ฟินแลนด์ คือประเทศที่คว้าอันดับ 1 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกติดต่อกัน 7 ปีซ้อน อ้างอิงจากรายงานล่าสุดโดย World Happiness Report มาดูกันว่าอะไรคือหลักการทำงานอย่างมีความสุขของชาวฟินนิช
Miika Makitalo ซีอีโอแห่ง HappyOrNot เผยว่า สองปัจจัยหลักที่ช่วยให้ชาวฟินนิชค้นพบความสุขในที่ทำงาน ได้แก่ ความเชื่อใจขั้นสูงที่มีต่อสถาบันรวมทั้งเพื่อนร่วมงาน และการให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance เป็นอย่างมาก
HappyOrNot คือบริษัทบริหารจัดการความคิดเห็นของผู้บริโภค ตั้งอยู่ในประเทศฟินแลนด์ โดยสนามบินและห้างร้านทั่วโลกต่างใช้บริการของบริษัทรายนี้ ซึ่งมีพนักงานเพียง 56 คนจาก 15 สัญชาติมาทำงานกันในประเทศฟินแลนด์ นอกจากนี้ยังมี 15 คนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และอีกราว 5 คนอยู่ในสหราชอาณาจักร
ในฐานะผู้นำธุรกิจ Makitalo กล่าวว่า มีสำนวน 3 ข้อที่อธิบายความรู้สึกนึกคิดของชาวฟินนิชว่าด้วยการค้นพบความสุขและความพึงพอใจในที่ทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ดังนี้
‘No one is born a smith.’
สำนวนนี้แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด’ ซึ่ง Makitalo เน้นย้ำว่า “ไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็นมืออาชีพได้ทันที” และ “มักจะมีสิ่งใหม่ให้เรียนรู้เสมอ”
สำนวนนี้เป็นการให้กำลังผู้คนให้ลงมือทำงานอย่างเต็มที่ แม้จะยังอยู่ในช่วงเรียนรู้งานก็ตาม
“หากคุณใฝ่ฝันถึงบางสิ่ง ก็ไปไขว่คว้ามันมา” เขากล่าว “สมัครงานตำแหน่งที่หวังดู และหากได้งานแล้วละก็ จงตั้งใจเรียนรู้วิธีการทำงาน”
บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นด้วยว่าการทำงานโดยมี Growth Mindset คือความเชื่อว่าคุณสามารถพัฒนาทักษะผ่านการฝึกฝน นับเป็นคุณสมบัติของคนที่ก้าวหน้าอย่างโดดเด่น
นอกจากนี้ สำนวนดังกล่าวยังเป็นการเน้นย้ำว่า การทำผิดพลาดระหว่างกระบวนการเรียนรู้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ตราบใดที่คุณเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้นหรือคำวิจารณ์ที่ได้รับ
“เป็นแนวคิดที่ดีครับ” Makitalo ว่า “ไม่มีความจำเป็นหรือคาดหวังว่าต้องเก่งกาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งภายในวันเดียว ขอให้ใจดีกับตัวเองเข้าไว้”
‘Serious business matters are taken care of; otherwise, we’ll be like Mary’s chickens on the loose.’
สำนวนนี้มีที่มาจากนิยายคลาสสิกของฟินแลนด์ชื่อ The Unknown Soldier ซึ่ง Makitalo อธิบายความหมายว่า สำนวนนี้เน้นให้เห็นถึงลำดับขั้นตอนที่พบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมการทำงานแบบฟินนิช หลักๆ คือ “สิ่งใดที่เร่งด่วนจะต้องทำให้เสร็จก่อน แต่เราไม่สนใจเกี่ยวกับโครงสร้าง บอสไม่จำเป็นต้องเดินมาบอกผมว่าต้องทำอะไรบ้าง ผมรู้ว่าผมควรทำอะไร ผมกำลังลำดับความสำคัญอยู่”
ในฐานะซีอีโอ Makitalo เผยว่าเขาสนับสนุนการรับฟังความคิดเห็นโดยตรงจากพนักงาน “ใครในองค์กรก็เดินมาหาผมและบอกว่า ‘Miika นั่นไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย แก้กลยุทธ์นี้ใหม่เถอะ’ ได้ครับ”
“ผมคิดว่านั่นเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ดี ยิ่งเมื่อมีข้อเท็จจริงต่างๆ รองรับ”
พนักงานชาวฟินนิชอาจมีหน้าที่หลายอย่างและมีความรับผิดชอบต้องดูแลแตกต่างกัน แต่ “เราต่างก็อุทิศให้งานอย่างเท่าเทียมกัน” Makitalo กล่าว
เขาอธิบายเสริมว่า การแบ่งปันความคิดเห็นยังช่วงป้องกันพฤติกรรมการบริหารงานแบบจู้จี้จุกจิก และช่วยให้พนักงานรู้สึกมีความรับผิดชอบต่องาน “เมื่อทุกคนในองค์กรรู้กลยุทธ์และมุมมอง พวกเขาจึงสามารถลงมือทำด้วยตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใครคอยบอก”
‘“Forward” said the granny in the snow.’
อีกหนึ่งสำนวนเข้าใจง่าย เพื่อให้กำลังใจทุกคนก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ
“เรามีความคิดเล่นๆ ว่า ถึงหิมะจะหนาสี่นิ้ว คุณยายคนหนึ่งก็ยังพูดได้ว่า ‘โอ๊ย ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรหรอก’ ครับ” Makitalo กล่าว
สำนวนนี้อาจจะเหมาะสำหรับการประชุมยาว ที่ต่างคนต่างตัดสินใจไม่ได้เสียทีว่าจะลงมือทำอย่างไรกันต่อไป ซึ่ง Makitalo บอกว่า “เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณจำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้า และเผชิญกับสิ่งที่คุณไม่รู้จักยามเมื่อมันปรากฏขึ้นมา”
“แนวคิดก็คือ มาทำสิ่งเหล่านี้ให้เสร็จกันเถอะ” เขาว่า “ดังนั้นก็เลยจะมีชุดความคิดที่ว่า ไม่ต้องกังวลไปหรอก ไม่ต้องจมจ่อมอยู่กับมัน เดี๋ยวมันก็เรียบร้อยเองตอนที่เราเริ่มลงมือ”
แปลและเรียบเรียงจาก I’m a CEO in Finland, the happiest country in the world: 3 phrases we use at work every day
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ผ่ามุมมอง Bill Gates “คนขี้เกียจ” คือพนักงานชั้นยอด หรือกำลังร้องขอความช่วยเหลือ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine