ในโลกที่ความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “งาน” กลายเป็นสิ่ง toxic จากแรงกดดันในมิติต่างๆ ทำให้ที่ทำงานไม่ใช่สถานที่ที่พนักงานจะมาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีความสุข Enrique Lores ซีอีโอแห่ง HP ตระหนักข้อเท็จจริงนี้ และได้แบ่งปันแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้
“ในฐานะซีอีโอของ HP ผมใช้เวลามากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการพบปะพูดคุยกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ทั่วโลก ทุกวันนี้มีประเด็นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในทุกบทสนทนาของผม นั่นคือ ‘คุณมีนโยบายกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอย่างไร?’
ผู้คนให้ความสำคัญกับตรงนี้กันมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ นานแล้วที่พวกเขาคุ้นชินกับวิธีการทำงานแบบเดิม แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ วิธีการทำงานของเรากลับเปลี่ยนไปจากพื้นฐานที่เคยเป็น ซีอีโอทุกคนที่ผมรู้จักต่างพยายามมองหาแนวทางที่ดีที่สุดแก่องค์กรของตนเอง และหากคุณลองถามคนสองคน คุณก็มีแนวโน้มจะได้ความคิดเห็นที่ต่างกันอย่างน้อยสามแบบ
บ่อยครั้งที่บทสนทนาเหล่านี้โฟกัสกับสถานที่ที่เราทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ แต่ผมเชื่อว่ายังมีคำถามที่ใหญ่และลึกซึ้งกว่าที่เราจำเป็นต้องสนใจ จำเพาะเจาะจงลงไปเลยก็คือ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?’ และ ‘มันมีความหมายอะไรกับบริษัทอย่างเรา?’
เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ผมและทีมงานจึงได้จ้างให้มีการจัดทำ HP Work Relationship Index โดยได้สอบถามผู้คนกว่า 15,000 คนจาก 12 ประเทศ ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับงานที่ทำอยู่ และความคาดหวังของพวกเขามีความคืบหน้าอะไรบ้าง
ผลลัพธ์หลายอย่างจะทำให้คุณต้องแปลกใจ ข้อที่สะดุดใจผมที่สุดคือการที่มีคนทำงานโดยอาศัยความรู้เป็นหลัก (Knowledge Worker) เพียง 27% เท่านั้นที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับงานที่พวกเขากำลังทำอยู่ นับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทั้งคนและธุรกิจ เพราะไม่มีบริษัทใดจะประสบความสำเร็จในระยะยาวหากปราศจากแรงงานที่รู้สึกมีกำลังใจและมีส่วนร่วม
เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ผมเชื่อว่ามีอยู่ 3 ข้อที่ต้องการความสนใจโดยเร่งด่วนที่สุด
เราต้องทบทวนเกี่ยวกับผลิตภาพ
ก่อนอื่น เราต้องไม่สร้างตัวเลือกที่ผิดนั่นคือ ผลิตภาพ (Productivity) และความสุข (Happiness) บ่อยครั้งที่สองสิ่งนี้ถูกวางไว้ตรงข้ามกัน แต่หากคุณหยุดคิดดูอย่างจริงจังแล้วจะพบว่ามันมาด้วยกันต่างหาก ทีมที่มีศักยภาพที่สุดไม่ใช่แค่ทำงานได้สูงที่สุด แต่พวกเขาสนุกกับการทำงาน ซึ่ง ณ ตอนนี้ คือเวลาที่บรรดาผู้นำธุรกิจต้องจัดการกับมันมากกว่าครั้งไหนๆ
ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่สามารถสร้างอนาคตของการทำงานได้โดยการใช้ผลิตภาพที่เคยวัดได้ในอดีต เราทุกคนจำเป็นต้องวิวัฒน์ความคิด จะทำงานเมื่อไหร่หรือที่ไหนก็เป็นเพียงชิ้นส่วนเดียวของปริศนาชุดใหญ่ที่เราต้องหาทางแก้ไข
การพูดคุยกับพนักงานว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นสำหรับความสำเร็จและการโฟกัสกับผลที่ได้จะตอบโจทย์ข้อนี้ เพื่อให้เราสามารถเข้าใจและลงมือทำสิ่งที่สำคัญที่สุด
วัฒนธรรมองค์กรถึงคราวเปลี่ยน
ในการวิจัยของเรา พบว่ามีเพียง 25% ของผู้เข้าร่วมทำแบบสอบถามที่รู้สึกว่าตัวเองได้รับความเคารพและคุณค่าที่พึงมีอย่างต่อเนื่อง และน้อยคนนักที่ได้สัมผัสความยืดหยุ่น ความเป็นอิสระ และสมดุลระหว่างชีวิตกับงานตามที่พวกเขาต้องการ
พวกเขายังบอกเราว่า พวกเขามองหาจุดประสงค์ การสนับสนุน และความเชื่อมโยงที่แท้จริงในการทำงาน แต่มีเพียง 29% ที่บอกว่างานปัจจุบันเติมเต็มความปรารถนาเหล่านี้ได้
ตัวเลขเหล่านี้เตือนว่าเรากำลังเข้าใกล้จุดแตกหักเต็มที อันที่จริงผู้คน 83% เผยว่าพวกเขายินดีจะได้รับค่าจ้างน้อยลงแลกกับการมีความสุขกับงานมากขึ้น แต่ไม่มีใครควรต้องเลือกระหว่างค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับความสุขในการทำงาน บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานมีความเป็นเลิศในอาชีพไปพร้อมๆ กับการใช้ชีวิต
เทคโนโลยีต้องพัฒนา
ผมรู้ว่าพูดแบบนี้อาจจะดูเข้าข้างตัวเองไปสักหน่อย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญยิ่ง สามในสี่ส่วนของผู้ที่เข้าร่วมทำแบบสอบถามบอกว่า เครื่องมือและเทคโนโลยีต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ ไม่ว่าคุณจะทำงานจากบ้านหรือสำนักงานก็ตาม
ผู้คน 70% บอกเราว่าพวกเขาต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยในการสื่อสารทั้งภาพและเสียงไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหน แต่มีเพียง 1 ใน 4 ที่บอกว่าได้เข้าถึงเครื่องมือเหล่านั้นแล้วในปัจจุบัน
เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นขณะเดียวกันก็ทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วม เชื่อมโยง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจะสามารถอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้
ผมจะไม่บอกว่าทั้งหมดนี้ทำได้ง่ายๆ หรอก และแน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จที่เหมาะสำหรับทุกคน ทุกธุรกิจมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเป็นปัจจัยในการพิจารณา
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนคล้ายจะเห็นตรงกัน บริษัทส่วนใหญ่รวมถึงพนักงานที่เราไปสอบถามมาบอกว่า ปัจจุบันคือช่วงเวลาสำคัญที่สมควรแก่การสร้างนิยามใหม่ให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงาน ซึ่งไม่ใช่แค่จะทำให้พนักงานมีความสุขเท่านั้น แต่ยังขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการทำงาน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และนำพาบริษัทต่างๆ ไปสู่ความสำเร็จมากขึ้น”
แปลและเรียบเรียงจาก HP CEO: The world has an unhealthy relationship with work
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “ชีวิตมาก่อนงาน” บทเรียนจาก Bill Gates เตือนให้พักผ่อน - ใช้เวลากับคนที่รัก
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine