว่ามาจาก ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง 5.3%YoY และตั้งสำรองฯ ที่ 9,570 ล้านบาทลดลง 6.2%YoY เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นของธนาคารและธุรกิจกลุ่ม Gen 2 (เช่น ธุรกิจบัตรเครดิต เป็นต้น)
อันดับที่ 4 ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ไตรมาส 1 ปี 2568 พบว่ามีกำไรสุทธิอยู่ที่ 11,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3%YoY แน่นอนว่าได้รับผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง 5.8%YoY และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.08% (ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ระดับ 3.31) รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ยังลดลง 2.4%YoY
มีเพียงรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ อยู่ที่ 7,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6%YoY และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ลดลง 8.1%YoY ขณะที่ในไตรมาสนี้ กรุงไทยยังตั้งสำรองฯ ไว้ที่ 8,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4%YoY (แต่เพิ่มขึ้น 22.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/67)
มาถึงแบงก์ที่กำไรสุทธิปรับลดลง อันดับที่ 5 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY พบว่าไตรมาส 1 ปี 2568 มีกำไรสุทธิจำนวน 7,533 ล้านบาท ลดลง 0.1%YoY (แต่ถ้าเทียบกับไตรมาส 4/67 เพิ่มขึ้น 20.0%) สาเหตุเพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 7.6%YoY ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.1% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 67 ที่อยู่ระดับ 4.16%
นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานของกรุงศรี ในไตรมาสนี้ยังเพิ่มขึ้น 2.2% ขณะที่ปัจจัยที่ช่วยพยุงกำไรสุทธิให้ติดลบเล็กน้อยอาจมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ 1) รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อยู่ที่ 11,845 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4%YoY และ 2) การตั้งสำรองฯ ที่ลดลง 18.6%YoY (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าลดลง 5.1%)
สุดท้าย อันดับที่ 6 ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า กำไรสุทธิอยู่ที่ 5,096 ล้านบาท ลดลง 5.2%YoY สาเหตุหลักยังเหมือนกับทุกธนาคารคือ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 13,219 ล้านบาท ลดลง 8.2%YoY จากการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยฯ และความต้องการในตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัว ส่วน NIM อยู่ที่ 3.19% ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ระดับ 3.28%
กำไรสุทธิยังลดลงแม้จะมีปัจจัยหนุนจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่เพิ่มขึ้น 1.9%YoY และค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลง 5.6%YoY โดยในไตรมาส 1 ปี 68 นี้ ttb มีการตั้งสำรองฯ 4,580 ล้านบาท ลดลง 10.5%YoY (ลดลง 2.4% จากไตรมาสก่อนหน้า)
ธุรกิจธนาคารยังต้องปรับตัวอีกมากเพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2568 ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจชะลอตัวลงอีก แม้อาจมีการเร่งการส่งออก ขณะที่ครึ่งปีหลังไทยยิ่งต้องเจอกับความท้าทายที่ต้องรับแรงกระแทกจากนโยบายการขึ้นภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ จึงต้องติดตามว่าภาครัฐจะมีสามารถเจรจาได้มากน้อยเพียงใด และจะมีนโยบายเพิ่มเติมอย่างไร หรือภาคธนาคารจะปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือภาวะที่รายได้ของคนไทยยังเสี่ยงที่จะลดลงอีกระลอก
ภาพ: Forbes Thailand รวบรวม, ธัญวดี นิรุตติศาสตร์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : '10 แบงก์พาณิชย์' รายได้ยังโตสวนกระแสเศรษฐกิจ ปี 67 กำไรพุ่งแตะ 2.5 แสนล้าน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine