หลายคนคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่าคนขี้เกียจคือพนักงานชั้นยอด เพราะเขาจะทำงานได้เร็วที่สุด ซึ่งก็จริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ในอีกมุม พฤติกรรมที่ถูกมองว่า “ขี้เกียจ” อาจสะท้อนปัญหาสำคัญยิ่งกว่าที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน โดย Aytekin Tank ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Jotform จะมาวิเคราะห์ประเด็นนี้ตลอดจนแนะนำว่าแท้จริงควรทำอย่างไร เมื่อพบว่าพนักงานเริ่มจะขี้เกียจกัน
Bill Gates คิดว่าคุณควรจ้างคนขี้เกียจมาทำงาน เปล่าเลย อันที่จริง เขาเคยพูดว่า “ผมเลือกคนขี้เกียจมาทำงานยากๆ เพราะคนขี้เกียจจะหาทางแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุด”
ผมไม่ได้ค้านคำพูดนี้หรอก การเลือกคนที่จะทำงานด้วย “วิธีง่ายๆ” และแก้ไขปัญหายากๆ ได้อาจดีกว่าส่งทีมที่ทะเยอทะยานที่สุดของคุณไปจัดการ วิธีการที่ยากที่สุดไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุดเสมอไป
อันที่จริงแล้วในโลกสตาร์ทอัพ การทำงานมากเกินไปอาจอันตรายมากพอๆ กับการทำงานน้อยเกินไป เมื่อเวลาและเงินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด วิธีแก้ปัญหาแบบเล็กๆ น่าจะจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่า
การทำสิ่งที่ง่ายที่สุดไม่ได้ทำให้คนคนหนึ่งเป็นคนขี้เกียจ ก็เหมือนกับคนที่เลือกทางที่ชัดเจนกว่า หรือคนที่หยุดพักผ่อน มันทำให้เขารู้จักการเลือกลำดับความสำคัญ เป็นพนักงานที่มีศักยภาพ และมีความยืดหยุ่น
การเหมารวมพฤติกรรมทั้งหมดว่าหมายถึงความขี้เกียจนั้นนับว่าขาดความจำเพาะเจาะจง บั่นทอน และฟังดูขี้เกียจเสียเอง แม้ว่ามันจะเป็นคำที่พูดออกมาได้ง่ายๆ ทั้งกับตัวเราเองและคนอื่น
เพื่อนร่วมงานพลาดเดดไลน์แม้จะมีเวลาเหลือเฟือหรือ? ขี้เกียจ
เราควรนอนมากกว่าจะไปออกกำลังกายที่ยิมนะ? ขี้เกียจ
แต่ความจริงไม่ได้ง่ายดายเพียงนั้น ความขี้เกียจไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นอาการ เรามักปฏิเสธที่จะมองมันแบบนั้น เพราะเหตุผลลึกๆ ซึ่งทำให้เราลังเลที่จะลงมือทำบางสิ่งบางอย่างอาจเป็นความจริงที่น่าอึดอัด
กระนั้น เราก็จำเป็นต้องวินิจฉัยพวกมันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะมันคือสิ่งที่ฉุดรั้งเราไว้ ไม่ใช่ความขี้เกียจ
สิ่งสำคัญมาก่อน
การรู้สึกขี้เกียจมักเป็นสัญญาณชี้ว่าเราต้องการพักผ่อน ผมอยากพูดให้ชัดเจนในประเด็นหนึ่งคือ การพักผ่อนไม่เท่ากับความขี้เกียจ มันเป็นความเข้าใจผิดที่พบได้ทั่วไปเลย สองอย่างนี้อาจดูเหมือนกัน
การผ่อนคลายแทนที่จะทำงาน ให้ความสำคัญกับภารกิจส่วนตัวก่อนหน้าที่การงาน หรือไม่ตื่นตอน 6 โมงเช้า ทั้งหมดนี้สามารถตีความได้โดยทั่วไปว่าหมายถึงความขี้เกียจ องค์กรด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่เผชิญปัญหานี้ วัฒนธรรมของพวกเขามองว่า มุมมองเกี่ยวกับงานทรงประสิทธิภาพที่กำหนดเอาไว้ สำคัญกว่างานที่ผลิตได้จริงตรงหน้า
บางครั้ง สิ่งที่คุณจะทำออกมาได้ดีที่สุดคือการพัก ผมเคยเขียนว่าการพักผ่อนสำคัญต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างไร การพักผ่อนคือคู่หูของงาน ไม่มีใครจะสำเร็จได้โดยปราศจากอีกคน
การพักผ่อนระหว่างวันทำงาน เช่น ลุกไปเดินบ้าง สามารถเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยให้นึกไอเดียดีๆ ออก การพักเบรกที่ยาวนานขึ้นเป็นกุญแจสำคัญช่วยป้องกันภาวะหมดไฟ ไม่น่าเชื่อเลยว่าสิ่งที่ดูขี้เกียจแท้จริงจะช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้น
ความลับคือ เวลาพัก จงพัก อย่าเช็กข้อความเรื่องงานในมือถือ อย่าตอบอีเมลระหว่างวันพักร้อน ขอให้ใช้ช่วงเวลานี้พักฟื้นฟู และเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงานของคุณมีช่วงเวลาแบบนี้ด้วยเช่นกัน แล้วคุณจะกลับมาแบบเปี่ยมแรงกายแรงใจ พร้อมเผชิญหน้ากับงาน
การรู้สึกขี้เกียจบอกอะไรเราอีกบ้าง?
คุณพักผ่อนและดื่มน้ำเพียงพอแล้วแต่ยังมีปัญหาขาดแรงใจอยู่ นั่นทำให้คุณกลายเป็นคนขี้เกียจหรือเปล่า?
มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น
การขาดแรงบันดาลใจเป็นสิ่งที่คนจำนวนมากนำมาใช้ตำหนิตัวเองว่าล้มเหลว แทนที่จะส่องกระจกแล้วต่อว่าคนในนั้น จะเป็นอย่างไรหากเราเริ่มจากความสงสัย?
ลองถามตัวเองดูว่าทำไมถึงหลีกเลี่ยงภารกิจเหล่านั้น อย่าคิดเอาคำตอบง่ายๆ บางทีการที่คุณรู้สึกขาดแรงบันดาลใจในการทำงานอาจเป็นเพราะคุณไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ใดๆ เลย บางทีคุณคงกลัวความยากลำบากที่จะมาพร้อมกับงานนั้นๆ เหมือนการไปออกกำลังที่ยิมนั่นแหละ หรือไม่ก็อาจกลัวความล้มเหลวเช่น การทุ่มเททำโปรเจ็กต์หนึ่งอย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ได้รับผลใดๆ กลับมา
ปัญหาอันซับซ้อนเหล่านี้ควรค่าแก่การแก้มากกว่าความขี้เกียจ การจะช่วยเหลือผู้อื่นให้เผชิญกับมันได้นั้น คุณต้องมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) อย่างลึกซึ้ง ไม่ง่ายเลยที่จะพูดถึงความกลัวข้อบกพร่องหรือสูญเสียความหมายในการทำงาน นี่คือปัญหาของมนุษย์ ไม่ใช่ผลที่ตามมา แต่มันกระทบต่อผลลัพธ์ของงาน
ความเชื่อมโยงที่มีต่อผู้อื่นในที่ทำงานช่วยให้แต่ละคนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งการทำงานโดยตั้งข้อสงสัยแทนที่จะทึกทักเอาว่าเป็นความขี้เกียจ เท่ากับว่าคุณเริ่มจะเข้าใจปัญหาแล้ว
การจะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ คุณต้องรวบรวมข้อมูลจากพฤติกรรมที่คุณเรียกว่าขี้เกียจมาประมวลผล การวินิจฉัยให้ได้ว่าอะไรที่ฉุดรั้งคุณอยู่ ไม่ว่าจะนิสัยคลั่งความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) หรือความเชื่อมั่นใจตัวเอง (Self-efficacy) คือก้าวแรกของการลงมือแก้ปัญหา
ความเสี่ยงของความขี้เกียจคือ มันจะทำให้คุณรู้สึกเฉื่อยชา คุณต้องหาตัวเลือกเพื่อเผชิญกับสาเหตุแท้จริง สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงจะทำให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่คุณยังจะมีความสุขขึ้นด้วย
นั่นคือสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่เพราะคุณเป็นคนที่ควรค่าแก่ความสุข แต่เพราะทุกคนที่ทำงานอย่างมีความสุขต่างก็ประสบความสำเร็จ อารมณ์ส่งผลต่อความคิด ดังนั้นหากคุณรู้สึกได้รับการเติมเต็มที่ทำงาน ความคิดและการกระทำของคุณจะตามมา
แล้วเราทำอะไรได้บ้าง?
ใช้ประโยชน์จากหลักการความก้าวหน้า : หลักการความก้าวหน้า (Progress Principle) ชี้ว่า “ในบรรดาสิ่งที่ช่วยยกระดับอารมณ์ แรงบันดาลใจ และมุมมองความคิดระหว่างวันทำงาน สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือสร้างความก้าวหน้าในงานที่มีความหมาย”
การรู้สึกว่าได้ก้าวไปข้างหน้าและดื่มด่ำกับชัยชนะเล็กๆ สามารถช่วยสู้กับเสียงในหัวที่บอกว่า งานนี้มันยากเกินไป หรือโปรเจ็กต์นี้มันใหญ่เกินจะรับมือ
กดปุ่มรีเซ็ตด้วยการหลับสักงีบ: ผลการศึกษาเผยว่าการงีบ 30 นาทีช่วยหยุดไม่ให้กำลังในการทำงานตกต่ำลงได้ ส่วนการงีบ 60 นาทีจะช่วยฟื้นฟูกลับมา หากคุณรู้สึกขี้เกียจ ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนให้พักผ่อน
จำไว้ว่า มุมมองความคิดที่มีต่อความยุ่งเป็นคนละอย่างกับประสิทธิภาพในการทำงาน อาจดีกว่าหากใช้เวลาไปกับการพักงีบสักประเดี๋ยวหนึ่ง
หันเหจุดสนใจ: การขาดความหมายในการทำงานคือปัจจัยหลักที่มีผลต่อแรงใจที่ลดลง หากคุณไม่อยากหรือไม่อยู่ในสถานะที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ได้แล้วละก็ ลองมองดูผู้คนที่จะได้รับผลจากงานของคุณ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่คุณผลิตออกมา นี่จะช่วยให้คุณเปลี่ยนจุดสนใจจากหน้าที่ที่ต้องทำให้เสร็จ ไปยังประโยชน์ที่ผู้คนจะได้รับจากคุณ ทั้งภายในและภายนอก
ทำให้น้อยลงจริงๆ: ยิ่งกับผู้ก่อตั้งองค์กรด้วยแล้ว การทำงานน้อยลงอาจนำมาซึ่งความกลัว อย่างน้อยก็สำหรับผม จนกระทั่งสำนึกได้ว่างานที่ส่งต่อให้คนอื่นไปไม่ใช่สิ่งที่ผมควรทำตั้งแต่ต้น
ผมเคยรู้สึกว่าตัวเองขี้เกียจที่ยกงานให้คนอื่น แต่ตอนนี้ งานเหล่านี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของใครบางคนที่รู้ดีกว่าผม ส่วนผมก็มีเวลาทำงานที่ตัวเองสนใจมากขึ้น
แปลและเรียบเรียงจาก Bill Gates Says Lazy People Make the Best Employees. But Is Your Laziness Actually Masking a Deeper Issue?
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Enrique Lores ซีอีโอ HP ชี้ “คนกับงานต้องไปด้วยกัน” ทุกองค์กรจึงจะประสบความสำเร็จ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine