สะใภ้เจียรวนนท์ผู้ชื่นชอบการออกแบบและหลงใหลในศิลปะ นอกจากการเป็นนักสะสมแล้ว ล่าสุดยังได้จัดตั้งอาร์ตสเปซแห่งใหม่ในประเทศไทย โดยตั้งใจว่าจะให้เป็นพื้นที่จัดแสดงงานสำหรับศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินที่มีชื่อเสียงทั่วโลก
เมื่อออกจากแผ่นดินเกิดประเทศเกาหลีใต้เพื่อศึกษาระดับปริญญาตรีที่ New York University (NYU) สหรัฐอเมริกา มาริษา เจียรวนนท์ ต้องการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ แต่ขณะนั้นภาษาอังกฤษยังไม่ดีนักจึงเปลี่ยนไปเรียนด้าน Finance and International Business แทน
มาริษาสนใจศิลปะตั้งแต่เด็กและเรียนได้คะแนนดีแต่ไม่เคยคิดจะเป็นศิลปิน ทว่าปัจจุบันเธอเป็นนักสะสมงาน ทั้งยังเป็นผู้อุปถัมภ์และส่งเสริมวัฒนธรรมไทยออกสู่ระดับสากลผ่านงานสร้างสรรค์ 3 ด้านคือ วงการศิลปะ การศึกษา และศิลปะการทำอาหารของไทย
ช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 ครั้งแรกเธอได้ก่อตั้งโครงการ Chef Cares ในเดือนมีนาคม ปี 2563 โดยร่วมกับเชฟชั้นนำของประเทศไทยมากกว่า 70 คน และผู้สนับสนุนวัตถุดิบ จัดทำอาหารกล่องสำเร็จรูปมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล รวมถึงเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงเป็นเวลากว่า 3 เดือนครึ่ง จัดส่งอาหารกลางวันมากกว่า 30,000 กล่อง
เมื่อการระบาดทุเลาลงมาริษามีวิสัยทัศน์ว่าจากโครงการกล่องอาหารกลางวันที่ใช้ทุนจากการบริจาคควรทำให้มูลนิธิสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง จึงก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส และผลิตอาหารพร้อมทานภายใต้แบรนด์ Chef Cares โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายนำไปใช้กับโครงการเพื่อสังคม
เรื่องของโชคชะตา
มาริษาเล่าว่า เธอสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก มีโอกาสรู้จักคนในวงการศิลปะค่อนข้างกว้างขวางตั้งแต่นักสะสมจนถึงศิลปิน “มีคนกล่าวไว้ว่า คนที่สนใจศิลปะมีอยู่ 2 รูปแบบคือ คนที่รายล้อมโดยคนรอบข้างที่สนใจศิลปะหรือด้วยสังคม แต่อีกประเภทหนึ่งคือ เป็นคนที่มี sense และมีความสนใจติดตัวมาตั้งแต่เกิด ดิฉันคิดว่าตัวเองจัดอยู่ในคนกลุ่มหลัง ตั้งแต่เด็กก็สนใจภาพ ชอบการออกแบบ”
ระหว่างเรียนที่ New York ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เธอมักจะไปเดินเล่นย่าน Soho เข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ งานชิ้นแรกที่เริ่มสะสมเป็นภาพวาดชิ้นเล็กๆ ของศิลปินเกาหลีที่ได้อิทธิพลจากป๊อปอาร์ตคล้ายๆ Andy Warhol ก็ได้มาจาก Soho
หลังเรียนจบและสมรสกับ สุภกิต เจียรวนนท์ (ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์) ได้ติดตามสามีไปอยู่ฮ่องกง ทำให้มีโอกาสพบเจอและแลกเปลี่ยนความรู้กับนักสะสมจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เพราะขณะนั้นฮ่องกงเป็นศูนย์กลางของวงการศิลปะร่วมสมัยในเอเชีย มาริษาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ถึง 21 ปี เมื่อย้ายกลับมาประเทศไทยหากมีเวลาเธอจะไปชมนิทรรศการศิลปะของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งซื้องานภาพพิมพ์เก็บไว้จำนวนหนึ่ง
ที่ผ่านมาเราเคยได้ยินว่านักสะสมซื้อเพราะชอบชิ้นงาน ชื่นชมฝีมือของศิลปินคนนั้นๆ บ้างก็มองว่าเป็นการลงทุน เป็นสินทรัพย์รูปแบบหนึ่ง แต่นักสะสมรายนี้มีแนวคิดที่ต่างออกไป
“การสะสมของตัวดิฉันเป็นไปเองตามธรรมชาติ ค่อยเป็นค่อยไป ดิฉันเชื่อในเรื่องโชคชะตา หากมีโชคชะตาสอดคล้องกันก็จะเกิดขึ้นเอง บางครั้งแม้ไม่ค่อยชอบสไตล์ผลงานของศิลปินคนนั้นเท่าไรแต่ก็ซื้อเก็บไว้เพราะเป็นเพื่อนกัน ความสัมพันธ์นี้เป็น life journey บอกเล่าการเดินทางของชีวิต...งานหลายชิ้นที่มีอยู่มาจาก personal story หรือความสัมพันธ์ มุมมองส่วนตัวที่เกิดขึ้นกับศิลปิน ไม่ค่อยจะไปตื๊อหรือแสวงหาที่จะซื้องาน”
ชิ้นงานพิเศษ
อีกผลงานหนึ่งเป็นงานประติมากรรมของ Tony Cragg ประติมากรชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียง มาริษาเห็นงานของเขาครั้งแรกจากนิตยสารสถาปัตยกรรมและติดต่อไปเพราะอยากได้ แต่ไม่มีงานขายแล้ว ตอนนั้นยังไม่รู้จักศิลปิน ชิ้นงานที่เธอชื่นชอบชื่อ Out of Sight, Out of Mind เป็นรูปคน 2 คน ซึ่งมีความสูงไม่เท่ากัน และแนวสายตาอยู่คนละทาง
“ชีวิตของดิฉันในตอนนั้นสามีเดินทางจากฮ่องกงไปทำงานที่ประเทศจีนบ่อยมาก พอฟังถึง Out of Sight, Out of Mind แล้วเป็นคอนเซ็ปต์ที่ค่อนข้างเศร้าจึงถามศิลปินว่า สามารถสร้างผลงาน Out of Sight, Still in Mind ได้ไหม การขอแบบนี้แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในวงการศิลปะร่วมสมัย เป็นอะไรที่ผิดแปลก สมัยนั้นยังไม่ค่อยมีนักสะสมจากเอเชียสะสมงานเขาเท่าไร เขาเลยตอบตกลง จึงเป็นที่มาที่ไปของประติมากรรมชิ้นนี้ มีการคุยเพื่อสร้างผลงานพิเศษขึ้นมา เรียกว่า commission”
มาริษาพูดช้าๆ เป็นภาษาไทยสลับกับภาษาอังกฤษด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล ปรากฏว่าชิ้นงานที่ทำขึ้นมามีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถตั้งไว้ในห้องที่บ้านที่ฮ่องกง มาริษาจึงทุบเพดานห้องสมุด เปิดให้เพดานสูงขึ้นเพื่อจะนำงานของ Tony Cragg เข้ามาตั้งไว้ในบ้าน
สร้างชื่อในเวทีสากล
จากคอลเล็กเตอร์ผู้มีคุณประโยชน์ต่อวงการและมีคอนเนกชั่นที่กว้างขวางทำให้มาริษาเป็นที่รู้จักขององค์กรศิลปะระดับสากล โดยปี 2565 ได้รับรางวัล Rinascimento+ Award ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่นักสะสมที่ช่วยต่อยอดวงการศิลปะร่วมสมัยในระดับโลก งานนี้จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ที่ประเทศอิตาลี
“ตอนแรกดิฉันไม่คิดว่าตนเองมีคุณสมบัติพอ เพราะผู้ได้รับรางวัลเดิมซึ่งจะมีครั้งละ 6 คน ล้วนเป็นคนที่เก่งและมีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัย แต่ในอีกมุมหนึ่งการที่ดิฉันเป็นคนไทยและคนเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้อาจช่วยให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นในวงการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติจึงตกลงรับ (รางวัล) ซึ่งบทสุนทรพจน์ที่ดิฉันกล่าวไม่เกี่ยวกับศิลปะมากนัก แต่เป็นเกี่ยวกับประเทศไทยและ soft power...”
พันธกิจใหม่
ส่วนบทบาทในไทยเธอเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโส โดยกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาและดูแลการพัฒนาศิลปะร่วมสมัย วัฒนธรรม และความเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติของไทย
“ดิฉันมองว่าตนเองไม่ใช่ art collector แต่เป็น art sharer และไม่อยากเก็บไว้คนเดียว เพราะศิลปะเป็นตัวช่วยจุดประกายความคิด หากได้แชร์และแบ่งปันกับคนทั่วไปได้ชมจะเป็นประโยชน์มากกว่า...การสร้างงานศิลปะชิ้นพิเศษจะเป็นตัวต่อยอดวัฒนธรรมไทยหรือ soft power ของประเทศไทยให้ไปสู่สากล” เธออธิบาย
“ตอนนี้ดิฉันได้กลับมาอยู่ประเทศไทยและคิดว่าจาก connection และเครือข่ายที่มีในวงการศิลปะร่วมสมัยจะสามารถทำอะไรได้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจจากคนทั่วโลก ไม่ใช่โครงการทางธุรกิจ แต่เป็นโครงการส่งเสริมวัฒนธรรมและเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยเชิง geopolitics และความสำเร็จ ในมุมมองของดิฉันคือการสร้างประโยชน์ในส่วนนี้”
นั่นเป็นที่มาของ บางกอก คุนสตาเล่อ (Bangkok Kunsthalle) ซึ่งมาริษาใช้เงินส่วนตัวซื้อและปรับปรุงอาคารโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชบนถนนเยาวราชให้เป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะ โดยตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางของการจัดนิทรรศการ งานเสวนา รวมถึงการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รวมถึงเป็นอีกช่องทางในการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์และการจัดแสดงงานภายใต้โจทย์และแนวทางที่หลากหลายสำหรับศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการทั่วโลก ที่นี่จะมีการจัดแสดงนิทรรศการประมาณ 4 ชุดต่อปี หมุนเวียนกันไปทั้งศิลปินไทย-ต่างชาติ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง MAGURO ธุรกิจของผองเพื่อน