อุตสาหกรรมซีเมนต์ ในเมกะเทรนด์ Green Economy - Forbes Thailand

อุตสาหกรรมซีเมนต์ ในเมกะเทรนด์ Green Economy

FORBES THAILAND / ADMIN
17 Jul 2024 | 09:00 AM
READ 1776

ท่ามกลางความท้าทายด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ก่อปัญหาเป็นวงกว้าง ภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนวาระสำคัญทั้งในระดับองค์กร สมาคมฯ และระดับประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม


    เมื่อทั่วโลกต่างรับรู้ถึงปัญหาและทุกส่วนในสังคมต่างก็หาแนวทางในการแก้ไข การทำธุรกิจในแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวหรือ green economy ที่เน้นลดการทำลายธรรมชาติแล้วหันมาใส่ใจผู้คนในสังคมให้มีชีวิตดีขึ้นผ่านการลดคาร์บอน ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในอนาคต

    ที่ผ่านมาธุรกิจต่างๆ ได้นำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาวัสดุและผลิตภัณฑ์ในงานก่อสร้างที่ได้มาตรฐานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนของสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA: Thai Cement Manufacturers Association) ที่เน้นทำงานในทุกมิติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และเศรษฐกิจ


Thailand’s New Era of Low Carbon Cement

    การเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมซีเมนต์เดิมสู่ New Era ที่ปูนซีเมนต์ยังคงเป็นหนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันก็ลดก๊าซเรือนกระจกได้ด้วยภายใต้ Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap ที่เดินไปพร้อมกับแผนของประเทศไทยอย่าง Thailand NDC Roadmap

    แนวทางของการเปลี่ยนผ่านมีตั้งแต่การพัฒนาและวิจัยปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ การเร่งขยายผลการทำเหมืองให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามนโยบายภาครัฐ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งน้ำและจุดเรียนรู้สำหรับชุมชนตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ในแนวปฏิบัติ Green Mining Practice เช่น “เขาทับควายเพื่อชุมชน” เหมืองในจังหวัดลพบุรีมีการพัฒนารวมทั้งมีการทำงานที่เชื่อมโยงสร้างระบบนิเวศ โดยเฉพาะจัดการวัสดุที่ไม่ใช่แล้ว (waste) ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) ปัจจุบันอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้นำของเสียในกระบวนการ 3R Reduce, Reuse, Recycle มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์เป็นการกำจัดขยะอย่างถูกต้อง ช่วยชุมชนปลอดมลพิษและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


นวัตกรรมปูนคาร์บอนต่ำ

    หนึ่งในการทำงานอย่างมุ่งมั่นกับการพัฒนาสินค้านวัตกรรม “ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก” ซึ่งเป็นปูนคาร์บอนต่ำ (low carbon cement) ผลิตตามมาตรฐาน มอก. 2594 ที่มีเทคโนโลยีการผลิตทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในแนวทางกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (Industrial Processes and Product Use: IPPU) นำมาใช้ทดแทนปูนปอร์ตแลนด์ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมและเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

    จากข้อมูลการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ 0.05 ตัน CO2 เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยให้การยอมรับและนำปูนไฮดรอลิกไปใช้ในงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ทั้งเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน การทางพิเศษ กระทรวงมหาดไทย ทำให้ในปี 2566 สามารถลดก๊าซเรือนกระจก 700,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนภายใต้วิสัยทัศน์ TCMA Synergizing the Actions toward Net Zero 2050


เมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย

    ความตั้งใจที่จะลดคาร์บอนยังนำไปสู่การสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ อย่างสระบุรีแซนด์บ็อกซ์-ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ” หรือ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” โดยร่วมทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และอื่นๆ เพื่อพลิกสระบุรีที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมซีเมนต์ เพราะมีโรงงานซีเมนต์อยู่กว่า 70-80% และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 7% ของ GDP ของประเทศให้เป็น “เมืองคาร์บอนต่ำ” อย่างเต็มรูปแบบ

    เมือง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” แห่งนี้จะเป็นต้นแบบแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกโดยดำเนินการใน 5 ด้าน

    1. เน้นนำพลังงานสะอาดมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (accelerating energy transition) เช่น การจัดหาพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (solar floating) และระบบผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน การพัฒนาสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (grid modernization) และการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน

    2. ทำการศึกษาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนและส่งเสริมการใช้ปูนไฮดรอลิก รวมถึงการมองหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาปูนชนิดใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้นในอนาคต

    3. บริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ (turning waste to value) นำมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ซึ่งเป็นไปตามตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE)

    4. ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมคาร์บอน และพัฒนาปลูกพืชพลังงานในจังหวัดสระบุรีให้มากขึ้น เช่น ทำนาเปียกสลับแห้ง ซึ่งวิธีนี้จะลดการใช้น้ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

    5. สนับสนุนการปลูกป่าชุมชนอีก 38 แห่งทั่วจังหวัด เพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับคาร์บอน พร้อมทั้งต่อยอดในเชิงพาณิชย์ด้วยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทำรายได้ให้ชุมชน


ผสานความร่วมมือระดับโกลบอล

    การรับมือกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกเป็นประเด็นที่ใหญ่และส่งผลกระทบในวงกว้าง การจับมือกับหน่วยงานต่างๆ มีความสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมา TCMA ได้ยกระดับความร่วมมือกับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้าร่วม COP27 และ COP28 รวมถึงร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ GCCA (Global Cement and Concrete Association) ในหลายกิจกรรม

    หนึ่งในนั้นคือ การร่วมกันผลักดันให้เกิด GCCA CEO ซึ่งเป็นงานเดียวที่รวมตัวซีอีโอจากทั่วโลกให้เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมที่ประเทศไทยในวันที่ 4 มิถุนายน ปี 2567

    GCCA CEO เป็นงานที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของภาคธุรกิจซีเมนต์ในไทย ทั้งแผนใหญ่ Thai Cement & Concrete Roadmap to Net Zero 2050 และ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ โครงการที่มีแนวคิดและแผนปฏิบัติงานที่ได้รับการยอมรับในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก โดย GCCA ยกให้เป็นต้นแบบและกรณีศึกษาเพื่อถ่ายทอดด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมซีเมนต์ที่เป็นมิตรต่อเศรษฐกิจและชุมชนให้แก่สมาชิก

    บทบาทระดับภูมิภาคที่ TCMA ขับเคลื่อนก็มีเช่นกัน ในกิจกรรมของสภาผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน (ASEAN Federation of Cement Manufacturers: AFCM) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุม Asia Cement ประสบความสำเร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยวางเป้าหมายให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันลดคาร์บอนและเตรียมขยายผลต่อในการประชุมครั้งต่อไปที่เวียดนาม


Green Funding

    จากความร่วมมือที่ขับเคลื่อนทั้งระดับองค์กร จังหวัด และประเทศ รวมถึงในภูมิภาคและระดับโลกจะเกิดขึ้นได้นั้นจำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนทางการเงินจากคอร์ปอเรชั่นและ Green Funds จากต่างประเทศ เช่น UNIDO มีเงินทุนสนับสนุนมาจาก Global Environment Facility ส่งมาให้ UNIDO Thailand มีมูลค่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเดินหน้า CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) เทคโนโลยีที่ช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูง แต่หากเกิดขึ้นได้จริงจะมีประโยชน์อย่างมากต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) และการลดก๊าซเรือนกระจกในไทย



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : OR จับมือ ไทยเวียตเจ็ท ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง SAF ในเที่ยวบินปฐมฤกษ์ เริ่ม ก.ค.นี้

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine​