แม้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยจะยังคงชะลอตัวแต่ผลประกอบการของกลุ่มแบงก์พาณิชย์ส่วนใหญ่ก็ยังบริหารจัดการความเสี่ยงได้เป็นไปตามเป้า เห็นได้จากตัวเลขของ 4 แบงก์ใหญ่ อย่าง KBANK, BBL, SCB และ KTB ที่ยังคงทำกำไรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนทะลุเกิน 4 หมื่นล้านบาท และหากรวมตัวเลขของทั้งหมด 10 แบงก์ จะมียอดทำกำไรพุ่งขึ้นจากปีก่อนเฉียด 2.5 แสนล้าน
สรุปผลการดำเนินงานของ 'กลุ่มธนาคารพาณิชย์' ในประเทศไทยจำนวน 10 แห่ง หลังจากมีการแจ้งรายงานผลประกอบการปี 2567 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ไปแล้วเรียบร้อย ทั้งนี้ จากภาพรวมจะเห็นได้ว่าแม้สถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในละต่างประเทศจะยังชะลอตัว แต่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ยังสามารถบริหารต้นทุนและจัดการความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังคงทำกำไรสุทธิได้อย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ดังนี้
1. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 48,598.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 42,405.04 ล้านบาท
2. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 45,211.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 41,635.52 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากปริมาณเงินให้สินเชื่อและอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่เติบโต ส่งผลให้เกิดรายได้สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากเพิ่มขึ้น และมีรายได้ที่มีการใช้ดอกเบี้ยรวม 41,911 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% จากปีก่อน
3. บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 43,943.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 43,521.33 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 129,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีก่อน จากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย
4. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 43,855.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 36,615.91 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่ออย่างสมดุล
5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 29,699.75 ล้านบาท ลดลง 9.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 32,929.52 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากในปี 67 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอยู่ที่ 45,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 35,617 ล้านบาท ซึ่งมาจากแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดและรอบคอบของกรุงศรีภายใต้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของประเทศ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการตั้งสํารองเพื่อรองรับธุรกิจในต่างประเทศ
6. ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 21,031.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 18,621.53 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากควบคุมต้นทุนการเงินที่ดีการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
7. บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,901.28 ล้านบาท ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 7,301.11 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มสำรองเพื่อกลับสู่ระดับปกติและเพื่อรองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง
8. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,985.07 ล้านบาท ลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5,443.40 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ 11% จากการชะลอตัวของสินเชื่อตามมาตรการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อไปในประเภทที่มีคุณภาพสูง รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินตามภาวะอัตราดอกเบี้ย และรายได้ที่การปล่อยสินเชื่อ ในส่วนของรายได้ค่านายหน้าประกันปรับตัวลดลง ภายใต้มาตรการชะลอการเติบโตสินเชื่อของธนาคาร
9. ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,852.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77.7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,605.27 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9.7% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นลดลง 13.7%
10. บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,046.99 ล้านบาท ลดลง 2.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,096.29 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 6,944.3 ล้านบาท ลดลง 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน อีกทั้งบริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 6,206.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากนับรวมของยอดการทำกำไรสุทธิของแต่ละธนาคารรวมทั้งหมด 10 แห่ง จะเห็นได้ว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 232,171 ล้านบาท มาเป็น 249,124 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นราว 7.3% ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ธนาคารส่วนใหญ่ยังทำกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องคือการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างรอบรอบนั่นเอง
ภาพ : KBANK, BBL, SCB และ KTB
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : InnovestX มองเศรษฐกิจปี 68 ผันผวนสูง ผลตอบแทนต่ำ แนะจับตาสหรัฐฯ หลังการกลับมาของประธานาธิบดี Donald Trump
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine