ทำความรู้จักกับสองเสาหลักแห่งเครือสหพัฒน์ที่ช่วยขับเคลื่อนอาณาจักรแสนล้านให้เดินหน้าอย่างมั่นคง
ความเพียรนำมาซึ่งความสำเร็จ คำกล่าวนี้ถูก เทียม โชควัฒนา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจริงแค่ไหน เพราะภายใต้ความมุมานะทำงานอย่างหนัก เขาได้สร้าง “เครือสหพัฒน์” ให้เติบใหญ่กลายเป็นอาณาจักรสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งยังเป็นต้นธารแห่งความสำเร็จให้กับสายเลือด “โชควัฒนา” รุ่นลูกและหลานได้เดินหน้าขยายธุรกิจอย่างไม่หยุดยั้ง มีผู้นำคือ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา และในส่วนของบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นสายธารที่ต่อยอดมาอย่างมั่นคงอยู่ภายใต้การบริหารของ บุญชัย-บุญเกียรติ โชควัฒนา “คุณบุญชัยและคุณบุญเกียรติไปได้ดีในสายงานของเขา” คือประโยคที่บุณยสิทธิ์ในฐานะพี่ชายและนายใหญ่แห่งเครือสหพัฒน์เอ่ยสั้นๆ แต่เปี่ยมด้วยความภาคภูมิใจ ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของเครือสหพัฒน์ เทียมได้รับการอบรมสั่งสอนเรื่องความอดทนและความขยันตั้งแต่ยังเด็ก เวลาว่างของเขาหลังเลิกเรียนที่โรงเรียนเผยอิงคือการกลับบ้านช่วยงานพ่อแม่ที่ร้านลี้เปียวฮะ แต่ต่อมาเมื่อไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจของครอบครัวต้องสะดุด เทียมในวัย 15 ปี จึงตัดสินใจออกจากโรงเรียนมาช่วยกิจการค้าขาย พร้อมกับเริ่มมองหาลู่ทางจำหน่ายสินค้าใหม่ อาทิ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว แต่ฮกเปียวไม่เห็นด้วย เทียมจึงตัดสินใจออกไปตั้งร้านเฮียบเซ่งเชียง ที่ย่านสำเพ็ง ซึ่งฮกเปียวให้ทุนมา 1 หมื่นบาท ส่วนพ่อตาของเทียมก็ให้ยืมเงิน 2 หมื่นบาทมาใช้เป็นเงินตั้งต้นซื้อสินค้า ด้วยสถานการณ์ที่อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เทียมจึงติดต่อซื้อสินค้าจากบริษัทในเครือของกลุ่ม Mitsui ประเทศญี่ปุ่น และติดต่อญาติๆ ที่ประเทศจีนเพื่อนำสินค้าเกษตรจำพวกถั่วต่างๆ เข้ามาจำหน่าย ก่อนจะตัดสินใจลงทุนร่วมกับเพื่อนชาวญี่ปุ่น โอกาดะ จนกิจการก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ และในปี 2495 เฮียบเซ่งเชียงก็เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ซึ่งคำว่า “สห” “พัฒน”และ “พิบูล” มาจากชื่อร้าน “เฮียบเซ่งเชียง” มีความหมายว่า รวมกันเพื่อให้เกิดความถาวรวัฒนา “โตแล้วแตก-แตกแล้วโต" สหพัฒนพิบูลในยุคของเทียมเติบโตจนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อถึงจุดหนึ่งเทียมจึงใช้กลยุทธ์ “โตแล้วแตก-แตกแล้วโต” คือเขาเปิดโอกาสให้พนักงานที่อยู่มานานและมีฝีไม้ลายมือในการทำงานเป็นที่ไว้วางใจได้แยกไปเป็นผู้บริหารบริษัท โดยสหพัฒนพิบูลร่วมลงทุน ส่วนกลยุทธ์ “แตกแล้วโต” ลูกๆ ของเทียมก็ได้นำมาใช้และกลายเป็นหัวใจหลักในการทำงาน นั้นคือ การก่อตั้งบริษัทที่เพิ่มขึ้นแต่ทั้งหมดล้วนอยู่ในเครือสหพัฒน์ ทว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผัน บุณยสิทธิ์ จึงตัดสินใจปรับกลยุทธ์ใหม่ หาก “แตกแล้วโต” ไม่ได้ผล เขาจะใช้วิธี “รวม” เพื่อทำให้ธุรกิจนั้นแข็งแรงพอจะสู้กับคู่แข่งขันได้ “ผมตัดสินใจให้บุญชัยเข้ามาบริหารเต็มที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงแก้ไข ปรับปรุงระบบใหม่ เนื่องจากผมสร้างมากับมือจะแก้ไขหรือจะปรับอะไรนี่มันทำไม่ลง บุญเกียรติก็มาช่วยกันประชุมกันบ่อยมากเพื่อแก้ปัญหา”บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งที่เทียมเคยกล่าวไว้ในหนังสือ “สหพัฒน์ โตแล้วแตก และ แตกแล้วโต” ในช่วงที่เขาดึงบุญชัยและบุญเกียรติมาช่วยกู้สถานการณ์ขาดทุนของสหพัฒนพิบูลในราวปี 2528 บุญชัย งัดทุกตำราและประสบการณ์จากการเติบโตในครอบครัวค้าขายมาใช้จนกระทั่งคลี่คลายวิกฤตได้ในที่สุด จากนั้นก็ปรับระบบการทำงานภายในองค์กรให้ทันสมัย ปัจจุบันบุญชัย วัย 69 ปี ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการของสหพัฒนพิบูล รับผิดชอบการกระจายสินค้ากว่า 600 รายการ ภายใต้แบรนด์สินค้ากว่า 90 แบรนด์



คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "สหพัฒนพิบูล-ไอ.ซี.ซี. สองเสาหลักแห่งเครือสหพัฒน์" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560
